มนุษยสัมพันธ์กับการพัฒนาบุคลิกภาพ

บทที่ 10


มนุษยสัมพันธ์กับการพัฒนาบุคลิกภาพ



แบบแผนบุคลิกภาพของบุคคล

แบบแผนบุคลิกภาพของบุคคลสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฏีต่างๆ หลายทฤษฏีแต่ในที่นี้ขอใช้ทฤษฏีการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล(Transactional Analysis)



ความหมายของการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หมายถึง การวิเคราะห์การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่มาเกี่ยวข้องกันโดยเน้นการวิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆเพื่อช่วยให้บุคคลเข้าใจความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่นดีขึ้นและเพื่อบุคคลนั้นจะได้พัฒนาการสื่อสาร และมนุษยสัมพันธ์ของบุคคลต่อบุคคลอื่นให้ดียิ่งขึ้น



ความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ ( View of Human Nature )

นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่า บุคคลสามารถที่จะเข้าใจบุคลิกภาพที่เป็นผลมาจากประสบการณ์ในอดีตของตนได้ และบุคคลสามารถตัดสินใจเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตใหม่ได้ถ้าเขากล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง โดยการเปลี่ยนบทบาทและตำแหน่งชีวิตของตนเองเสียใหม่ วางเป้าหมายที่จะนำไปสู่พฤติกรรมใหม่ๆ ในอนาคต แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าบุคคลจะมีอิสระจากอิทธิพลของสังคมหรือบุคคลสามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระโดยขึ้นอยู่กับความต้องการของตัวเองเท่านั้น ในสภาพความเป็นจริง บุคคลเกิดมาอย่างอิสระ มีเสรีภาพ แต่บุคคลได้รับอิทธิพลของความคาดหวัง ความต้องการของบุคคลอื่นรอบตัวเขาที่มีต่อเขาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เนื่องจากเขาต้องพึ่งพาและทำตามผู้มีอิทธิพลเหนือกว่าเช่น ผู้เลี้ยงดู พ่อแม่ ที่บอกให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ฉะนั้นถ้าบุคคลได้มีการสำรวจและเข้าใจบุคลิกภาพของตนเองได้อย่างมีเหตุผลและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทชีวิต ตำแหน่งชีวิตและแบบแผนในการดำเนินชีวิต โดยกล้าที่จะสลัดวิธีการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ กล้าหลุดจากอิทธิพลของชีวิตที่สืบเนื่องมาจากทัศนคติที่พ่อแม่ถ่ายทอดให้ บุคคลที่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองและเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ กล้าตัดสินใจเลือก โดยเชื่อมั่นในความสามารถที่จะพึ่งพาตนเองให้เต็มศักยภาพ อาภา จันทรสกุล ( 2529:145)



ประโยชน์ของการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

1. ทำให้เข้าใจพฤติกรรมการสื่อสารของมนุษย์ เช่น วัตถุประสงค์ วิธีการและผล

2. ทำให้เข้าใจคนอื่นและลดความรู้สึกไม่ดีที่มีต่อบุคคลอื่น

3. ทำให้เข้าใจผู้ร่วมงานได้ดียิ่งขึ้น

4. ช่วยกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการในด้านต่างๆ เช่น การใช้คำพูดลักษณะการเป็นผู้นำ

5. ทำให้เกิดการปรับตนเพื่อพัฒนาการและสัมฤทธิผลในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น

6. ทำให้เกิดการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น



โครงสร้างบุคลิกภาพ ( Structure of Ppersonality )

อีริค เบอร์น (Eric Berne ค.ศ. 1910-1970 ) จิตแพทย์ชาวแคนนาดา ผู้สร้างทฤษฏี ได้อธิบายเรื่องของโครงสร้างบุคลิกภาพว่าบุคลิกภาพของบุคคลประกอบด้วยส่วนที่เรียกว่า Ego State หรือลักษณะของสภาวะและในตัวบุคคลจะมี Ego State อยู่ด้วยกัน 3 ส่วนบุคคลแต่ละคนจะมีบุคลิกภาพทั้งสามส่วนมากน้อยต่างกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่บุคคลสะสมและสร้างบุคลิกภาพมาตั้งแต่ยังเล็กๆ โดยไม่รู้ตัว สภาวะเป็นบุคลิกภาพที่บุคคลแสดงออกในการดำเนินชีวิตในสังคม โดยแบ่งสภาวะของบุคคลออกเป็น 3 แบบด้วยกัน ดังนี้

1. สภาวะ พ่อ แม่ (Parent Ego State - P) คือ บุคลิกภาพที่มีลักษณะคล้ายพ่อแม่ หรือ

ผู้ปกครอง ลักษณะบุคลิกภาพเช่น ชอบสั่งสอน ตำหนิ ให้ความเอาใจใส่ดูแลอยู่เกือบตลอดเวลา

2. สภาวะผู้ใหญ่ (Adult Ego State - A) คือ บุคลิกภาพที่มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ หรือ ผู้มี

วุฒิภาวะสมบูรณ์ ลักษณะบุคลิกภาพที่ชอบใช้เหตุผล หลักของความจริง

3. สภาวะเด็ก (Child Ego State - C) คือ บุคลิกภาพที่มีลักษณะของความเป็นเด็ก ได้แก่ลักษณะบุคลิกภาพของคนชอบเล่น แสดงตนเปิดเผย เอาแต่ใจ

บุคคลโดยทั่วไปจะต้องมีบุคลิกภาพทั้งสามส่วนนี้อยู่ในตัว แต่บุคลิกภาพต่างๆที่ปรากฎหรือแสดงออกจะเป็นเพียงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น เช่น ถ้าบุคคลใดกำลังอยู่ในสภาวะเด็ก สำหรับสภาวะพ่อ แม่ หรือสภาวะผู้ใหญ่ก็จะไม่ปรากฏให้เห็น การที่บุคคลจะแสดงบุคลิกภาพเป็นลักษณะใดขึ้นอยู่กับอารมณ์ เหตุผลสถานการณ์บรรยากาศของการติดต่อเกี่ยวข้อง การวินิจฉัยสั่งการ เป็นต้น

1. สภาวะพ่อ แม่ คือ บุคลิกภาพที่แสดงออกเมื่อบุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะมีลักษณะปกป้อง และแสดงให้เห็นถึงความมีอำนาจ ตลอดจนแสดงออกถึงความรับผิดชอบ ซึ่งมีลักษณะแยกย่อย ดังนี้

1.1 สภาวะพ่อ แม่ ที่เจ้าระเบียบ (Critical Parent - CP) การแสดงออกจะเป็นไปในลักษณะที่เอาแต่ใจตัวเอง ออกคำสั่ง เข้มงวด จุกจิก จู้จี้ และวิพากษ์วิจารณ์

1.2 สภาวะพ่อ แม่ ที่มีเมตตากรุณา (Nurtering Parent - NP) การแสดงออกจะเป็นไปในลักษณะที่เอาใจใส่ ยกย่อง ชมเชย ปกป้อง คุ้มครอง ช่วยเหลือ

2. สภาวะผู้ใหญ่ คือ บุคลิกภาพที่แสดงออกเมื่อบุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นโดยใช้เหตุผลและความคิดที่มีลักษณะเป็นตรรกศาสตร์ การดำเนินงานหรือการตัดสินใจของบุคคลที่มีสภาวะจิตแบบผู้ใหญ่จะไม่มีการใช้อารมณ์หรือความรู้สึกใด ๆ มาเกี่ยวข้อง แต่จะใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ

3. สภาวะเด็ก คือ บุคลิกภาพที่แสดงออกตามธรรมชาติตามความต้องการของตนเองและตามสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ นั่นคือ บุคคลจะแสดงออกในสิ่งที่ตนเองต้องการที่จะกระทำโดยไม่สนใจเรื่องของเหตุผล ดังนั้น พฤติกรรมในสภาวะนี้จะเป็นพฤติกรรมชอบเล่น ชอบเย้าแหย่คนอื่น ๆ หัวเราะ ร้องไห้ ฯลฯ ซึ่งมีลักษณะแยกย่อย ดังนี้

3.1 สภาวะเด็กที่มีความคิด ( Little Professor- LP ) เป็นส่วนของChild ego state ที่แสดงออกถึงลักษณะบางส่วนที่รู้จักใช้ความคิด เหตุผล การพิจารณาสิ่งต่างๆ เป็นส่วนของความสามารถทางสติปัญญาความเฉลียวฉลาดและส่วนของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยเขียนเป็นภาพของโครงสร้างบุคลิกภาพทั้งหมดได้ ดังนี้

3.2 สภาวะเด็กปรับตัว (Adapted Child - AC) คือ บุคลิกภาพที่มีการปรับตัวเพื่อให้บุคคลอื่นเกิดความพึงพอใจซึ่งจะอยู่รวมกับบุคคลอื่นได้อย่างมีความสุขเพราะเชื่อฟังยอมทำตาม พึ่งคนอื่น

3.3 สภาวะเด็กตามธรรมชาติ (Natural Child - NC) คือ บุคลิกภาพที่มีลักษณะเป็นไปตามธรรมชาติ มีการแสดงออกตามความต้องการของตนเอง เช่น ทุบตี เย้าแหย่ หัวเราะ ร้องไห้ ชอบเล่น เป็นบุคลิกภาพที่แสดงออกมาตรงๆ โดยไม่มีการควบคุม



ประเภทของการสื่อสารสัมพันธ์

การสื่อสารสัมพันธ์อาจแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

1. การสื่อสารที่สอดคล้องกัน (Crmplementary transactions) เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งข่าวสารและผู้รับข่าวสารเข้าใจกัน มีการสื่อสารที่ชัดเจน ทำให้เกิดความพึงพอใจซึ่งกันและกัน โดยผู้ส่งข่าวสารและผู้รับข่าวสารอาจจะอยู่ในระดับเดียวกัน หรือ อยู่ต่างระดับก็ได้

2. การสื่อสารที่ขัดกัน (Crossed Transactions) เป็นการสื่อสารที่ผู้ส่งข่าวสารและผู้รับข่าวสารเกิดการขัดแย้งกันเกิดความไม่เข้าใจกันหรือพูดกันไม่รู้เรื่องเช่น

สุดใจ : เธอไปทำผมทรงอะไรมา ดูแล้วหน้าตาตลกจัง

สมศรี : ฉันจะทำทรงอะไรก็เรื่องของฉัน หุบปากของเธอเสียเถอะ



แบบแผนของชีวิต ( Life Position )

เป็นแบบแผนที่บันทึกไว้ในความคิดของบุคคลค่อนข้างจะถาวร และมีผลต่อพฤติกรรมแสดงออก การที่บุคคลจะมีแบบแผนชีวิตเป็นแบบใด ย่อมขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่บุคคลได้รับรู้และเรียนรู้แบบแผนชีวิตมี 4 ลักษณะ ดังนี้

1. ฉันไม่ดี – เธอดี (I'm not O.K. - You're O.K.) เป็นแบบแผนชีวิตที่บุคคลรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย เก่งหรือดีสู้คนอื่นไม่ได้ จึงต้องการคนปกป้อง คุ้มครองดูแลเอาใจใส่ บุคลิกภาพของคนกลุ่มนี้จะไม่กล้าแสดงออกถึงความรู้สึกที่แท้จริง เก็บความรู้สึกไว้ ขาดกลัวที่จะยืนยันถึงสิทธิที่ตนมีอยู่อย่างชอบธรรม ชอบลงโทษตัวเองมีลักษณะเป็นคนอมทุกข์เศร้าหมอง เมื่อเกิดปัญหาก็ใช้วิธีการหลีกหนีปัญหา ไม่กล้าเสี่ยงที่จะทำอะไรใหม่ๆ แบบแผนชีวิตในกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีผู้นำที่ดีอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย บุคคลประเภทนี้ก็หาความสุขในชีวิตไม่ได้เพราะต้องเก็บกดความรู้สึกของตนเองและต้องทำอะไรตามความพอใจของผู้อื่น

2. ฉันไม่ดี - เธอก็ไม่ดี (I'm not O.K. - You're not O.K.) เป็นแบบแผนชีวิตที่บุคคลรู้สึกว่าตนเองนั้นสิ้นหวังไร้คุณค่าหรือความดี และไม่ยอมรับผู้อื่น เป็นตำแหน่งที่บุคคลหมดอาลัยตายอยากในชีวิต รู้สึกว่าชีวิตไม่มีคุณค่า เศร้าหมอง ปราศจากความหวังใดๆ โลกนี้โหดร้ายทารุณไม่น่าอยู่ ผู้ป่วยที่เป็นโรคประสาทโรคจิตมักวางตนอยู่ในแบบแผนชีวิตนี้

3. ฉันดี - เธอไม่ดี (I'm O.K. - You're not O.K.) เป็นแบบแผนชีวิตที่บุคคลรู้สึกว่าตนเองอยู่เหนือผู้อื่น คนอื่นผิดหมด ทำไม่ได้หรือทำไม่ดีส่วนตนเองนั้นเก่งและดีไปทุกเรื่อง บุคคลประเภทนี้จึงมักไม่ค่อยไว้วางใจใคร ไม่กล้ามอบหมายงานให้ใครทำ เพราะเกรงจะทำไม่ดีเท่าตน ดังนั้น เพื่อความมั่นใจจึงมักต้องลงมือทำงานเอง บุคคลที่อยู่ในลักษณะแบบแผนชีวิตแบบนี้จะอยู่ในแวดวงของคนประเภท “ขุนพลอยพยัก”หรือ “Yes men” เพราะเป็นวิธีการที่เขาจะได้ความเอาใจใส่ยกย่องสรรเสริญตามที่เขาต้องการ บุคคลที่มีตำแหน่งชีวิตแบบนี้ก็จะชอบลูกน้องที่ประจบสอพอเหมือนกับตนโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่ควรหรือไม่ควร และชอบคำยอโดยไม่คำนึงถึงว่าคำยอนั้นมาจากความจริงใจหรือไม่เพราะมีความเชื่ออยู่แล้วว่าบุคคลอื่นไม่มีความเก่งหรือดีเท่ากับตัวเขาเอง

4. ฉันดี - เธอก็ดี (I'm O.K. - You're O.K. ) เป็นแบบแผนชีวิตที่บุคคลมองโลกในแง่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี บุคคลสามารถยอมรับตนเองและในขณะเดียวกันก็ยอมรับผู้อื่น บุคคลที่เลือกแบบแผนชีวิตตำแหน่งนี้จะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ยอมรับและเข้าใจผู้อื่นในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าชีวิตของผู้อื่นก็มีค่า ยอมรับและให้เกียรติบุคคลอื่นในฐานะมนุษย์คนหนึ่งมีความจริงใจในการสื่อสารกับผู้อื่น เมื่อเผชิญปัญหาบุคคลที่มีตำแหน่งชีวิตแบบนี้จะกล้าเผชิญปัญหา แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยวิธีสร้างสรรค์และใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ แบบแผนลักษณะนี้จึงเป็นแบบแผนชีวิตของคนที่มีสุขภาพจิตดี



การเอาใจใส่หรือการให้กำลังใจ (Stroke)

มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดต่างก็ต้องการกำลังใจด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ต่อกัน เราทุกคนได้เรียนรู้ในการให้กำลังใจและได้รับกำลังใจมาตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยเริ่มมาจากสัมพันธภาพภายในครอบครัว เช่น การอุ้มชู กอดรัดและคำพูดที่สร้างเสริมกำลังใจ เมื่อแต่ละบุคคลเจริญเติบโตขึ้นก็รู้จักพัฒนาการเอาใจใส่ให้เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น เช่นยามเมื่อเพื่อนมีทุกข์เพียงแต่การจับมือก็สามารถสื่อความหมายของการถ่ายทอดความรู้สึกที่เห็นใจได้ดียิ่งกว่าคำพูดเสียอีก

การเอาใจใส่จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้การทำงานบรรลุจุดมุ่งหมายด้วยดี และผู้ที่ร่วมทำงานก็มีความสุขและรู้สึกว่าตนนั้นมีคุณค่าแก่องค์การ เช่น เมื่อหัวหน้างานมอบหมายงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปปฏิบัติ ผู้ใต้บังคับบัญชาก็นำไปปฏิบัติด้วยความตั้งใจ และผลงานสำเร็จด้วยดี หัวหน้างานก็กล่าวชมว่า “คุณทำงานได้เยี่ยมมาก” หรือเอามือมาตบไหล่แล้ว กล่าวว่า “เยี่ยมมาก” พฤติกรรมการเอาใจใส่ของหัวหน้าดังกล่าวมีผลทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปลื้มใจ เกิดความสุขและสนุกที่จะทำงาน



การเอาใจใส่ แบ่งออกเป็น

1. การเอาใจใส่ทางบวก (Positive Strokes) หมายถึง การกระทำที่ทำให้ผู้รับมีความรู้สึกดีขึ้น ไม่มีการเล่นเกม เป็นการแสดงออกมาในทางที่เหมาะสม ได้แก่ คำชมเชย กิริยาท่าทางที่สื่อสารความหมายที่ทำให้ผู้รับแปลความหมายได้ว่าคุณเป็นคนดี หรือ คุณเป็นคนใช้ได้ (I'm O.K- You're O.K.) เช่น “ทุกครั้งที่เราไม่สบายใจเรามีเธอเป็นเพื่อนเสมอ” “ข้อเสนอแนะที่คุณให้ผมเป็นข้อเสนอแนะที่ดีมาก” “คุณจัดห้องทำงานได้สวยมาก” เป็นต้นการเอาใจใส่ทางบวกมี 2 แบบคือ

1.1 การยอมรับและการเอาใจใส่ทางบวกอย่างมีเงื่อนไข ( Conditional Positive Stroke) หมายถึง การยอมรับและการเอาใจใส่ทางบวกอย่างมีเงื่อนไขที่ขึ้นอยู่กับการกระทำหรือคุณสมบัติของบุคคลในสังคมบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่สูงหรือบุคคลที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีมักได้รับการยอมรับและการเอาใจใส่จากบุคคลอื่นๆ มาก ลักษณะนี้เป็นการยอมรับในแง่ของคุณสมบัติและองค์ประกอบของบุคคล ไม่ใช่ความดีแท้ในตัวบุคคล แต่เป็นการยอมรับภายหลังที่บุคคลประสบความสำเร็จหรือเรียกว่าเป็นการยอมรับอย่างมีเงื่อนไขนั่นเอง เช่น “หนึ่งแม่จะรักลูกมากถ้าลูกเรียนเก่ง” “สุดใจครูจะภูมิใจมากถ้าเธอแข่งขันทักษะวิชาการปีนี้ชนะเลิศ”

1.2 การยอมรับและการเอาใจใส่ทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Positive Stroke) หมายถึง การยอมรับและการเอาใจใส่ทางบวกอย่างไม่มีเงื่อนไขที่ทำให้บุคคลรู้ตัวว่ามีความหมายในฐานะที่เป็นตัวเขาเอง ช่วยให้บุคคลรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเอง มีเจตคติต่อบุคคลอื่นในทางบวก เช่น “แม่รักลูก แม่เป็นห่วงลูกนะ” “ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจทำงานวัฒนธรรมเรื่องใด ผมมั่นใจว่าคุณทำงานได้ดีที่สุดแล้ว”

2. การเอาใจใส่ทางลบ ( Negative Stroke ) หมายถึง การกระทำที่ทำให้ผู้รับมีความรู้สึกว่าตนเองไม่ดี ไม่มีคุณค่า (I'm not O.K.) ทำให้บุคคลขาดความเชื่อมั่น ไม่มีความสามารถเพียงพอแต่การยอมรับและการเอาใจใส่ทางลบก็ยังดีกว่าการไม่ได้รับการเอาใจใส่แบบใดๆ ได้แก่ คำตำหนิ การลงโทษ เช่น “คุณนี่แนะนำไปหลายครั้งแล้วก็ยังคงพิมพ์งานผิดอยู่อีก”

2.1 การยอมรับและการเอาใจใส่ทางลบอย่างมีเงื่อนไข (Conditioned Negative Strokes) หมายถึง การกระทำในลักษณะที่ลดกำลังใจ เพราะผู้รับได้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้ให้หรือลดกำลังใจ การเอาใจใส่ทางลบอย่างมีเงื่อนไข ได้แก่ “นี้คุณเสนองานขึ้นมาแต่ละครั้งมีแต่ผิดๆ พลาด ๆ เห็นท่าจะต้องย้ายให้ไปอยู่แผนกอื่นแล้ว” “พอๆหยุดๆ คุณทำทุกอย่างพังหมดแล้ว”

2.2 การยอมรับและการเอาใจใส่หรือทางลบอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditioned Negative Strokes)หมายถึง การกระทำหรือการแสดงออกในลักษณะที่ลดกำลังใจอย่างรุนแรง เช่น “ฉันไม่ถูกชะตากับคุณ” หรือ “คุณนี่อยู่ที่ไหนวุ่นที่นั่น” “ฉันไม่มีเวลาสำหรับคนอย่างคุณ”



บทของชีวิต ( Life Script )

ตามแนวคิดของการวิเคราะห์การสื่อสารระหว่างบุคคลเชื่อว่าบทของชีวิตมี 3 บทบาทคือ

1. ผู้กล่าวหา ( Persecuter ) ได้แก่บทของผู้ที่ชอบว่ากล่าวหรือตำหนิแสดงอำนาจ ควบคุมการกระทำของผู้อื่น ชอบประเมินตัดสินผู้อื่นตามเกณฑ์ของตน

2. ผู้ช่วยเหลือ ( Rescuer ) ได้แก่บทของผู้ที่เห็นอกเห็นใจปกป้องให้ความช่วยเหลือผู้อื่น

3. เหยื่อ ( Victim ) ได้แก่บทของผู้ที่ถูกรังแกช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ น่าสงสาร ขอความเห็นใจจากคนอื่น สงสารตนเองที่โชคร้าย รู้สึกด้อย

บุคคลแต่ละคนจะเล่นบทชีวิตนี้ทั้งสามบทสลับกันไปแล้วแต่สถานการณ์บางครั้งเราก็เล่นเป็นเหยื่อบางครั้งเราก็เล่นเป็นผู้สนับสนุนบางครั้งเราก็เล่นเป็นผู้กล่าวหา แต่ในความจริงเราควรยึดแบบแผนชีวิตแบบฉันดี-เธอดี(I'm O.K. - You're O.K.) บุคคลจะไม่ยึดบทใดบทหนึ่งแต่จะแสดงออกอย่างจริงใจและยอมรับตนเอง



วิธีการปรับตนให้เข้ากับผู้อื่นด้วยการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

สังคมปัจจุบันยอมรับความสำคัญของการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลซึ่งสามารถ แสดงออกได้ทั้งท่าทาง วาจา สีหน้า แววตา ตลอดจนน้ำเสียงที่เปล่งออกมา ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ที่มาติดต่อสัมพันธ์เกิดความรู้สึกขยาดขลาดกลัว ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่ชอบใจท่าทาง ทำให้เกิดเจตคติที่ไม่ดีต่อกันหรืออาจจะเกิดความรู้สึกที่อบอุ่นเป็นมิตร มีความเอื้ออาทร มีความเป็นกันเอง ซึ่งจะทำให้เกิดเจตคติที่ดีต่อกันทำให้คบหาสมาคมช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อไป

การที่บุคคลมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์โดยสร้างบุคลิกภาพ และสามารถหาเปอร์เซ็นต์ของแต่ละสภาวะมาเปรียบเทียบกัน จะทำให้เราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเขาตลอดจนพฤติกรรมที่เขาแสดงออก ซึ่งจะมีส่วนทำให้เราเข้าใจบุคคลอื่น ๆ มากขึ้น และยังทำให้ตัดสินใจได้ว่าควรจะเลือกบุคคลใดมาเป็นเพื่อน หรือมาร่วมทีมทำงาน เพราะเราเข้าใจเขาจึงสามารถสร้างสัมพันธ์กับเขาได้อย่างถูกต้อง เช่นตัวอย่าง นายก มีลักษณะ NP 18 % CP 12 % A 10 % NC 45 % AC 15 % จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นว่านาย ก. มีสภาวะ P = NP + CP = 30 % มีสภาวะ A = 10 % และมีสภาวะ C = 45 + 15 = 60 % ดังนั้นบุคลิกภาพของนาย ก. จะเป็นคนสนุกสนานทำตัวตามสบาย มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นอิสระ การใช้เหตุผลมีน้อย พฤติกรรมที่จะวางอำนาจ เหนือคนอื่นก็มีน้อย สรุปแล้ว นาย ก. จะเป็นนักบริหารได้ยากเพราะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล แต่ถ้าไปทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกที่อิสระ เช่น เป็นศิลปิน นาย ก น่าจะทำได้ดีกว่าและประสบความสำเร็จได้มากกว่า จากตัวอย่างของการวิเคราะห์บุคลิกภาพของ นาย ก ซึ่งทำให้เราตัดสินใจได้ว่า ถ้าเรามีนาย ก เป็นเพื่อนร่วมทีมเราคงต้องมอบหมายงานที่ต้องใช้อารมณ์ หรือใช้ความรู้สึกด้านสุนทรีย์ให้ นาย ก รับผิดชอบ และไม่ควรจะมอบหมายงานด้านบริหารใช้ความรู้สึกด้านสุนทรีย์ให้ นาย ก รับผิดชอบและไม่ควรจะมอบหมายงานด้านบริหารให้นาย ก ทำหรือรับผิดชอบ จากตัวอย่างดังกล่าวก็คงจะเกิดแนวคิดสวนทางกันว่าถ้าเราอยากเป็นนักบริหาร เราก็ควรปรับตนให้เป็นบุคคลที่มีลักษณะ NP ให้มาก และลักษณะ A ให้มากเช่นกัน ส่วน NC ก็ต้องมีบ้างบางโอกาสเพื่อช่วยให้บุคคลรู้สึกผ่อนคลาย ในการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจะทำให้ทราบถึงสภาวะของบุคลิกภาพของแต่ละคน ถ้าเราต้องการให้เขาปรับเปลี่ยนสภาวะที่เหมาะสม เพื่อทำให้เขาเป็นที่ยอมรับของกลุ่ม อาจใช้วิธีการดังต่อไปนี้

1. การกระตุ้นให้บุคคลเข้าสู่สภาวะผู้ใหญ่

1.1 โดยใช้คำถามที่ถามเกี่ยวกับเหตุผล เช่น ทำไมคุณถึงพูดเช่นนั้น หรือคุณคิดอย่างไร

1.2 เมื่อพูดคุยกันต้องพูดโดยอาศัยข้อเท็จจริง เพื่อทำให้เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผล

2. การกระตุ้นให้บุคคลเข้าสู่สภาวะเด็ก

2.1 พูดคุยในเรื่องสนุกสนาน ทำหรือพูดตลก

2.2 ทำตนให้ร่าเริงและกระตุ้นคนอื่นให้ร่าเริงแจ่มใสด้วย

2.3 พยายามหามุมมองอื่น ๆ ที่ทำให้ตลกขบขัน

2.4 ผู้กระตุ้นอาจทำตัวเองเป็นสภาวะ NP

3. การกระตุ้นให้บุคคลเข้าสภาวะผู้ใหญ่ที่มีเมตตา (NP)

3.1 ขอคำแนะนำต่างๆ ที่ตัวเรามีประสบการณ์น้อยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปฏิบัติที่ถูก

3.2 ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ที่เมตตาจะทำให้บุคคลเลียนแบบพฤติกรรมที่งดงาม

การปรับปรุงบุคลิกภาพต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เราดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข ซึ่งในระยะแรกอาจไม่คุ้นเคย คือการปรับเปลี่ยน แต่เมื่อฝึกมาก ๆ บ่อย ๆ ครั้งก็จะกลายเป็นอัตโนมัติและยังเกิดผลตามที่ปรารถนา ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจต่อการปรับเปลี่ยนดังกล่าว

นอกจากนั้น ถ้าเราสามารถวิเคราะห์ได้อย่างแจ่มชัดว่าบุคคลที่เราจะเข้าไปติดต่อธุรกิจการงานด้วยนั้นมีสภาวะแบบใด เราก็ควรจะปรับสภาวะของตัวเราเอง ให้สอดคล้องกับสภาวะของผู้ที่เราต้องการติดต่อ จะเป็นผลทำให้การเจรจาต่อรองหรือติดต่อธุรกิจประสบความสำเร็จ เช่น ผู้ที่เราจะติดต่อด้วยนั้นมีลักษณะเป็น CP เราควรจะทำตัวของเราเป็นแบบ AC จะทำให้การติดต่อราบรื่นดี

การศึกษาเรื่อง T.A. มีประโยชน์ทั้งต่อตัวบุคคลและกลุ่มงานที่ต้องทำงานเป็นทีม ทีมงานจะแข็งแกร่งมีผลงานเป็นที่พึงพอใจ ต้องเกิดกฎสมาชิกในกลุ่มมีทัศนะชีวิตหรือแบบแผนชีวิตในลักษณะ I'm O.K.,You're O.K. เพราะเป็นทัศนคติที่ยอมรับคุณค่าหรือความสำคัญทั้งของตนเองและคนอื่น ๆ และนอกจากนี้ต้องรู้จักที่จะเลือกใช้วิธีการเอาใจใส่ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ร่วมงานทุกระดับซึ่งนับว่าเป็นเทคนิคที่ดีอย่างหนึ่งเป็นการสร้างเสน่ห์ที่น่าประทับใจให้แก่บุคคลแวดล้อม และบุคคลที่ต้องมีความเกี่ยวข้องผูกพัน



บุคลิกภาพที่ผิดปกติ

คนที่มีบุคลิกภาพผิดปกติตามแนวทฤษฏีนี้ อยู่ที่การอบรมเลี้ยงดูถ้าเป็นไปอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้บุคคลสามารถใช้ ego state แต่ละส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ถ้าการอบรมเลี้ยงดูทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่เขาไม่สามารถใช้ ego state แต่ละส่วนของเขาอย่างเหมาะสมก็จะทำให้พัฒนาการบุคลิกภาพผิดปกติ ego state แต่ละส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นบุคลิกภาพคือส่วน P, AและC นั้นแต่ละส่วนมีอาณาเขตของตนเองเรียกว่า ego boundary แต่ละส่วนจะมีเส้นกั้นทางจิตซึ่งเปรียบได้คล้ายเส้นใยบางๆ ที่พลังจิตสามารถเคลื่อนไหว ถ่ายเท เปลี่ยนแปลงผ่านไปมาสู่กันได้จาก ego state หนึ่งไปยัง ego stateอีกตัวหนึ่ง บุคคลจะมีประสิทธิภาพในการรับรู้สูงเพราะการถ่ายเทเปลี่ยนแปลงของแต่ละ ego state จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว การที่บุคคลรับรู้ช้า หรือค่อนข้างเชื่องช้าเป็นเพราะการถ่ายเทของแต่ละ ego state เป็นไปอย่างช้าๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนๆนั้นมี ego boundary หนาเกินไป ทำให้เกิดดารปิดกั้นของการถ่ายเทการเคลื่อนไหวของพลังจิตผิดปกติต่างๆของบุคคลที่เกิดขึ้นจาก ego boundary นั่นเอง



บุคลิกภาพที่ปกติ

คนที่มีบุคลิกภาพปกติตามแนวทฤษฏีนี้ คือ “ผู้ชนะ” ในการใช้ชีวิต บุคคลที่มีลักษณะเป็นผู้ชนะในการใช้ชีวิตคือ ผู้ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy) นั่นคือมีความเข้าใจตนเองสามารถเปิดเผยตนเองจะจริงใจในการสื่อสารสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ ไม่หลีกเลี่ยงการสื่อสารสัมพันธ์แบบใกล้ชิดกับผู้อื่น สามารถทำตัวให้เป็นผู้ให้และผู้รับอย่างเหมาะสม มีชีวิตอยู่กับสภาวะปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักคุณค่าของเวลา ไม่ตกเป็นทาสของอดีตหรือฝันอยู่กับอนาคต ทำให้เขาได้รับการยอมรับและการเอาใจใส่เพียงพอตามที่ตนต้องการโดยปราศจากการเล่นเกมใดๆ สามารถรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง กล้าเป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าทำอย่างเต็มศักยภาพไม่กลัวที่จะเรียนรุ้และเปลี่ยนแปลงตนเองรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าเช่นเดียวกับผู้อื่น สื่อสารกับคนอื่นอย่างจริงใจไม่เสแสร้งโดยตระหนักถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตนเองว่า แต่ละขณะตนคิดและรู้สึกอย่างไรทั้งความรู้สึกทางบวกและทางลบและสามารถระบายความคิดความรู้สึกนั้นออกมาอย่างเหมาะสม โดยพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย

สำหรับเรื่องมนุษย์สัมพันธ์ เป็นเรื่องที่ต้องติดต่อกับผู้คน มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกันบางช่วงถ้าสัมพันธภาพไม่ดีนักอาจลองใช้แนวทางของพระพุทธทาสภิกขุ สวนโมกขพลาราม นี้ดู

“เปิด-เปิด ตา : ให้รับแสง แห่งพระธรรม ยิ่งมืดค่ำ ยิ่งเห็นชัด ถนัดถนี่

สมาธิมาก ยิ่งเห็นชัดถนัดดี นี่วิธีเปิดตาใจ ใช้กันมาฯ

เปิด-เปิด หู : ให้ยินเสียง สำเนียงธรรม ทั้งเช้าค่ำ มีก้องไป ในโลกหล้า

ล้านล้านปี ฟังให้ชัด เต็มอัตรา คือเสียงแห่ง สุญญตา ค่าสุดใจฯ

เปิด-เปิด ปาก : สนทนา พูดจาธรรม วันยังค่ำ อย่าพูด เรื่องเหลวไหล

พูดแต่เรื่อง ดับทุกข์ได้ โดยสัจจนีย์ ไม่เท่าไร เราทั้งโลก พ้นโศก แลฯ”



บรรณานุกรม




กองบริการการศึกษา.มหาวิทยาลัยนเรศวร. [Online]. Available URL: http://www.acad.nu.ac.th/relation.htm

จิตรลดา วัฒนาพรรณกิตติ.(มปป.) เอกสารประกอบการสอนวิชามนุษยสัมพันธ์ในองค์การ.

โปรแกรมวิชาการบริหารธุรกิจและการจัดการทั่วไป คณะวิทยาการจัดการ สถาบันราชภัฏลำปาง.

ชัยพร วิชชาวุธ .มูลสารจิตวิทยา.กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,491 หน้า, 2525.

ชุติมา วงษ์สวัสดิ์. [Online]. Available URL: http://www.neepandin.com/data/society/society2b.htm

นารี จิตรรักษา.ราชภัฎเชียงราย. [Online]. Available URL: http://www.edu.ricr.ac.th/naree/

บริษัทมีดส์จอนสัน.. [Online]. Available URL: http://www.meadjohnson.bms.co.th/t_momsm1.htm

พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ .มนุษยสัมพันธ์ (พิมพ์ครั้งที่ 4 ฉบับปรับปรุงแก้ไข) คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ.

[Online]. Available URL: http://www.chula.ac.th/services/cupress/04.htm

พระราชวรมุนี (ประยูร ธมมจิตโต). [Online]. Available URL: http://www.wfb-hq.org/specth4.htm

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์, 930 หน้า,2525.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์, 2538.

มหาวิทยาลัยขอนแก่น. [Online]. Available URL:http://websis.kku.ac.th/abstract/thesis/medu/

eda/2538/eda380038t.html

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. [Online]. Available URL: http://sut2.sut.ac.th/ Human_Resources/ development.htm

ยงยุทธ เกษสาคร.ภาวะผู้นำและการจูงใจ. กรุงเทพมหานคร : เสมาธรรม,2521.

โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย. [Online]. Available URL: http://www.yupparaj.ac.th/webpage/business/page6.html

โรงเรียนปราสาทวิทยาคาร จ.สุรินทร์. [Online]. Available URL:http://www.pwk.ac.th/ data_school/

hope2.html

วิจิตร อาวะกุล. เทคนิคมนุษยสัมพันธ์.พิมพ์ครั้งที่ 8,กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส.พริ้นติ้ง,300 หน้า,2542.

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ. [Online]. Available URL:http://www.nationejobs.com/nationjob /tips_tools/

howto/ht020520.html

ศิริพงษ์ ศรีชัยรมย์รัตน์. กุญแจสู่ความเป็นเลิศทางการบริหารคน. หน้า 52 -55 .

สวัสดิ์ บรรเทิงสุข มนุษยสัมพันธ์ในองค์การ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ .[Online].

Available URL: http://edpg730.hypermart.net/ccop2.htm

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ.22 เมษายน 2544. [Online]. Available URL:http://www. bkknews.com/jud /

sun/20010404/page18.html

อำนวย แสงสว่าง. (2544).จิตวิทยาอุตสาหกรรม Industrial Psychology.พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพมหานคร :

อักษราพิพัฒน์, 207 หน้า.

อาภา จันทรสกุล. (2529).ทฤษฏีและวิธีการให้คำปรึกษาในโรงเรียน. กรุงเทพมหานคร :

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

Copyright 2000-2001 Thai Smart Kids. [Online]. Available URL: http://www.thaismartkids.net/teacher/

Copy Right (c) 1999-2000 ThaiEJob.com . [Online]. Available URL: http://www.thaiejob.com /

IdeaBoard/Question.asp?GID=4

David, Keith. Human Behavior at Work., New York : Graw-Hill,Co.,1977.

http://www.ESIE HR CLUB - Human Relations มนุษยสัมพันธ์.html

http://www.hrcenter.co.th/HRKnowView.asp?id=173
http://teacher.stjohn.ac.th/tgkhem/lesson/01meaning.html

http://www.sombatlegal.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=421797

http://websis.kku.ac.th/abstract/thesis/medu/eda/2531/eda310002t.html

Titannetwork co.,ltd. [Online]. Available URL: http://www.thainetway.com/test/test5.php

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1