การสื่อสารกับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจในระยะวิกฤต: ฐานิกา บุษมงคล


การสื่อสารกับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจในระยะวิกฤต


โดย อ.ฐานิกา  บุษมงคล

     เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ดี อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย จึงควรมีการเตรียมการโดยการสอนผู้ป่วยตั้งแต่ก่อนผ่าตัด และการสื่อสารกับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจนั้นควรเริ่มตั้งแต่เมื่อผู้ป่วยมาถึงไอซียู โดยเริ่มต้นที่การสื่อสารเพื่อประเมินระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย และจะเริ่มพูดคุยกับผู้ป่วยเมื่อผู้ป่วยแสดงอาการว่ากำลังจะฟื้นจากยาสลบ คือมีกิริยาอาการดังนี้ กระพริบตา พยายามลืมตา ส่ายหน้าไปมา ขยับแขนขา หรือเริ่มดิ้นทั้งโดยลืมตาและไม่ลืมตา




ในครั้งแรกควรสื่อสารกับผู้ป่วยทุกรายดังนี้

     จับมือผู้ป่วยไว้และบีบเบาๆ และพูดว่า คุณ.(ชื่อผู้ป่วย)....รู้สึกตัวแล้วใช่มั้ยคะ(ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะพยักหน้าเป็นการตอบรับทั้งที่ยังไม่ลืมตา) ตอนนี้ผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว กำลังพักฟื้นอยู่ในไอซียู ไม่ต้องกลัว หรือกังวลนะคะเพราะมีแพทย์ และพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพยาบาลจะเฝ้าดูอาการอยู่ข้างเตียงตลอดเวลา


     จากนั้นผู้ป่วยแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไป บางคนอธิบายครั้งเดียวแล้วเข้าใจสามารถพักหลับได้ และให้ความร่วมมือในการรักษา แต่บางคนต้องอธิบายซ้ำๆในเรื่องเดิมหลายครั้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ พยาบาลควรเข้าใจว่าคนเรามีการรับรู้ภาวะสุขภาพที่ไม่เท่ากัน อีกทั้งยังอาจมีพื้นฐานความเชื่อทางด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน พยาบาลควรพิจารณาให้คำแนะนำที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายในผู้ป่วยบางคนถ้าผู้ป่วยดิ้นมาก ให้บอกผู้ป่วยว่า


     คุณ.(ชื่อผู้ป่วย).... อย่าดิ้นนะคะเพราะจะทำให้สายต่างๆหลุด หรืออาจทำให้หัวใจเต้นเร็ว หัวใจทำงานหนัก จะทำให้เกิดอันตรายได้


     ในกรณีที่ผู้ป่วยดิ้นมาก มักจะเกิดจากความกลัว หายใจไม่ออก(หายใจไม่สัมพันธ์กับเครื่องช่วยหายใจ) มีเสมหะ ปวดแผล หิวน้ำ ต้องการพบญาติ เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยฟื้นดีสามารถสื่อสารความต้องการเหล่านี้โดยการขยับปากให้พยาบาลอ่านได้ ให้อธิบายและตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยไปตามความเหมาะสม แต่ถ้าผู้ป่วยยังตื่นไม่ดี แต่ดิ้นมากอาจบอกผู้ป่วยว่าอย่าดิ้นแต่ถ้ายังดิ้นมากเหมือนไม่เข้าใจการสื่อสารของพยาบาล พยาบาลอาจพิจารณาให้ยามอร์ฟีนตามแผนการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยพักหลับไปก่อน


     ถ้าสังเกตเห็นผู้ป่วยลืมตา และพยายามขยับแขนขาแต่ทำไม่ได้ และมีสีหน้าวิตกกังวลมาก(จากการสอบถามผู้ป่วยโดยมากผู้ป่วยมักกังวลว่าหลังผ่าตัดตนเองจะเป็นอัมพาตหรือเปล่า) ให้อธิบายดังนี้


     คุณ.(ชื่อผู้ป่วย)....รู้สึกตัวแล้วใช่มั้ยคะ ตอนนี้ยังขยับแขนขาได้ไม่เต็มที่อาจเนื่องจากเป็นฤทธิ์ของยาสลบ ไม่ต้องกังวลนะคะให้นอนพักไปก่อน


     เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดีมักจะหิวน้ำมาก และขอดื่มน้ำทุกครั้งที่ลืมตาขึ้นมา ทั้งๆที่พยาบาลได้อธิบายหลายๆครั้งแล้ว ทั้งนี้อาจเกิดจากผู้ป่วยลืม หรือหิวน้ำมากจึงขอบ่อยๆ เผื่อพยาบาลจะให้ ควรอธิบายดังนี้


     คุณ.(ชื่อผู้ป่วย)....ยังดื่มน้ำไม่ได้นะคะ เนื่องจากเกรงจะสำลัก และคุณหมอยังไม่อนุญาตให้ดื่มจนกว่าจะถึงพรุ่งนี้เช้า ไม่ควรบอกว่ายังดื่มน้ำไม่ได้เนื่องจากยังใส่ท่อช่วยหายใจ(จากการสังเกตพบว่าถ้าบอกว่ายังดื่มน้ำไม่ได้ เนื่องจากยังใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยมักจะพยายามดึงท่อช่วยหายใจออกเพื่อจะได้ดื่มน้ำและจะได้พูดได้)





     ถ้าผู้ป่วยขย้อนท่อช่วยหายใจ พยายามดึง หรือพยายามบ้วนท่อช่วยหายใจออก ให้อธิบายทราบว่า


     คุณ.(ชื่อผู้ป่วย)....ท่อที่อยู่ในปากเป็นท่อช่วยหายใจ อย่าดึงหรือขย้อนออกจะเป็นอันตราย เนื่องจากยังหายใจเองไม่ไหวจากฤทธิ์ยาที่ให้ในห้องผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยชี้ที่ลำคอ ให้ถามผู้ป่วยว่ารู้สึกว่ามีอะไรคล้ายลูกโป่งอยู่ในลำคอใช่หรือไม่ ถ้าผู้ป่วยตอบว่าใช่ ให้อธิบายว่าเป็นลูกโป่งที่ป้องกันท่อช่วยหายใจเลื่อนหลุด จะรู้สึกรำคาญได้แต่เมื่อแข็งแรงดีหายใจได้เอง คุณหมอจะเอาท่อออกให้ ก็จะสบายขึ้น บางครั้งผู้ป่วยจะชี้ที่ลำคอเพื่อบอกพยาบาลว่าพูดไม่มีเสียง ให้อธิบายผู้ป่วยว่าเมื่อหายใจได้เองแล้วคุณหมอเอาท่อออกให้จะพูดมีเสียงเช่นเดิม จะสังเกตว่าในการอธิบายเกี่ยวกับท่อช่วยหายใจต้องมีคำว่า เมื่อแข็งแรงดีหายใจได้เอง คุณหมอจะเอาท่อออกให้ ทุกครั้งเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงความสำคัญของท่อช่วยหายใจ และไม่ดึงท่อออกเอง


     จากประสบการณ์ของ 15 ปีในการทำงานในไอซียูของผู้เขียน พบว่าการดึงท่อช่วยหายใจของผู้ป่วยนั้นบางครั้งก็มีสาเหตุจากการที่ผู้ป่วยต้องการสื่อสารกับผู้อื่น หรือผู้ป่วยเข้าใจว่าพยาบาลไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในเรื่องการขอดื่มน้ำ เนื่องจากพยาบาลไม่ได้ยินหรือไม่เข้าใจว่าผู้ป่วยพูดอะไร เคยสอบถามผู้ป่วยที่ดึงท่อช่วยหายใจว่าทำไมจึงดึงผู้ป่วยตอบว่า เพราะปากบ่-ออก (ภาษาอีสานหมายถึงพูดไม่มีเสียงนั่นเอง)


     คำแนะนำในการสื่อสารกับผู้ป่วยนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น พยาบาลสามารถเรียนรู้ และค้นหาวิธีการสื่อสารและการคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจที่เหมาะสมได้ โดยเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน การสังเกต การค้นคว้าด้วยตนเอง การถามผู้รู้ เป็นต้นเพื่อให้สามารถให้คำแนะนำที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย อนึ่งในการให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจ ก็ควรตระหนักถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นองค์รวมของผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรแสดงอารมณ์ หรือกิริยาไม่ดีต่อผู้ป่วย ควรเข้าใจว่าผู้ป่วยทั้งเจ็บป่วย เจ็บปวด หวาดกลัว ไม่รู้ ไม่เข้าใจ และวิตกกังวล จึงควรให้การพยาบาล และให้คำแนะนำโดยมีความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยให้มาก


เป็นกำลังใจให้คุณพยาบาล....นางฟ้าสีขาว...ทุกคนนะคะ

หมายเหตุ: บทความนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้เพื่อเป็นวิทยาทาน โดยอ้างอิงดังนี้
 
ฐานิกา  บุษมงคล. (2553). การสื่อสารกับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหัวใจในระยะวิกฤต.เผยแพร่ทางhttp://thethanika.blogspot.com

อ่านเพิ่มเติม
http://gotoknow.org/blog/25-535/368047
http://gotoknow.org/blog/psyche/89151
http://gotoknow.org/blog/psyche/88805
http://www.si.mahidol.ac.th/r2r/ER_Communication.htm
http://yawaiam.blogspot.com/2007/10/blog-post_55.html
http://www.chulacc.com/forum/index.php?topic=44.0

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1