ประวัติฟลอเรนซ์ ไนติงเกล

ประวัติ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล
โดย อ.ฐานิกา  บุษมงคล



“ Lo! In that house of misery /

a lady with a lamp I see”







ประวัติฟลอเรนซ์ ไนติงเกล

Florence Nightingale ผู้บุกเบิกอาชีพพยาบาล เธอได้รับการขนานนามว่า “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป” (Lady of the Lamp) เนื่องจากภาพลักษณ์ติดตาตรึงใจผู้คนที่เห็นการเยี่ยมตรวจผู้ป่วยในยามค่ำคืนโดยถือตะเกียงไปด้วย เธอมีบทบาทมากในการปฏิรูปการพยาบาล ให้ก้าวสู่การพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่ รวมถึงการปฏิรูปโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังเป็นผู้บุกเบิกการนำสถิติมาใช้ในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาสังคม



Florence Nightingale เกิดที่เมือง Florence ในอิตาลี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2363 (รัชสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ในห้องพักชั้นสองที่หรูหราของคฤหาสน์โคลัมเบียของครอบครัวที่สนิทกัน ขณะที่บิดามารดาเดินทางไปพักผ่อนระหว่างมีครรภ์แก่ ที่เมืองฟิเรนเซ (ฟลอเรนซ์) ประเทศอิตาลี ด้วยเหตุนี้พ่อแม่จึงตั้งชื่อเธอตามชื่อเมืองที่เธอเกิด เธอมีพี่สาวหนึ่งคน ชื่อ Parthenope (ตั้งตามชื่อเมือง Parthe) บิดาเป็นเศรษฐีชาวอังกฤษ ชื่อ เอ็ดวาร์ด วิลเลียม ไนติงเกล (William Edward Nightingale) มารดาเป็นชาวฝรั่งเศสชื่อ ฟาร์นีย์ ไนติงเกล (Fanny Nightingale สกุลเดิมสมิท) บิดามารดามีฐานะดี และได้รับการศึกษาสูง ในวัยเด็กเธอจึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีในคฤหาสน์ที่สวนเอมบรีย์ ในลอนดอน และได้เรียนดนตรีกับภาษาต่างๆ เช่น อิตาเลียน ละติน กรีก รวมถึงปรัชญาและคณิตศาสตร์ด้วย




ถึงเธอจะได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตใจต้องการก็ตาม แต่เธอก็รู้สึกว่าตนกำลังใช้ชีวิตอย่างไร้จุดหมาย จนกระทั่งอายุ 17 ปี เธอรู้สึกได้ยินเสียงเรียกจากพระเจ้าให้เธอทำสิ่งที่พระองค์ต้องการ การเดินทางไปพักผ่อนในยุโรปกับครอบครัว ได้เปิดหู เปิดตาเธอมาก และขณะพักที่โรม เธอได้เห็นชีวิตที่ลำบากของคนไข้ที่นอนป่วยในโรงพยาบาล และเมื่อเธอแวะเยี่ยมโรงพยาบาล Deaconess Institute ที่เมือง Kaiserwerth ในเยอรมนี เธอได้เห็นสภาพความเป็นไปที่น่าอนาถของสถานพยาบาลอีก ประสบการณ์ เหล่านี้ทำให้เธอตัดสินใจจะเป็นนางพยาบาล



การตัดสินใจของเธอวัย 27 ปี เช่นนี้ทำให้บิดามารดาช็อก เพราะในสมัยนั้นผู้หญิงดีๆมีเพียงสองหน้าที่ คือ เป็นภรรยา และคลอดลูก ดังนั้น การจะมีอาชีพอื่นใดถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเป็นนางพยาบาลด้วยแล้ว พ่อกับแม่ต้องเป็นลม เพราะโรงพยาบาลยุคนั้นสกปรก และมีแต่คนพิการกับคนป่วยที่สำคัญในยุคนั้นงานพยาบาล ถูกรังเกียจว่าเป็นอาชีพชั้นต่ำของสังคม มีภาพลักษณ์ทางลบ เต็มไปด้วยผู้หญิงยากไร้ที่แขวนชีวิตไว้กับการติดตามไปรักษาให้กับกองทัพ ถูกมองว่าต้องอยู่กับความสกปรกและสิ่งน่ารังเกียจ ไม่ได้รับการศึกษาใดๆ และมีนิสัยชอบขโมย หยาบคาย กินเหล้า และสำส่อนทั้งกับคนไข้ และคนไม่ไข้ และมักจะติดเหล้าติดบุหรี่ (ในความจริง งานพยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีคุณค่าและต้องรักษาความสะอาด เทียบเท่ากับ งานครัว ที่ตัวเองเปรอะเปื้อน แต่ทำให้อาหารสะอาดน่ากิน) ดังนั้นเมื่อแม่ Fanny ของ Nightingale ได้ทราบว่าลูกสาวจะเป็นนางพยาบาล เธอก็คิดว่าลูกเธอคงเสียสติไปแล้ว พร้อมกันนั้นเธอคัดค้านอย่างหนัก ทั้งโกรธ และทุกข์ใจ ร่ำไห้และตำหนิว่า Nightingale ได้ทำให้แม่ผิดหวังมาตั้งแต่เกิด ทั้งนี้เพราะ Nightingale เป็นผู้หญิงจึงไม่มีสิทธิ์สืบทอดวงศ์ตระกูล ถึงอย่างไรก็ตาม Fanny ก็หวังว่าถ้า Nightingale ได้พบชายหนุ่มรูปงาม Nightingale ก็จะเปลี่ยนใจ ส่วน William Edward Nightingale ผู้บิดา นั้นมีความเข้าอกเข้าใจลูกสาวของตนดีกว่าแม่ จึงนำความคิด 'พิเรนทร์' ของ Nightingale ไปปรึกษาแพทย์ประจำตระกูลเพื่อขอความเห็นว่า อาชีพพยาบาลจะเหมาะกับลูกสาวของมหาเศรษฐีที่ดินผู้มีรูปร่างสวย หรือไม่เพียงใด และแพทย์ก็ให้ความเห็นว่า Nightingale เป็นคนที่มีใจเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่น หากเธอไม่แต่งงานเธอก็คงใช้ชีวิตเป็นนางพยาบาลตามที่เธอตั้งใจแน่ๆ ดังนั้น เมื่อหนุ่ม Richard Monkton Milnes มาสนใจ Nightingale บิดามารดาของ Nightingale จึงรู้สึกดีใจและมีความหวังว่า Milnes จะขอเธอแต่งงาน แต่หลังจากไปมาหาสู่กันนาน Nightingale ก็บอกเลิก Milnes โดยอ้างว่า การแต่งงาน คือ การต้องรับใช้ครอบครัวตลอดเวลา ซึ่งในความเห็นของเธอนี่ก็คือ การติดคุก ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ทำอะไรผิด และเมื่อพระเจ้าทรงปรารถนาให้เธอรับใช้สังคม เธอจึงคิดว่า หนทางเดียวที่จะให้เธอมีชีวิตอยู่เพื่อคนอื่นได้ คือ เธอต้องครองตัวโสด





จากนั้น Nightingale จึงหาทางออกให้กับความขัดแย้งระหว่างเธอกับแม่ โดยทำงานการกุศลมากขึ้น เช่น ช่วยเหลือเด็กในสลัม และเยี่ยมคนไข้ที่ยากจนในโรงพยาบาล (ในสมัยนั้นคนไข้ที่ร่ำรวยจะมีญาติผู้หญิงดูแลที่บ้าน) และก็ยังตั้งความหวังว่า วันหนึ่งเธอจะต้องเป็นนางพยาบาลให้ได้ เธอจึงอ่านหนังสือแพทย์และสาธารณสุขในยามว่าง ต่อมาเมื่อธันวาคม พ.ศ. 2387 (ค.ศ. 1844) การตายของคนอนาถาในศูนย์อนามัยสำหรับผู้ยากไร้ในลอนดอน กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสาธารณชน เธอจึงสนับสนุนและริเริ่มปรับปรุงการดูแลรักษาทางการแพทย์ในสถานพยาบาล และได้ขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากชาร์ลส วิลไลเออส์ (Charles Villiers) ในทันที แล้วประธานคณะกรรมการหลักปฏิบัติต่อผู้ยากไร้ ปล่อยให้เธอทำบทบาทกิจกรรมในการปฏิรูปหลักปฏิบัติต่อผู้ยากไร้ และขยายข้อกำหนดไปเกินกว่าการดูแลรักษาทางการแพทย์ภายหลังเธอได้เลื่อนตำแหน่งตามลำดับจนเป็นที่ปรึกษา และได้ส่ง แอกเนส อลิซาเบท โจนส์ และคณะพยาบาลฝึกหัดของไนติงเกล ไปยัง ศูนย์อนามัยสำหรับผู้ยากไร้ ในลิเวอร์พูล



เมื่อ พ.ศ. 2389 (1846) เธอเดินทางไปที่ ศูนย์พยาบาลและฝึกอาชีพไคเซอร์เวิท (ge:Kaiserswerth) ประเทศเยอรมนี (ขณะนั้นเป็นประเทศปรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่การแพทย์เจริญก้าวหน้าที่สุดในเวลานั้น) เพื่อศึกษาดูงาน การบุกเบิกพัฒนาสถานพยาบาล ที่ก่อตั้งโดย ศิษยาภิบาล ธีโอดอร์ ไฟลด์เนอร์ (Theodor Fliedner) [3] และดำเนินงานโดย คณะศิษยาภิบาลนิกายลูเทอรัน เธอประทับใจคุณภาพการดูแลรักษาและการฝึกหัดของคณะศิษยาภิบาลอย่างมาก



ใน พ.ศ. 2394 Nightingale วัย 31 ปี ได้เดินทางไปเยอรมนีอีกเป็นเวลา 3 เดือน และได้เยี่ยมชมโรงพยาบาลกับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่เมือง Dusseldorf ขากลับผ่านฝรั่งเศสเธอได้สมัครเป็นนางพยาบาลฝึกงานที่โรงพยาบาล Sisters of Charity ที่ปารีส และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของอาชีพนางพยาบาลที่เธอรัก


ใน พ.ศ. 2396 Nightingale ได้งานใหม่เป็นผู้อำนวยการสถาบันพยาบาลสำหรับสุภาพสตรีที่เจ็บป่วย มีหน้าที่ดูแลนางพยาบาลที่ Institute for the care of sick Gentlewoman ที่ Upper Harley Street ในลอนดอน หน้าที่หลักของเธอ คือ ปรับปรุงระบบการทำงานในโรงพยาบาล ทั้งๆ ที่ไม่มีเงินเดือนให้ แต่เธอก็ยินดี และทำงานในตำแหน่งนี้นาน 1 ปี โดยได้รับความช่วยเหลือจากบิดาเป็นเงิน 500 ปอนด์/ปีพอดีเกิดสงคราม Crimea ระหว่างกองทัพสัมพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ ฝรั่งเศส และตุรกี กับกองทัพรัสเซีย ในการสู้รบเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2397 ที่แม่น้ำ Alma กองทัพสัมพันธมิตรสามารถยึดฐานทัพเรือของรัสเซียที่เมือง Sevastopol ได้ แต่ข่าวชัยชนะนี้ทำให้ประชาชนอังกฤษรู้สึกดีใจได้ไม่นาน เพราะนักหนังสือพิมพ์ชื่อ William Howard แห่ง The Times ได้รายงานในวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2397 ว่า ทหารอังกฤษที่บาดเจ็บถูกทอดทิ้งให้นอนตาย โดยไม่มีแพทย์เหลียวแล และไม่มีนางพยาบาลผู้สามารถในโรงพยาบาลทหารของอังกฤษที่ Scutari เลยแม้แต่คนเดียว ในขณะที่ฝรั่งเศสมีแม่ชี 50 คน มาดูแลทหารฝรั่งเศสที่บาดเจ็บ และที่ร้ายที่สุด คือ เขาหาคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็ไม่ได้เลยด้วย


ทันทีที่ได้ข่าวนี้ Nightingale ก็รู้ว่าโอกาสทองของเธอที่จะได้ทำงานรับใช้พระเจ้าและสังคมได้มาถึงแล้ว เธอจึงเขียนจดหมายถึงเพื่อนเก่า ชื่อ Sidney Herbert ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมว่า ขออาสาเดินทางไปพยาบาลทหารอังกฤษที่ Scutari เมื่อ Herbert อนุญาต เขาได้บอกให้เธอช่วยฝึกนางพยาบาลเพิ่มอีกหลายคน เพื่อตามไปช่วยเธอดูแลทหารที่บาดเจ็บที่นั่น




Nightingale เดินทางไปตุรกีในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2397 โดยมี "นางพยาบาล" ร่วมขบวนด้วย 38 คน การเดินทางครั้งนั้นได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษและจากหนังสือพิมพ์ The Times แต่เธอไม่ได้รับทุนใด ๆ จากกองทัพเลย และเธอก็ตั้งความหวังว่า งานชิ้นนี้จะทำให้ความฝันของเธอที่จะรับใช้สังคมเป็นจริง



เมื่อ Nightingale กับกองทัพนางพยาบาลเดินทางถึง Scutari ในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2397 ใน Scutari วันนั้น กองทัพพันธมิตรได้สู้รบกับกองทัพรัสเซียที่ Inkersmam อย่างดุเดือด ทำให้ทหารจำนวนมากบาดเจ็บ เมื่อ Nightingale เห็นโรงพยาบาลทหารที่ Scutari อยู่ในสภาพที่สกปรกสุดๆ เช่น ใต้อาคารมีน้ำครำที่ส่งกลิ่นหึ่งเวลาลมพัด ในอาคารมีหนูวิ่งเพ่นพ่านและในขณะเดียวกัน ทหารที่ป่วยและบาดเจ็บก็นอนปะปนกันอย่างระเนระนาดบนเสื่อฟาง ผ้าปูที่นอนก็หยาบ และสกปรก การซักผ้าก็ยังใช้น้ำเย็น และอุปกรณ์ผ่าตัดต่างๆ ก็ไม่เพียงพอ การแจกจ่ายยาให้ผู้ป่วยก็ช้า เพราะต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนจนคนที่ทนพิษบาดแผลไม่ได้ต้องเสียชีวิตไปก่อน และนี่คือสภาพของโรงพยาบาลที่ทหารอังกฤษที่บาดเจ็บต้องเข้ารับการรักษา หลังจากที่ได้พยายามพยุงร่างของตนเดินทางข้าม Black Sea ผ่านช่องแคบ Bosphorus มาถึงอย่างอ่อนแรงเพราะพิษบาดแผล และถูกความหนาวเหน็บคุกคาม เหตุการณ์และสภาพแวดล้อมเช่นนี้ทำให้ทหารอังกฤษล้มตายเป็นระนาว สถิติการรอดชีวิตของทหารประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2398 ได้แสดงให้เห็นว่า จากทหาร 100 คน ที่เดินทางถึง Scutari มีทหารตาย 42.7 คน นี่เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญที่ทำให้เกิดทฤษฎีสิ่งแวดล้อมของไนติงเกลขึ้น





     เธอและผู้ร่วมอุดมการณ์เริ่มทำความสะอาดหน่วยพยาบาลและอุปกรณ์ทั้งหมดอย่างถี่ถ้วน และจัดระบบการรักษาดูแลคนไข้เสียใหม่ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เธออยู่ที่สคูตารี อัตราความตายก็ยังไม่หยุด แต่เพิ่งเริ่ม จำนวนผู้ตายอาจสูงที่สุดในบรรดาหน่วยพยาบาลอื่นในเขต ระหว่างฤดูหนาวแรกของเธอ มีทหาร 4077 คนตายที่สคูตารี ผู้ที่ตายจาก ไข้รากสาดใหญ่, ไข้รากสาดน้อย, อหิวาตกโรค และโรคบิด มีเป็น 10 เท่าของที่ตายจากบาดแผลในการรบ ไม่ใช่เกิดจากการจัดระเบียบใหม่ แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมในหน่วยพยาบาลค่ายทหารชั่วคราว เป็นอันตรายเกินไปสำหรับคนไข้ เพราะจำนวนผู้บาดเจ็บแออัดเกินไป อีกทั้ง ข้อบกพร่องของท่อระบายน้ำ และขาดการระบายอากาศ รัฐบาลอังกฤษเพิ่งส่งคณะกรรมการด้านสุขอนามัยมาถึงสคูตารีเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2398 (1855) ซึ่งก็เกือบ 6 เดือนหลังจากเธอมาถึง มีการปรับปรุงท่อระบายน้ำและระบบระบายอากาศ แล้วอัตราความตายก็ลดลงอย่างรวดเร็ว เธอยังดำเนินการด้านสุขอนามัยต่อไป โดยเชื่อว่า อัตราความตายสัมพันธ์กับโภชนาการที่ขาดแคลน และการหักโหมงานของทหาร อีกด้วย



      ในความพยายามที่จะทำให้โรงพยาบาลที่ Scutari ในตุรกีมีประสิทธิภาพ Nightingale ได้พยายามแสดงความสามารถในการเป็นผู้บริหาร แต่เธอต้องเผชิญการต่อต้านและขัดขวางจากฝ่ายทหาร ซึ่งยึดหลักการว่า เมื่อใดที่มีการเปลี่ยนแผนปฏิบัติการ นั่นคือการยอมรับว่า ประเพณีและวิธีปฏิบัติเก่าๆ ที่ผ่านมาผิด นอกเหนือจากเหตุผลนี้แล้ว กองทัพก็รู้สึกไม่ยินดีที่เธอเป็นพลเรือน เพราะทำให้เธอไม่อยู่ในความควบคุมของกองทัพ แต่เหตุผลที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือเพราะเธอเป็นผู้หญิง ด้วยเหตุนี้เวลา Nightingale ทำงานที่ Scutari เธอจึงรู้สึกมีศัตรูมากมาย เช่น ถูกกลั่นแกล้ง ให้นำเสื้อทหาร 27,000 ตัว ไปให้ทหารตรวจดูอย่างละเอียดก่อนนำแจกให้ทหารบาดเจ็บใส่ และเธอถูกห้ามเยี่ยมคนบาดเจ็บในเวลากลางคืน เป็นต้น แต่การได้ทุนสนับสนุนจากองค์กรอิสระ และการไม่ต้องขออนุญาตทำงานหลายเรื่องจากทหาร ทำให้ Nightingale สามารถทำงานที่เธอรักต่อไปได้ และเธอก็ได้จัดตั้งโรงซักรีดผ้า หาหม้อ ต้มน้ำ สร้างโรงครัว จัดซื้อถุงเท้า เสื้อ มีด ช้อนไม้ อ่างอาบน้ำ โต๊ะ ชุดนอน โต๊ะผ่าตัด ผ้าเช็ดตัว หวี กรรไกร ที่รองปัสสาวะ รวมถึงหมอนที่สะอาดก็ถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาล ในยามดึก เธอจะเดินถือตะเกียงออกเยี่ยมไข้คืนละหลายครั้ง จนทำให้ในห้องคนไข้ที่เคยมีแต่ความทุกข์ได้เห็นแสงสว่างแห่งความสุข เวลามีสุภาพสตรีคนหนึ่งเดินถือตะเกียงมาเยี่ยม และนี่ก็คือ เหตุการณ์ที่เหล่าทหารที่บาดเจ็บรู้สึกประทับใจ และซาบซึ้งใจมากจนในปี พ.ศ. 2400 กวี William W. Longfellow ได้แต่งบทกวีที่ทำให้ชื่อของ Nightingale เป็นอมตะว่า Lo! In that house of misery / a lady with a lamp I see.




     เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2398 อันเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากที่ Nightingale เริ่มทำงานที่ Scutari สถิติการตายของทหารที่บาดเจ็บในสงครามได้ลดลงจาก 42.7% เป็น 2.2%

     หลังสงคราม Crimea 4 เดือน Nightingale ได้เดินทางกลับอังกฤษในฐานะวีรสตรี และได้เข้าเฝ้า พระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร  ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2399 ขณะนั้นเธอมีอายุ 36 ปี และมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลกจนได้รับการยกย่องมาก แต่เธอก็ปฏิเสธไม่ยอมรับเกียรติยศใดๆ พร้อมกับบอกว่า ถ้าจะให้เกียรติเธอจริง รัฐบาลอังกฤษต้องปฏิรูประบบการสาธารณสุข โดยเฉพาะในโรงพยาบาลให้ดีขึ้น เพราะจะช่วยชีวิตคนได้มากและในการทำให้สังคมเชื่อว่าโรงพยาบาลต้องได้รับการปฏิรูปนั้น Nightingale ได้นำวิทยาการด้านสถิติมาใช้อย่างไรก็ตาม เธอถูกรุมเร้าด้วยพิษไข้มาโดยตลอด เป็นไปได้มากว่าเกี่ยวกับอาการเรื้อรังของ บรุคเซลโลซิส (Brucellosis) หรือ "ไข้ไครเมีย" (chronic fatigue syndrome) ซึ่งเธอติดมาตั้งแต่ช่วงสงครามไครเมีย และอาจเป็นไปได้ว่า เกิดร่วมกับ กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง เธอจำต้องกันแม่และพี่สาวจากห้องของเธอ และนานๆ จึงจะออกจากห้องสักครั้ง เธอย้าย จากบ้านของครอบครัวในมิดเดิล เตลย์ดอน บัคกิงแฮมเชียร์ ไปอยู่ที่โรงแรมเบอร์ลิงตัน ในพิคคาดิลลี



     ทั้งๆ ที่มนุษย์รู้จักใช้สถิติมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ก็ยังไม่มีใครเคยดำรินำสถิติมาใช้แก้ปัญหาสังคม ทั้งนี้ เพราะข้อมูลมีไม่มากพอ และเทคนิคการวิเคราะห์ที่ดีก็ไม่มี แต่เมื่อถึงวันนี้ การใช้สถิติวิเคราะห์ปัญหาสังคมได้กลายเป็นวิธีที่สังคมยอมรับแล้ว และบุคคลหนึ่งที่ได้ทำให้การวิเคราะห์นี้เป็นวิธีที่มีหลักการคือถูกต้อง และสมเหตุสมผล คือ Florence Nightingale โดยเธอพัฒนาแผนภาพ "โพลาแอเรีย ไดอะแกรม" (Polar-area diagram) ที่แสดงข้อมูลการเสียชีวิตที่มาจากสภาพหรือการปฏิบัติที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นการบุกเบิกด้าน สถิติศาสตร์ ทางการสาธารณสุข การวิเคราะห์นี้ได้ใช้รูปลิ่มที่มีขนาดแตกต่างกันแทนอัตราส่วนของสิ่งที่ต้องการวิเคราะห์แสดงในแผนภาพรูปวงกลม ด้วยข้อมูลที่ชัดเจนและวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจที่เธอได้เสนอผ่านแผนภูมินี้เอง ทำให้การต่อสู้เพื่อขอความช่วยเหลือในการส่งเสริมสวัสดิภาพทางด้านสุขภาพของเหล่าทหารนั้นสัมฤทธิผล

     หลังจากนั้น เธอก็ได้พัฒนาการเสนอข้อมูลอีกหลายวิธี เช่น การเก็บข้อมูล การนำเสนอโดยใช้ตารางแสดงผล การอธิบายโดยใช้แผนภูมิรูปภาพ ซึ่งการริเริ่มในงานด้านคณิตศาสตร์วิเคราะห์ของเธอนี้เองเป็นการปฏิวัติทางความคิดเกี่ยวกับการวัดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างมีจุดมุ่งหมาย

     ความน่าสนใจของผู้หญิงคนนี้คือพรสวรรค์และความเชี่ยวชาญทางความคิดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ที่น่าทึ่งและสิ่งนี้เองที่ทำให้เธอพิเศษกว่าสตรีรุ่นเดียวกันยุควิคตอเรีย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาหรือทำงานทางด้านนี้ แต่วิลเลียม ไนติงเกล บิดาของเธอมีความเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่าสตรีโดยเฉพาะบุตรสาวของเขาจะสามารถเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมหากได้ลองศึกษาศาสตร์ทางการคำนวณเช่นเดียวกับบิดาและป้าของเธอ

     ใน ค.ศ. 1854 ซิดนีย์ เฮอร์เบิร์ต เลขาธิการทางด้านสงคราม ได้เกณฑ์ให้ไนติงเกลและนางพยาบาลอีก 38 คนทำการดูแลเหล่าทหารที่เมืองสคูทารีระหว่าสงครามไครเมีย ซึ่งขณะที่เธอทำหน้าที่ในเมืองสคูทารีนั้น เธอก็ได้ทำการรวบรวมและเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบแล้วนำข้อมูลที่เธอได้นั้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันให้มีการพัฒนาโรงพยาบาลทหาร เธอได้คำนวณอัตราการตายเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาทางสุขอนามัย ซึ่งด้วยวิธีการประมวลของเธอ ระบุว่าอัตราการตายจะลดลงอย่างมาก หากมีการปรับปรุงระบบสาธารณสุขใหม่ เธอได้วิเคราะห์ข้อมูลที่แสดงผ่านแผนภาพไดอะแกรมและพัฒนาการเก็บข้อมูลโดยปรับปรุงแบบฟอร์มของโรงพยาบาลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แน่นอนและเชื่อถือได้ ซึ่งใน ค.ศ. 1858 เธอก็ได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกของราชสมาคมด้านสถิติ และได้รับการยกย่องให้เป็นสมาชิกผู้มีเกียรติของสมาคมนักสถิติแห่งสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1874 (แปลและเรียบเรียงโดย..จันทิมา อุนหะวรากรจาก Woman in Mathematics, Singapore Scientist No. 91)

     ประวัติศาสตร์ของวิชาสถิติได้บันทึกว่า ในปี พ.ศ. 2384 Lambert Adolph Jacques Quetelet ได้จัดตั้งสำนักงานสถิติกลางของเบลเยียมขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อศึกษาสาเหตุที่ทำให้คนในสังคมมีพฤติกรรมต่างๆ ความสำเร็จที่ได้จากการทำงานของหน่วยงานนี้ทำให้ Quetelet ได้รับการยกย่องเป็นบิดาของสถิติสังคม หลังจากนั้นประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศก็ได้เจริญรอยตาม โดยได้จัดตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลสถิติของประชากร แล้วใช้ทฤษฎีความเป็นไปได้ วิเคราะห์พฤติกรรมต่างๆ ของสังคมนั้น โดยใช้หลักของ Quetelet ที่ว่า ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่มีกฎที่สามารถระบุ หรือทำนายพฤติกรรมของใครคนใดคนหนึ่งได้ แต่ถ้าจะให้บอกพฤติกรรมของกลุ่มแล้ว นักคณิตศาสตร์ก็สามารถใช้สถิติบอกความนึกคิด และความเห็นต่างๆ ที่เป็นไปได้ โดยอาศัยข้อมูล เช่น เพศ อายุและการศึกษา เพื่อพยากรณ์ความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การเกิดฆาตกรรมในฝรั่งเศสในปี 2334 และถึงแม้สถิติจะบอกชื่อฆาตกรไม่ได้ แต่ข้อสรุปก็สามารถบอกได้ว่าจะมีฆาตกรรมเกิดขึ้นประมาณกี่ครั้งในปีนั้น เป็นต้น

     แม้ผลงานของ Quetelet จะเป็นที่ยอมรับโดยบรรดานักวิชาการส่วนมาก แต่ก็มีปราชญ์หลายคนที่ไม่เห็นด้วย เช่น John Stewart Mill และ Charles Dickens เพราะคนเหล่านี้คิดว่า จิตใจมนุษย์มีเสรีภาพมากจนไม่น่าจะมีใครทำนายอะไรได้ ด้วยเหตุนี้ ถ้าสถิติของ Quetelet ใช้ได้จริง วิทยาการนี้ก็จะทำให้มนุษย์ไม่แตกต่างจากสัตว์

      แต่สำหรับ Nightingale แล้วเธอรู้สึกศรัทธาในผลงานของ Quetelet มาก เธอจึงเก็บข้อมูลต่างๆ ที่โรงพยาบาล Scutari มาวิเคราะห์แล้วจัดให้เป็นระบบ เช่น รวบรวมจำนวนคนที่เสียชีวิตทุกวัน เพราะก่อนนั้น แม้แต่จำนวนคนตายในแต่ละวัน ก็ไม่มีใครรู้ ดังนั้น เมื่อ Nightingale เดินทางกลับอังกฤษ ใน พ.ศ. 2399 และได้พบ William Fan ผู้เป็นแพทย์และนักสถิติ การได้เรียนสถิติกับ Fan ทำให้ Nightingale ตระหนักในความสำคัญของวิชานี้ว่า สามารถนำมาใช้ปรับเปลี่ยนระบบการพยาบาล และการสาธารณสุขในโรงพยาบาลของกองทัพและโรงพยาบาลทั่วไปได้ ทั้งนี้ เพราะบันทึกสาเหตุการตายของทหารในสงครามระบุชัดว่า เกิดจากโรคมากกว่าเกิดจากบาดแผล สำหรับสงคราม Crimea ก็เช่นกัน สถิติได้บอกอย่างชัดเจนว่า เมื่อเริ่มสงครามใหม่ๆ ทหาร 607 ได้ล้มตายด้วยโรค แต่เมื่อ Nightingale จัดระบบการรักษา และการสาธารณสุขให้ดีขึ้น จำนวนการตายของทหารเมื่อสิ้นสงครามก็ได้ลดลงอย่างฮวบฮาบ ข้อมูลทั้งหลายยังแสดงให้เห็นชัดว่า ในการเปรียบเทียบจำนวนการตายของประชาชนกับทหารอังกฤษในยามสงบนั้น ทหารที่มีอายุ 20 - 35 ปี จะตายมากกว่าคนทั่วไปประมาณ 2 เท่า ทั้งนี้เพราะทหารมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะนั่นเอง

     เมื่อสมเด็จพระราชินี Victoria แห่งอังกฤษ และพระสวามีทรงทราบเรื่องนี้ พระองค์ทรงเห็นด้วยกับ Nightingale ว่าสุขภาพของทหารในกองทัพอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นถึงบรรดาแม่ทัพ นายพลต่างๆ จะต่อต้าน Nightingale แต่ Lord Palmerston ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ได้สั่งให้จัดตั้ง สำนักงานสุขภาพของกองทัพในพระบรมราชินูปถัมภ์ขึ้นทันที และแม้ Nightingale จะมิได้เป็นกรรมการบริหารของสำนักงานนี้ (เพราะเธอเป็นผู้หญิง) แต่แนวคิดของเธอก็มีอิทธิพลมากในการตัดสินใจของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่อนุญาตให้เธอไป Crimea นอกจากนี้เธอก็ได้เรียบเรียงตำราชื่อ Notes on Matters Affecting the Health Efficiency and Hospital Administration of the British Army ซึ่งมีเทคนิคสถิติ และแผนภาพต่างๆ มากมายประกอบคำบรรยาย และหนังสือเล่มนี้ ได้รับการยกย่องโดย Fan ว่า เป็นหนังสือสถิติที่ดีเด่นที่สุดที่เขาเคยเห็น และอ่าน

      Nightingale จึงได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกการใช้สถิติในรูปของแผนภาพ และแผนที่พื้นที่เชิงขั้ว (polar - area chart) ที่แสดงให้เห็นพื้นที่ของลิ่มในแผนภาพวงกลมว่าขึ้นกับจำนวนอย่างไร

      เมื่อผลงานของเธอได้รับการยกย่องและยอมรับ รัฐบาลอังกฤษจึงได้จัดตั้งหน่วยงานต่างๆ ตามที่เธอเสนอ และโรงพยาบาลทหารก็ได้รับการปรับปรุงด้วย เช่น มีการติดตั้งระบบถ่ายอากาศ ระบบทำความร้อนระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล ระบบประปา อีกทั้งได้ปฏิรูปโรงอาหารใหม่ ส่วนกองทัพก็มีการออกกฎหมายสุขภาพใหม่ มีการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ทหาร และมีการจัดตั้งหน่วยงานรวบรวมสถิติต่างๆ ของกองทัพเพื่อนำมาวิเคราะห์ ความเห็นของเธอทุกเรื่องสามารถทำให้คณะรัฐมนตรีปั่นป่วนได้ ถ้าเธอไม่เห็นด้วย และนักการเมืองทุกคนต้องฟังความคิดเห็นของเธอ ถ้าเขาต้องการให้สังคมยอมรับ จากนั้น Nightingale ก็หันไปสนใจสุขภาพของทหารในอินเดีย โดยได้ส่งแบบฟอร์มสำรวจไปยังทหารที่นั่น เพื่อสำรวจข้อมูลสาธารณสุข และเมื่อได้ข้อมูล เธอก็ได้เสนอให้มีการจัดตั้งสำนักงานสถิติขึ้นในอินเดียในปี 2401 เพราะข้อมูลระบุว่า อัตราการตายของทหารอังกฤษในอินเดียในแต่ละปีสูงกว่าอัตราการตายของพลเมืองอังกฤษถึง 6 เท่า ทั้งนี้เพราะกองทัพที่นั่นไม่มีระบบกำจัดน้ำเสียที่ดี การอยู่อย่างแออัด และการขาดการออกกำลังกายของทหาร คือ สาเหตุสำคัญ และภายในเวลา 10 ปี หลังจากที่ Nightingale ได้เสนอวิธีปฏิรูปนี้ ทหารอังกฤษในอินเดียก็ได้ลดเปอร์เซ็นต์การเสียชีวิตจาก 6.9 % เป็น 1.8 % ความสำเร็จครั้งนั้นทำให้ผู้สำเร็จราชการอังกฤษทุกคนที่จะถูกส่งไปประจำที่อินเดีย ต้องเข้าพบเธอก่อนไปประจำการเพื่อน้อมรับความเห็นของเธอทั้ง ๆ ที่เธอไม่เคยไปอินเดียเลย

      Nightingale จึงได้รับการยอมรับว่า รู้จักใช้สถิติอย่างมีคุณภาพ และโดยอาศัยประสบการณ์เธอก็สามารถใช้สถิติสร้างความรู้ได้ ทั้งนี้ เพราะเธอเชื่อว่าสถิติสามารถบอกสังคมได้ว่าวิธีการใดดีกว่ากันเพียงใด และเมื่อโรงพยาบาลสมัยนั้นไม่เคยคิดจะเก็บข้อมูลต่างๆ จากคนไข้เลย เธอกับ Fan จึงคิดแบบสำรวจให้โรงพยาบาลใช้ และ International Congress of Statistics ก็ได้นำแบบฟอร์มนั้นมาทดลองใช้ในปี 2403 เพื่อเก็บข้อมูลคนไข้ตลอดปี ทั้งที่หายไข้ และที่ตายไปขณะอยู่ในโรงพยาบาล ในการใช้สถิติแก้ปัญหาสังคมนั้น Nightingale เชื่อว่า พระเจ้าทรงวางกฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับสังคมในรูปของสถิติ ดังนั้นคนที่จะเข้ามาบริหารสังคมและการเมืองจึงต้องรู้สถิติ นอกจากนี้เธอก็ต้องการให้สถาบันการศึกษาชั้นสูงทุกแห่งสอนสถิติด้วย




      ในบั้นปลายชีวิต Nightingale ต้องการใช้ชีวิตเป็นนางพยาบาลต่อไป ซึ่งเป็นอาชีพที่เธอคิดว่า พระเจ้าต้องการให้เธอทำ แต่สุขภาพเธอไม่ดี เธอจึงต้องนอนเตียงตลอดเวลา เหตุการณ์นี้ทำให้คนหลายคนคิดว่า เพราะเธอติดโรคจากสงคราม แต่อีกหลายคนก็คิดว่าอาการประสาททำให้เธอต้อนรับคนที่มาเยี่ยมเฉพาะในห้องนอน และใครจะมาต้องนัดล่วงหน้านาน เป็นต้น

     ในปี 2403 เธอได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกนางพยาบาลที่ Nightingale School of Nursing at St Thomasให้นางพยาบาลมีทั้งคุณธรรม และวิชาการ เธอก็ทำได้สำเร็จ เพราะในปี 2404 การสำรวจประชากรในอังกฤษระบุว่ามีคนทำงานเป็นผู้ช่วยพยาบาล 27,618 คน แต่อีก 40 ปีต่อมา สถิติระบุว่ามีนางพยาบาลในอังกฤษ 64,214 คน

      13 สิงหาคม พ.ศ. (1910) ขณะอายุ 90 ปี ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เสียชีวิตในห้องของเธอ ที่บ้านเลขที่ 10 เซาท์สตรีท ในปาร์คเลน ย่านที่อยู่ของผู้ดี

     พิธีฝังศพถูกจัดใน อารามเวสต์มินสเตอร์ โดยมีเฉพาะคนใกล้ชิด แต่ไม่มีญาติของเธอมาร่วมงาน ศพถูกฝังใน สุสานโบสถ์เซนต์มาร์กาเรต ที่เวลโลว์ตะวันตก แฮมเชียร์
วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปีซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ถือเป็นวันพยาบาลสากล เพื่อเป็นการยกย่อง ให้เกียรติและรำลึกถึงคุณงามความดีของท่าน


**ใบงาน**

ให้นักศึกษาจัดแสดงละครประวัติชีวิตของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ระยะเวลาในการแสดงไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยสื่อให้เห็นถึงความโดดเด่นของเธอในด้านต่างๆอาทิ ความมีจริยธรรม ความเสียสละ ความมุ่งมั่น และฯลฯ และความรู้สึกของนักศึกษาที่มีต่อเธอ ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งแห่งวิชาชีพพยาบาล

โดยนักศึกษาต้องส่งรายชื่อคณะกรรมการแต่ละฝ่ายให้กับอาจารย์ พร้อมบทละคร ฝึกซ้อมและกำหนดวันเวลา สถานที่ ที่จะทำการแสดงภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน

แบบฝึกหัด
ขอให้นักศึกษาตอบคำถามต่อไปนี้ใส่กระดาษรายงานหรือกระดาษ A4 แล้วเย็บมุมส่ง 16 ธันวาคม
1. การที่ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนางพยาบาล ทั้งๆที่ได้รับการคัดค้านจากบิดามารดา อีกทั้งในยุคนั้นงานพยาบาล ถูกรังเกียจว่าเป็นอาชีพชั้นต่ำของสังคม มีภาพลักษณ์ทางลบ แสดงให้เห็นว่า เธอมีคุณลักษณะพยาบาลข้อใด

2.ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ต้องเผชิญการต่อต้านและขัดขวางจากฝ่ายทหาร และถูกกลั่นแกล้ง เช่น ห้ามเยี่ยมคนบาดเจ็บในเวลากลางคืน แต่เธอก็ยังทำในสิ่งที่ตนเองตั้งเป้าหมายไว้ จนส่งผลให้สถิติการตายของทหารที่บาดเจ็บในสงครามได้ลดลงจาก 42.7% เป็น 2.2%ภายในเวลา 6 เดือน แสดงให้เห็นว่า เธอมีคุณลักษณะพยาบาลข้อใด

3.จงอธิบายว่าเพราะเหตุใดฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จึงตระหนักว่า สิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อสุขภาพ

4.จงวิเคราะห์ลักษณะนิสัยของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล และเปรียบเทียบว่าเหมือนหรือแตกต่างจากนักศึกษาหรือไม่อย่างไร

5. เมื่ออ่านประวัติของฟลอเรนซ์ ไนติงเกลแล้ว นักศึกษารู้สึกอย่างไร และเกิดแรงบันดาลใจอะไร จงอธิบาย


รวมการ์ตูนประวัติชีวิตฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จากยูทูบ ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้
การ์ตูนฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ตอนที่ 1
การ์ตูนฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ตอนที่ 1.2
การ์ตูนฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ตอนที่ 2
การ์ตูนฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ตอนที่ 3
การ์ตูนฟลอเรนซ์ ไนติงเกลตอนที่ 4
การ์ตูนฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ตอนที่ 5

อ้างอิง

• กอบกุล พันธ์เจริญกุล. (2544). เอกสารการสอนชุดวิชา มโนมติและกระบวนการพยาบาล. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1.มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

• เรณู สอนเครือ. (2549). แนวคิดพื้นฐานและหลักการพยาบาล เล่ม 1. พิมพ์ครั้งที่ 7. นนทบุรี: โครงการสวัสดิการวิชาการ สถาบันพระบรมราชชนก.

• Baly, Monica E. and H. C. G. Matthew, "Nightingale, Florence (1820–1910) "; Oxford Dictionary of National Biography , Oxford University Press (2004) ; online edn, May 2005 Oxforddnb.Com ลง 28 ตุลาคม 2006

• Hollie Shaner. Nightingale's Philosophical Development. From http://www.nihe.org/philosophy.html

• Pugh, Martin; The march of the women: A revisionist analysis of the campaign for women's suffrage 1866-1914 , Oxford (2000), at 55.

• Sokoloff, Nancy Boyd.; Three Victorian women who changed their world , Macmillan, London (1982)

• Tomey, Ann Marriner Alligood, Martha Raile. (2006)Nursing theorists and their work / Ann Marriner Tomey and Martha Raile Alligood. 6th ed. Mosby, United States.

• Uoguelph.Ca - The collected works of Florence Nightingale , Wilfrid Laurier University Press

• Val Webb; The Making of a Radical Theologician , Chalice Press (2002)

• Woodham Smith, Cecil; Florence Nightingale , Penguin (1955)

http://www.youtube.com/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เฉลยเก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาล(สุขภาพจิตและจิตเวช)

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1