การเจาะ Arterial blood gas





การเจาะหลอดเลือดแดงเพื่อวิเคราะห์แก๊ส


(Arterial puncture for blood gas analysis)


ข้อบ่งชี้

เพื่อนำเลือดแดงไปทำการวิเคราะห์หาค่าแก๊สสำหรับประเมินผลรวมการแลกเปลี่ยนแก๊สในผู้ป่วย

ข้อห้าม

1. ไม่สามารถคลำชีพจรของเส้นเลือดแดงได้

2. ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกผิดปรกติจากตัวโรคของผู้ป่วยหรือจากยา

3. ห้าม เจาะเลือดแดงจากเส้นเลือดแดง radial กรณีที่เส้นเลือดแดง ulnar มีการไหลเวียนของเลือดไม่ดี

4. ผิวหนังบริเวณที่จะทำการเจาะเลือดมีการอักเสบ ติดเชื้อ หรือ แผลไฟไหม้

อุปกรณ์

1. เข็มฉีดยาขนาด 25 G สำหรับเส้นเลือดแดง radial, brachial, และ femoral ในกรณีที่ผู้ป่วยอ้วนอาจใช้เข็มฉีดยาขนาด 23 G

2. กระบอกฉีดยาสำหรับเจาะเลือดขนาด 1 มล.

3. Heparin 1000 ยูนิต / มล.

4. ถุงมือปลอดเชื้อ

5. แว่นป้องกันตา (goggles)

6. ภาชนะใส่น้ำแข็ง

7. Povidone iodine

8. สำลีปลอดเชื้อ พลาสเตอร์ forcep ปลอดเชื้อ และ ชามรูปไต / ถุงขยะ
วิธีการ

1. ให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนหงายในท่าที่สบาย

2. เลือกตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่จะเจาะ ได้แก่ radial, brachial หรือ femoral หลอดเลือดแดงแต่ละตำแหน่งมีข้อดีและ

ข้อเสียในการเจาะแตกต่างกันไป โดยทั่วไปในผู้ใหญ่จะเลือกเจาะจากหลอดเลือดแดง radial ก่อน

3. ในกรณีที่จะเจาะเลือดจากหลอดเลือดแดง radial ให้ประเมินภาวะการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดง ulnar ก่อน โดยใช้

การทดสอบ modified Allen ดังขั้นตอนต่อไปนี้

3.1. ให้ผู้ป่วยยกแขนไว้เหนือระดับหัวใจ ให้ผู้ป่วยกำมือสลับกับแบมือหลายๆ ครั้ง แล้วให้ผู้ป่วยกำมือให้แน่น

3.2. ผู้ตรวจใช้นิ้วหัวแม่มือข้างหนึ่งกดหลอดเลือดแดง radial ของผู้ป่วย ขณะที่ใช้นิ้วหัวแม่มืออีกข้างหนึ่งกดหลอดเลือดแดง ulnar พร้อมกันเป็นเวลา 1 นาที

3.3. ให้ผู้ป่วยเอาแขนลงอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ พร้อมกับคลายมือ และผู้ตรวจปล่อยนิ้วหัวแม่มือที่กดหลอดเลือดแดง ulnar ขณะที่นิ้วหัวแม่มืออีกข้างยังกดหลอดเลือดแดง radial ไว้ ระวังอย่าให้ข้อมือของผู้ป่วยอยู่ในท่า extension เพราะอาจจะทำให้แปลผลผิดได้ ถ้าภาวะไหลเวียนของหลอดเลือดแดง ulnar ปรกติ สีของฝ่ามือจะกลับมาเป็นปรกติภายใน 6 วินาทีหลังจากที่ปล่อยหลอดเลือดแดง ulnar ที่กดไว้ และกลับมาเป็นปรกติทั้งมือภายใน 15 วินาที ถ้ามีตำแหน่งใดของมือที่สีไม่กลับมาเป็นปรกติ โดยเฉพาะบริเวณนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ และบริเวณ thenar eminence (เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ได้รับเลือดมาเลี้ยงส่วนใหญ่จากหลอดเลือดแดง radial ) ให้ถือว่าการทดสอบ modified Allen เป็นผลบวก ซึ่งหมายความว่า มีความผิดปรกติของภาวะการไหลเวียนของหลอดเลือดแดง ulnar ควรหลีกเลี่ยงการดูดเลือดจากหลอดเลือดแดง radial

4. ตรวจกระบอกฉีดยาและเข็มที่จะใช้เจาะเลือดว่าสวมกันสนิทและดึงกระบอกสูบได้คล่องดี

5. ดูด heparin ประมาณ 0.5มล  เพื่อเคลือบภายในกระบอกฉีดยาที่จะใช้เจาะเลือดจนทั่ว แล้วไล่ heparin ส่วนที่เหลือออกจากกระบอกฉีดยาให้หมด

6. ทำความสะอาดผิวหนังผู้ป่วยบริเวณตำแหน่งของหลอดเลือดแดงที่จะเจาะด้วยสำลีปลอดเชื้อชุบ povidone iodine

7. ผู้เจาะสวมแว่นป้องกันตาและถุงมือปลอดเชื้อ แล้วใช้ปลายนิ้วชี้และนิ้วกลางของมือข้างที่ไม่ถนัดคลำหาชีพจรของหลอดเลือดแดงที่เจาะ โดยกางนิ้วทั้งสองให้ห่างกันประมาณ 1 ซม. หรืออาจจะใช้นิ้วชี้หรือนิ้วกลางเพียงนิ้วเดียวก็ได้แล้วแต่ความถนัดของ ผู้เจาะ

8. จับกระบอกฉีดยาที่ใช้เจาะเลือดที่ต่อกับเข็มให้คล้ายกับการจับปากกา

9. ในกรณีเลือกเจาะหลอดเลือดแดง radial ให้ extend ข้อมือของผู้ป่วยเล็กน้อย ส่วนมากจะเลือกมือข้างที่ไม่ถนัดของผู้ป่วย ตำแหน่งที่คลำได้ชีพจรชัดจะอยู่ประมาณ 0.5-1 นิ้วเหนือต่อรอยพับของข้อมือ ค่อยๆ แทงเข็มลงไปตรงหลอดเลือดแดง radial โดยแทงทำมุม 45-60 องศากับผิวหนัง โดยหงายปลายตัด (bevel) ของเข็มขึ้น

10. ในกรณีเลือกเจาะหลอดเลือดแดง brachial ให้เหยียดข้อศอกของผู้ป่วยออกให้เต็มที่ ตำแหน่งของหลอดเลือดแดง brachial จะอยู่ที่ median aspect ของ antecubital fossa และเหนือต่อรอยพับของข้อศอกเล็กน้อย ส่วนวิธีการเจาะเช่นเดียวกับการเจาะหลอดเลือดแดง radial

11. ในกรณีเลือกเจาะหลอดเลือดแดง femoral ให้ผู้ป่วยนอนหงายและเหยียดขาตรง ตำแหน่งของหลอดเลือดแดง femoral จะอยู่ตรงกึ่งกลางของ inguinal ligament หรือ กึ่งกลางระหว่าง anterior superior iliac spine และ symphysis pubis ส่วนวิธีการเจาะเช่นเดียวกับการเจาะหลอดเลือดแดง radial แต่แทงเข็มโดยทำมุม 60-90 องศากับผิวหนัง และต่ำกว่า inguinal ligament ประมาณ 2-3 ซม.

12. ถ้าปลายเข็มอยู่ในหลอดเลือดแดง จะมีเลือดสีแดงสดพุ่งเข้ากระบอกฉีดยาโดยที่ผู้เจาะไม่จำเป็นต้องดึงกระบอกสูบ แต่ถ้าใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก, กระบอกฉีดยาพลาสติก หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ อาจจำเป็นต้องดึงกระบอกสูบให้ความดันในกระบอกฉีดยาเป็นลบจึงจะได้เลือด แต่ในกรณีนี้ต้องระวังความผิดพลาดจากการแทงเข็มเข้าหลอดเลือดดำ แล้วได้เลือด กลับเข้ามาในกระบอกฉีดยาเนื่องจากการดูด ถ้าแทงเข็มแล้วยังไม่ได้เลือด ให้ค่อยๆ ดึงเข็มและกระบอกฉีดยากลับ ถ้าเห็นเลือด สีแดงสดพุ่งเข้ากระบอกฉีดยาให้หยุด ถ้ายังไม่ได้เลือดอีก ให้ดึงเข็มและกระบอกฉีดยากลับมาเกือบพ้นผิวหนัง แล้วค่อยๆ แทงเข็มลงไปตรงหลอดเลือดแดงที่ต้องการเจาะใหม่ โดยทำมุมของการเจาะเหมือนเดิม แต่เลื่อนตำแหน่งเจาะไปทางด้านข้างประมาณ 1 มม.

13. เมื่อได้เลือดตามที่ต้องการ ให้ถอนเข็มและกระบอกฉีดยาออก แล้วใช้สำลีแห้งปลอดเชื้อกดตรงรอยเจาะนานอย่างน้อย 5 นาที

14. ระหว่างถอนเข็มอย่าดึงกระบอกสูบเพราะอากาศจะถูกดูดเข้ากระบอกฉีดยา ทำให้ผลการตรวจผิดพลาด ในกรณีที่มีฟองอากาศ ปนกับเลือดในกระบอกฉีดยา ให้หงายกระบอกฉีดยาโดยให้ส่วนของปลายเข็มชี้ขึ้นบน แล้วใช้ปลายนิ้วเคาะเบาๆ บริเวณกระบอกฉีดยา เพื่อไล่ฟองอากาศที่ติดอยู่ผนังของกระบอกฉีดยาไปรวมกันที่ปลายกระบอกฉีดยา แล้วค่อยๆ ดันกระบอกสูบเพื่อไล่อากาศออกให้หมด

15. ผสมเลือดให้เข้ากับ heparin โดยใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างกลิ้งกระบอกฉีดยาไปมา 4-5 ครั้ง

16. ส่งเลือดตรวจภายใน 5-10 นาที ถ้าไม่สามารถส่งตรวจได้ทันที ให้ใส่กระบอกฉีดยาในภาชนะบรรจุน้ำแข็งระหว่างรอตรวจ

17. ตรวจตำแหน่งที่ทำการเจาะเลือดซ้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อน


1. เกิดภาวะเลือดออก (hemorrhage) หรือ ก้อนเลือด (hematoma)

2. ภาวะ thrombosis ในหลอดเลือดแดง

3. เส้นประสาทใกล้เคียงถูกทำลายจากการถูกเข็มแทงโดยตรงหรือจากการกดของก้อนเลือด

4. มีการติดเชื้อของตำแหน่งที่เจาะ อวัยวะใกล้เคียง หรือ อวัยวะที่ห่างออกไปจากตำแหน่งที่เจาะถ้ามีการติดเชื้อในกระแสเลือด

5. False aneurysm

6. Fistula ระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ

7. ภาวะ embolism จากการฉีดลิ่มเลือดหรือเศษผงเข้าหลอดเลือดแดง

ที่มา อนุวัฒน์ กีระสุนทรพงษ์
http://www.si.mahidol.ac.th/department/Medicine/home/chest/b03.htm

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1