การสร้างแรงจูงใจ

การสร้างแรงจูงใจ


ความหมาย ความสำคัญ ของแรงจูงใจในการทำงาน

ความหมายของแรงจูงใจ

แรงจูงใจมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Motivation มีรากคำเดิมเป็นภาษาละตินว่า movere ซึ่งแปลว่า เงื่อนไขหรือสภาวะที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสามทิศทาง หมายถึง เงื่อนไขหรือสภาวะที่ไปทำให้เกิดพฤติกรรมชนิดใดชนิดหนึ่ง หรือที่ไปยับยั้งพฤติกรรม หรือที่ไปกำหนดแนวทางให้พฤติกรรมที่จะแสดงออก แรงจูงใจมีผู้รู้ให้ความหมายไว้มากมายอาจสรุปความหมายของแรงจูงใจได้ดังนี้

แรงจูงใจ หมายถึง ความเต็มใจที่จะใช้พลังเพื่อดำเนินไปถึงจุดหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ

แรงจูงใจ หมายถึง องค์ประกอบภายใน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นหรือนำทาง หรือเป็นตัวรวมพฤติกรรมต่าง ๆ ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ และเราจะอนุมานเกี่ยวกับแรงจูงใจได้จากพฤติกรรมที่แสดงออกมา

แรงจูงใจ หมายถึง ภาวะภายในที่คอยเสริมกำลังหรือกระตุ้น หรือทำให้เคลื่อนไหว เพื่อที่จะนำทางพฤติกรรมหรือเพื่อชี้หาแนวทางพฤติกรรมไปสู่เป้าหมายต่าง ๆ

แรงจูงใจ หมายถึง การกระกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้ผลสูงสุดและมีความรับผิดชอบในผลงานของตน

แรงจูงใจ หมายถึง แรงจูงใจในแง่ทางสรีรวิทยา (Biological importance) ได้แก่ อารมณ์ (Emotion) แรงผลักดัน (Force) แรงขับ (Dive) จิตสำนึก (Instinct) ความต้องการ (Need) แรงจูงใจ ในแง่จิตใจได้แก่ (Mental importance) เช่น แรงกระตุ้น (Urge) ความปรารถนา (Wish) ความรู้สึก (Feeling) แรงขับดัน (Impulse) ความต้องการ (Want) ความปรารถนา (Desire) ความต้องการ (Demand) ที่จะให้ค้นพบและแรงจูงใจในแง่สิ่งแวดล้อม (Preference to Objects or States in the Environment) ได้แก่ ความมุ่งหมาย (Purpose) ผลประโยชน์ (Interest) ความตั้งใจ (Intention) ทัศนคติ (Attitude) เป้าหมาย (Goal) คุณค่า (Value) ความมุ่งมาดปรารถนา (Aspiration) และรางวัลแห่งความสำเร็จ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้บุคคลทำงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตนต้องการ

แรงจูงใจ หมายถึง ปัจจัยที่ปลุกเร้า หรือสิ่งเร้าใจ หรือกิจกรรมของบุคคลที่จะนำไปสู่เป้าหมาย

แรงจูงใจ หมายถึง กระบวนการที่เกี่ยวกับทางเลือก ทิศทาง และเป้าหมายของบุคคล

แรงจูงใจหมายถึงพฤติกรรมที่จะเริ่มต้นหรือสนับสนุนให้ดำเนินต่อไป หรือหยุดลงและพฤติกรรมเหล่านั้นจะเข้าไปมีปฏิกิริยา ฝังอยู่ในจิตใจของบุคคล พฤติกรรมเหล่านี้ก็ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการของบุคคล

แรงจูงใจ หมายถึง การชักนำให้บุคคลแต่ละคน หรือกลุ่มบุคคลทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามที่ผู้จูงใจปรารถนาและบุคคลหรือกลุ่มบุคคลก็ต้องการที่จะทำเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นๆ เป็นการกระทบให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้ผลสูงสุดและมีความรับผิดชอบในผลงานของตน

Sigmund Freud อธิบายว่าแรงจูงใจเป็น แรงจูงใจไร้สำนึก (Unconcious Motivation) แรงจูงใจไร้สำนึกมีลักษณะคล้ายกับสัญชาตญาณ เช่น แรงจูงใจทางเพศ และความก้าวร้าวตามธรรมชาติ เป็นตัวผลักดันให้เกิดพฤติกรรม

จากความหมายข้างต้นเราอาจสรุปได้ว่า แรงจูงใจหมายถึง การกระทำของสิ่งเร้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของหรือสถานการณ์ มาเร้าอินทรีย์ให้มีแรงขับทั้งจากภายในและภายนอกทำให้บุคคลแสดงพติกรรมซึ่งเป็นความพยายามที่จะชักจูงให้ผู้อื่นแสดงพฤติกรรมที่ต้องการเมื่อบุคคลเกิดความต้องการ และความต้องการนั้นไปกระตุ้นให้ร่างกายทำงานเพื่อสนองความต้องการและเป้าประสงค์ของตนเองความต้องการนั้นเรียกว่า แรงจูงใจ

จากคำจำกัดความนั้น ทำให้แบ่งแรงจูงใจ ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. แรงจูงใจที่เกิดจากสิ่งเร้าจากภายในร่างกาย ได้แก่ แรงจูงใจที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลเอง เช่น ความรัก ความหิว กระหาย ความต้องการพักผ่อน เป็นต้น

2. แรงจูงใจที่เกิดจากสิ่งเร้าภายนอกร่างกาย เช่น การได้รับรางวัล เงินเดือน ยศฐา บรรดาศักดิ์ เกียรติคุณบัตร ปริญญาบัตร เป็นต้น



ความสำคัญของแรงจูงใจ แรงจูงใจเป็นตัวกระตุ้นมนุษย์ให้เกิดความอยากที่จะทำงาน ดังนั้น แรงจูงใจมีความสำคัญ 3 ประการคือ

1. ทำให้เกิดพฤติกรรม เกิดพลังงาน เร้าให้มีกิจกรรม

2. ทำให้เกิดความสนใจ การเลือกที่จะกระทำ และการกำหนดให้ตนเองแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาเพื่อสนองความต้องการของตน

3. นำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมาย



ทฤษฎีของแรงจูงใจ

ทฤษฎีของแรงจูงใจได้แก่ ทฤษฎีความต้องการของ มาสโลว์ อธิบายไว้ว่ามนุษย์มีความต้องการเป็นลำดับ 5 ขั้นคือ

1. ความต้องการด้านกายภาพ ( Physiological needs

2. ความต้องการด้านความปลอดภัย ( Safety needs )

3. ความต้องการด้านสังคม ( Social needs )

4. ความต้องการที่จะได้รับการยกย่อง ( Esteem needs )

5. ความต้องการที่จะได้รับความสำเร็จในชีวิต ( Self Actualization needs )

ลำดับขั้นความต้องการข้างต้นนี้ ความต้องการที่อยู่ในขั้นต่ำสุดจะต้องได้รับความพึงพอใจเสียก่อนบุคคลจึงจะสามารถผ่านพ้นไปสู่ความต้องการที่อยู่ในขั้นสูงขึ้นตามลำดับ ดังอธิบายคือ

1. ความต้องการทางร่างกาย ( Physiological needs ) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่มีอำนาจมากที่สุดและเห็นได้ชัดที่สุดจากความต้องการทั้งหมดเป็นความต้องการที่ช่วยการดำรงชีวิต ได้แก่ ความต้องการอาหาร น้ำดื่ม ออกซิเจน การพักผ่อนนอนหลับ ความต้องการทางเพศ ความต้องการความอบอุ่น ตลอดจนความต้องการที่จะถูกกระตุ้นอวัยวะรับสัมผัส แรงขับของร่างกายเหล่านี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดของร่างกายความพึงพอใจที่ได้รับในขั้นนี้จะกระตุ้นให้เกิดความต้องการในขั้นที่สูงกว่าและถ้าบุคคลใดประสบความล้มเหลวที่จะสนองความต้องการพื้นฐานนี้ก็จะไม่ได้รับการกระตุ้นให้เกิดความต้องการในระดับที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตามถ้าความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งยังไม่ได้รับความพึงพอใจ บุคคลก็จะอยู่ภายใต้ความต้องการนั้นตลอดไป ซึ่งทำให้ความต้องการอื่นๆ ไม่ปรากฏหรือกลายเป็นความต้องการระดับรองลงไปเช่น คนที่อดอยากหิวโหยเป็นเวลานานจะไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ต่อโลกได้ บุคคลเช่นนี้จะหมกมุ่นอยู่กับการจัดหาบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้มีอาหารไว้รับประทาน Maslowอธิบายต่อไปว่าบุคคลเหล่านี้จะมีความรู้สึกเป็นสุขอย่างเต็มที่เมื่อมีอาหารเพียงพอสำหรับเขาและจะไม่ต้องการสิ่งอื่นใดอีก ชีวิติของเขากล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของการรับประทาน สิ่งอื่นๆ นอกจากนี้จะไม่มีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพ ความรัก ความรู้สึกต่อชุมชน การได้รับการยอมรับ และปรัชญาชีวิต บุคคลเช่นนี้มีชีวิตอยู่เพื่อที่จะรับประทานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ตัวอย่างการขาดแคลนอาหารมีผลต่อพฤติกรรม ได้มีการทดลองและการศึกษาชีวประวัติเพื่อแสดงว่าความต้องการทางด้านร่างกายเป็นเรื่องสำคัญที่จะเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ และได้พบผลว่าเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงของพฤติกรรมซึ่งมีสาเหตุจากการขาดอาหารหรือน้ำติดต่อกันเป็นเวลานาน ตัวอย่างคือ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในค่าย Nazi ซึ่งเป็นที่กักขังเชลย เชลยเหล่านั้นจะละทิ้งมาตรฐานทางศีลธรรมและค่านิยมต่างๆ ที่เขาเคยยึดถือภายใต้สภาพการณ์ปกติ เช่น ขโมยอาหารของคนอื่น หรือใช้วิธีการต่างๆ ที่จะได้รับอาหารเพิ่มขึ้น อีกตัวอย่างหนึ่งในปี ค.ศ. ๑๙๗๐ เครื่องบินของสายการบิน Peruvian ตกลงที่ฝั่งอ่าวอเมริกาใต้ผู้ที่รอดตายรวมทั้งพระนิกาย Catholic อาศัยการมีชีวิตอยู่รอดโดยการกินซากศพของผู้ที่ตายจากเครื่องบินตก จากปรากฏการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมนุษย์เกิดความหิวขึ้น จะมีอิทธิพลเหนือระดับศีลธรรมจรรยา จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามนุษย์มีความต้องการทางด้านร่างกายเหนือความต้องการอื่นๆ และแรงผลักดันของความต้องการนี้ได้เกิดขึ้นกับบุคคลก่อนความต้องการอื่นๆ

2. ความต้องการความปลอดภัย ( Safety needs ) เมื่อความต้องการทางด้านร่างกายได้รับความพึงพอใจแล้วบุคคลก็จะพัฒนาการไปสู่ขั้นใหม่ต่อไป ซึ่งขั้นนี้เรียกว่าความต้องการความปลอดภัยหรือความรู้สึกมั่นคง (safety or security) Maslow กล่าวว่าความต้องการความปลอดภัยนี้จะสังเกตได้ง่ายในทารกและในเด็กเล็กๆ เนื่องจากทารกและเด็กเล็กๆ ต้องการความช่วยเหลือและต้องพึ่งพออาศัยผู้อื่น ตัวอย่าง ทารกจะรู้สึกกลัวเมื่อถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังหรือเมื่อเขาได้ยินเสียงดังๆ หรือเห็นแสงสว่างมาก ๆ แต่ประสบการณ์และการเรียนรู้จะทำให้ความรู้สึกกลัวหมดไป ดังคำพูดที่ว่า “ฉันไม่กลัวเสียงฟ้าร้องและฟ้าแลบอีกต่อไปแล้ว เพราะฉันรู้ธรรมชาติในการเกิดของมัน” พลังความต้องการความปลอดภัยจะเห็นได้ชัดเจนเช่นกันเมื่อเด็กเกิดความเจ็บป่วย ตัวอย่างเด็กที่ประสบอุบัติเหตุขาหักก็จะรู้สึกกลัวและอาจแสดงออกด้วยอาการฝันร้ายและความต้องการที่จะได้รับความปกป้องคุ้มครองและการให้กำลังใจ

Maslow กล่าวเพิ่มเติมว่าพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกอย่างไม่กวดขันและตามใจมากจนเกินไปจะไม่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าได้รับความพึงพอใจจากความต้องการความปลอดภัยการให้นอนหรือให้กินไม่เป็นเวลาไม่เพียงแต่ทำให้เด็กสับสนเท่านั้นแต่ยังทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นคงในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา สัมพันธภาพของพ่อแม่ที่ไม่ดีต่อกัน เช่น ทะเลาะกันทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน พ่อแม่แยกกันอยู่ หย่า ตายจากไป สภาพการณ์เหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อความรู้ที่ดีของเด็ก ทำให้เด็กรู้ว่าสิ่งแวดล้อมต่างๆ ไม่มั่นคง ไม่สามารถคาดการณ์ได้และนำไปสู่ความรู้สึกไม่ปลอดภัย

ความต้องการความปลอดภัยจะยังมีอิทธิพลต่อบุคคลแม้ว่าจะผ่านพ้นวัยเด็กไปแล้ว แม้ในบุคคลที่ทำงานในฐานะเป็นผู้คุ้มครอง เช่น ผู้รักษาเงิน นักบัญชี หรือทำงานเกี่ยวกับการประกันต่างๆ และผู้ที่ทำหน้าที่ให้การรักษาพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้อื่น เช่น แพทย์ พยาบาล แม้กระทั่งคนชรา บุคคลทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะใฝ่หาความปลอดภัยด้วยกันทั้งสิ้น ศาสนาและปรัชญาที่มนุษย์ยึดถือทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง เพราะทำให้บุคคลได้จัดระบบของตัวเองให้มีเหตุผลและวิถีทางที่ทำให้บุคคลรู้สึก “ปลอดภัย” ความต้องการความปลอดภัยในเรื่องอื่นๆ จะเกี่ยวข้องกับการเผชิญกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ สงคราม อาชญากรรม น้ำท่วม แผ่นดินไหว

การจลาจล ความสับสนไม่เป็นระเบียบของสังคม และเหตุการณ์อื่นๆ ที่คล้ายคลึงกับสภาพเหล่านี้

Maslow ได้ให้ความคิดต่อไปว่าอาการโรคประสาทในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะโรคประสาทชนิดย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive neurotic) เป็นลักษณะเด่นชัดของการค้นหาความรู้สึกปลอดภัย ผู้ป่วยโรคประสาทจะแสดงพฤติกรรมว่าเขากำลังประสบเหตุการณ์ที่ร้ายกาจ และกำลังมีอันตรายต่างๆ เขาจึงต้องการมีใครสักคนที่ปกป้องคุ้มครองเขาและเป็นบุคคลที่มีความเข้มแข็งซึ่งเขาสามารถจะพึ่งพาอาศัยได้

3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Belongingness and Love needs)

ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของเป็นความต้องการขั้นที่ ๓ ความต้องการนี้จะเกิดขึ้นเมื่อความต้องการทางด้านร่างกายและความต้องการความปลอดภัยได้รับการตอบสนองแล้ว บุคคลก็จะต้องการได้รับความรักและความเป็นเจ้าของโดยการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นเช่น ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวหรือกับผู้อื่นสมาชิกภายในกลุ่มจะเป็นเป้าหมายสำคัญ สำหรับบุคคลกล่าวคือ บุคคลจะรู้สึกเจ็บปวดมากเมื่อถูกทอดทิ้งไม่มีใครยอมรับ หรือถูกตัดออกจากสังคม ไม่มีเพื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำนวนเพื่อนๆ ญาติพี่น้องสามีหรือภรรยาหรือลูกๆ ได้ลดน้อยลงไปนักเรียนที่เข้าโรงเรียนที่ห่างไกลบ้านจะเกิดความต้องการเป็นเจ้าของอย่างยิ่ง และจะแสวงหาอย่างมากที่จะได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน

Maslow คัดค้านกลุ่ม Freud ที่ว่าความรักเป็นผลมาจากการทดเทิด (sublimation) สัญชาตญาณทางเพศ สำหรับ Maslow ความรักไม่ใช่สัญลักษณ์ของเรื่องเพศ (sex) เขาอธิบายว่า ความรักที่แท้จริงจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกที่ดี ความสัมพันธ์ของความรักระหว่างคนสองคน จะรวมถึงความรู้สึกนับถือซึ่งกันและกัน การยกย่องและความไว้วางใจแก่กัน นอกจากนี้ Maslow ยังย้ำว่าความต้องการความรักของคนจะเป็นความรักที่เป็นไปในลักษณะทั้งการรู้จักให้ความรักต่อผู้อื่นและรู้จักที่จะรับความรักจากผู้อื่น การได้รับความรักและได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเป็นสิ่งที่ทำให้บุคคลเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า บุคคลที่ขาดความรักก็จะรู้สึกว่าชีวิตไร้ค่ามีความรู้สึกอ้างว้างและเคียดแค้น กล่าวโดยสรุป Maslow มีความเห็นว่าบุคคลต้องการความรักและความรู้สึกเป็นเจ้าของและการขาดสิ่งนี้มักจะเป็นสาเหตุให้เกิดความข้องคับใจและทำให้เกิดปัญหาการปรับตัวไม่ได้ และความยินดีในพฤติกรรมหรือความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจในลักษณะต่างๆ

สิ่งที่ควรสังเกตประการหนึ่ง ก็คือมีบุคคลจำนวนมากที่มีความลำบากใจที่จะเปิดเผยตัวเองเมื่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับเพศตรงข้ามเนื่องจากกลัวว่าจะถูกปฏิเสธความรู้สึกเช่นนี้ Maslow กล่าวว่าสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก การได้รับความรักหรือการขาดความรักในวัยเด็กย่อมมีผลกับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะและการมีทัศนคติในเรื่องของความรัก Maslow เปรียบเทียบว่าความต้องการความรักก็เป็นเช่นเดียวกับรถยนต์ที่สร้างขึ้นมาโดยต้องการก๊าซหรือน้ำมันนั่นเอง ( Maslow 1970 : 170 )

4. ความต้องการได้รับความนับถือยกย่อง (Self-Esteem needs) เมื่อความต้องการได้รับความรักและการให้ความรักแก่ผู้อื่นเป็นไปอย่างมีเหตุผลและทำให้บุคคล เกิดความพึงพอใจแล้ว พลังผลักดันในขั้นที่ 3 ก็จะลดลงและมีความต้องการในขั้นต่อไปมาแทนที่ กล่าวคือมนุษย์ต้องการที่จะได้รับความนับถือยกย่องออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะแรกเป็นความต้องการนับถือตนเอง (self-respect) ส่วนลักษณะที่ 2 เป็นความต้องการได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น (esteem from others)

4.1 ความต้องการนับถือตนเอง (self-respect) คือ ความต้องการมีอำนาจ มีความเชื่อมั่น

ในตนเอง มีความแข็งแรง มีความสามารถในตนเอง มีผลสัมฤทธิ์ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น และมีความเป็นอิสระ ทุกคนต้องการที่จะรู้สึกว่าเขามีคุณค่าและมีความสามารถที่จะประสบความสำเร็จในงานภารกิจต่างๆ และมีชีวิตที่เด่นดัง

4.2 ความต้องการได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น(esteem from others) คือ ความต้องการมีเกียรติยศ การได้รับยกย่อง ได้รับการยอมรับ ได้รับความสนใจ มีฐานะ มีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขาน และเป็นที่ชื่นชมยินดี มีความต้องการที่จะได้รับความยกย่องชมเชยในสิ่งที่เขากระทำซึ่งทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าว่าความสามารถของเขาได้รับการยอมรับจากผู้อื่น

ความต้องการได้รับความนับถือยกย่องก็เป็นเช่นเดียวกับธรรมชาติของลำดับชั้นในเรื่องความต้องการด้านแรงจูงใจตามทัศนะของ Maslow ในเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิตนั่นคือ บุคคลจะแสวงหาความต้องการได้รับการยกย่องก็เมื่อภายหลังจาก ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของได้รับการตอบสนองความพึงพอใจของเขาแล้ว และ Maslow กล่าวว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ที่บุคคลจะย้อนกลับจากระดับขั้นความต้องการในขั้นที่ 4 กลับไปสู่ระดับขั้นที่ 3 อีกถ้าความต้องการระดับขั้นที่ 3 ซึ่งบุคคลได้รับไว้แล้วนั้นถูกกระทบ กระเทือนหรือสูญสลายไปทันทีทันใด ดังตัวอย่างที่ Maslow นำมาอ้างคือหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งเธอคิดว่าการตอบสนองความต้องการความรักของเธอได้ดำเนินไปด้วยดีแล้วเธอจึงทุ่มเทและเอาใจใส่ในธุรกิจของเธอ และได้ประสบความสำเร็จเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงและอย่างไม่คาดฝันสามีได้ผละจากเธอไป ในเหตุการณ์เช่นนี้ปรากฏว่าเธอวางมือจากธุรกิจต่างๆ ในการที่จะส่งเสริมให้เธอได้รับความยกย่องนับถือ และหันมาใช้ความพยายามที่จะเรียกร้องสามีให้กลับคืนมา ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของเธอเป็นตัวอย่างของความต้องการความรักซึ่งครั้งหนึ่งเธอได้รับแล้ว และถ้าเธอได้รับความพึงพอในความรักโดยสามีหวนกลับคืนมาเธอก็จะกลับไปเกี่ยวข้องในโลกธุรกิจอีกครั้งหนึ่ง

ความพึงพอใจของความต้องการได้รับการยกย่องโดยทั่วๆ ไป เป็นความรู้สึกและเจตคติของความเชื่อมั่นในตนเอง ความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า การมีพละกำลัง การมีความสามารถ และความรู้สึกว่ามีชีวิตอยู่อย่างมีประโยชน์และเป็นบุคคลที่มีความจำเป็นต่อโลก ในทางตรงกันข้ามการขาดความรู้สึกต่างๆ ดังกล่าวนี้ย่อมนำไปสู่ความรู้สึกและเจตคติของปมด้อย และความรู้สึกไม่พอเพียง เกิดความรู้สึกอ่อนแอและช่วยเหลือตนเองไม่ได้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการรับรู้ตนเองในทางนิเสธ หรือปฏิเสธ (negative) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความรู้สึกขลาดกลัวและรู้สึกว่าตนเองไม่มีประโยชน์และสิ้นหวังในสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของชีวิต และประเมินตนเองต่ำกว่าชีวิตความเป็นอยู่กับการได้รับการยกย่องและยอมรับจากผู้อื่นอย่างจริงใจมากกว่าการมีชื่อเสียงจากสถานภาพหรือการได้รับการประจบประแจง การได้รับความนับถือยกย่องเป็นผลมาจากความเพียรพยายามของบุคคล และความต้องการนี้อาจเกิดอันตรายขึ้นได้ถ้าบุคคลนั้นต้องการคำชมเชยจากผู้อื่นมากกว่าการยอมรับความจริงและเป็นที่ยอมรับกันว่าการได้รับความนับถือยกย่อง มีพื้นฐานจากการกระทำของบุคคลมากกว่าการควบคุมจากสิ่งต่างๆ ภายนอก

5. ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Self-Actualization needs) ถึงลำดับ

ขั้นสุดท้าย ถ้าความต้องการลำดับขั้นก่อนๆ ได้ทำให้เกิดความพึงพอใจอย่างมีประสิทธิภาพ ความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงก็จะเกิดขึ้น Maslow อธิบายความต้องการเข้าใจตนองอย่างแท้จริงว่าเป็นความปรารถนาในทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งบุคคลสามารถจะได้รับอย่างเหมาะสม บุคคลซึ่งประสบผลสำเร็จในขั้นสูงสุดนี้จะใช้พลังอย่างเต็มที่ในสิ่งที่ท้าทายความสามารถและศักยภาพของเขาและมีความปรารถนาที่จะปรับปรุงตนเอง พลังแรงขับของเขาจะกระทำพฤติกรรมตรงกับความสามารถของตน กล่าวโดยสรุปการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงเป็นความต้องการอย่างหนึ่งของบุคคลที่จะบรรลุถึงจุดสูงสุดของศักยภาพ เช่น “นักดนตรีก็ต้องใช้ความสามารถทางด้านดนตรี ศิลปินก็จะต้องวาดรูป กวีจะต้องเขียนโคลงกลอน ถ้าบุคคลเหล่านี้ได้บรรลุถึงเป้าหมายที่ตนตั้งไว้ก็เชื่อได้ว่าเขาเหล่านั้นเป็นคนที่รู้จักตนเองอย่างแท้จริง” Maslow ( 1970 : 46)

ความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงจะดำเนินไปอย่างง่ายๆ หรือเป็นไปโดยอัตโนมัติ โดยความเป็นจริงแล้ว Maslow เชื่อว่าคนเรามักจะกลัวตัวเองในสิ่งเหล่านี้ “ด้านที่ดีที่สุดของเรา ความสามารถพิเศษของเรา สิ่งที่ดีงามที่สุดของเรา พลังความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์” Maslow (1962 : 58) ความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงมิได้มีแต่เฉพาะในศิลปินเท่านั้น คนทั่วๆ ไป เช่น นักกีฬา นักเรียน หรือแม้แต่กรรมกรก็สามารถจะมีความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงได้ถ้าทุกคนสามารถทำในสิ่งที่ตนต้องการให้ดีที่สุด รูปแบบเฉพาะของการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงจะมีความแตกต่างอย่างกว้างขวางจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง กล่าวได้ว่ามันคือระดับความต้องการที่แสดงความแตกต่างระหว่างบุคคลอย่างยิ่งใหญ่ที่สุด

Maslow ได้ยกตัวอย่างของความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ในกรณีของนักศึกษาชื่อ Mark ซึ่งเขาได้ศึกษาวิชาบุคลิกภาพเป็นระยะเวลายาวนานเพื่อเตรียมตัวเป็นนักจิตวิทยาคลินิก นักทฤษฎีคนอื่นๆ อาจจะอธิบายว่าทำไมเขาจึงเลือกอาชีพนี้ ตัวอย่าง เช่น Freud อาจกล่าวว่ามันสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับสิ่งที่เขาเก็บกดความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องเพศไว้ตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่ Adler อาจมองว่ามันเป็นความพยายามเพื่อชดเชยความรู้สึกด้อยบางอย่างในวัยเด็ก Skinner อาจมองว่าเป็นผลจากการถูกวางเงื่อนไขของชีวิตในอดีต ขณะที่ Bandura สัมพันธ์เรื่องนี้กับตัวแปรต่างๆ ทางการเรียนรู้ทางสังคม และ Kelly อาจพิจารณาว่า Mark กำลังจะพุ่งตรงไปเพื่อที่จะเป็นบุคคลที่เขาต้องการจะเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงการมุ่งตรงไปสู่เป้าประสงค์ในอาชีพโดยความต้องการที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริงและถ้าจะพิจารณากรณีของ Mark ให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น ถ้า Mark ได้ผ่านการเรียนวิชาจิตวิทยาจนครบหลักสูตรและได้เขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก และในที่สุดก็ได้รับปริญญาเอกทางจิตวิทยาคลินิก สิ่งที่จะต้องวิเคราะห์ Mark ต่อไปก็คือเมื่อเขาสำเร็จการศึกษาดังกล่าวแล้วถ้ามีบุคคลหนึ่งได้เสนองานให้เขาในตำแหน่งตำรวจสืบสวน ซึ่งงานในหน้าที่นี้จะได้รับค่าตอบแทนอย่างสูงและได้รับผลประโยชน์พิเศษหลายๆ อย่างตลอดจนรับประกันการว่าจ้างและความมั่นคงสำหรับชีวิต เมื่อประสบเหตุการณ์เช่นนี้ Mark จะทำอย่างไร ถ้าคำตอบของเขาคือ “ตกลง” เขาก็จะย้อนกลับมาสู่ความต้องการระดับที่ 2 คือความต้องการความปลอดภัย สำหรับการวิเคราะห์ความเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง Maslow กล่าวว่า “อะไรที่มนุษย์สามารถจะเป็นได้เขาจะต้องเป็นในสิ่งนั้น” เรื่องของ Mark เป็นตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้าเขาตกลงเป็นตำรวจสืบสวน เขาก็จะไม่มีโอกาสที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ทำไมทุกๆ คนจึงไม่สัมฤทธิผลในการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง (Why Can’t All People Achieve Self-Actualization) ตามความคิดของ Maslow ส่วนมากมนุษย์แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดที่ต้องการแสวงหาเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ภายในตน

จากงานวิจัยของเขาทำให้ Maslow สรุปว่าการรู้ถึงศักยภาพของตนนั้นมาจากพลังตามธรรมชาติและจากความจำเป็นบังคับ ส่วนบุคคลที่มีพรสวรรค์มีจำนวนน้อยมากเพียง 1 % ของประชากรที่ Maslow ประมาณ Maslow เชื่อว่าการนำศักยภาพของตนออกมาใช้เป็นสิ่งที่ยากมาก บุคคลมักไม่รู้ว่า ตนเองมีความสามารถและไม่ทราบว่าศักยภาพนั้นจะได้รับการส่งเสริมได้อย่างไร มนุษย์ส่วนใหญ่ยังคงไม่มั่นใจในตัวเองหรือไม่มั่นใจในความสามารถของตนจึงทำให้หมดโอกาสเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง และยังมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่มาบดบังพัฒนาการทางด้านความต้องการของบุคคลดังนี้



อิทธิพลของวัฒนธรรม

ตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าอิทธิพลของสังคมมีต่อการเข้าใจตนเอง คือแบบพิมพ์ของวัฒนธรรม (cultural stereotype) ซึ่งกำหนดว่าลักษณะเช่นไรที่แสดงความเป็นชาย (masculine) และลักษณะใดที่ไม่ใช่ความเป็นชาย เช่นจัดพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความเมตตากรุณา ความสุภาพและความอ่อนโยน สิ่งเหล่านี้วัฒนธรรมมีแนวโน้มที่จะพิจารณาว่า “ไม่ใช่ลักษณะของความเป็นชาย” (unmasculine) หรือความเชื่อถือของวัฒนธรรมด้านอื่นๆซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่มีคุณค่า เช่น ยึดถือว่าบทบาทของผู้หญิงขึ้นอยู่กับจิตวิทยา

พัฒนาการของผู้หญิง เป็นต้น การพิจารณาจากเกณฑ์ต่างๆ ดังกล่าวนี้เป็นเพียงการเข้าใจ “สภาพการณ์ที่ดี” มากกว่าเป็นเกณฑ์ของการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง

ประการสุดท้าย Maslow ได้สรุปว่าการไม่เข้าใจตนเองอย่างแท้จริงเกิดจากความพยายามที่ไม่ถูกต้องของการแสวงหาความมั่นคงปลอดภัย เช่น การที่บุคคลสร้างความรู้สึกให้ผู้อื่นเกิดความพึงพอใจตนโดยพยายามหลีกเลี่ยงหรือขจัดข้อผิดพลาดต่างๆ ของตน บุคคลเช่นนี้จึงมีแนวโน้มที่จะพิทักษ์ความมั่นคงปลอดภัยของตนโดยแสดงพฤติกรรมในอดีตที่เคยประสบผลสำเร็จ แสวงหาความอบอุ่น และสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งลักษณะเช่นนี้ย่อมขัดขวางวิถีทางที่จะเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง



ประเภทของแรงจูงใจ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แรงจูงใจเบื้องต้นและแรงจูงใจระดับสูงและแรงจูงใจระดับสูง

ในระยะต่อมา Maslow ได้อธิบายความคิดของเขาเรื่องลำดับของแรงจูงใจเพิ่มขึ้นจากที่กล่าวมาแล้ว คือ เขาได้แบ่งแรงจูงใจของมนุษย์ออกเป็น ๒ ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่ แรงจูงใจเบื้องต้น (deficit motive) และแรงจูงใจระดับสูง (growth motive)

1. แรงจูงใจเบื้องต้น (Deficit motive or Deficiency or D motive) คือแรงจูงใจที่อยู่ในลำดับต่ำซึ่งเกี่ยวข้องกับ สรีระภาพของอินทรีย์และความต้องการความปลอดภัย จุดมุ่งหมายของแรงจูงใจชนิดนี้ คือ การขจัดไม่ให้อินทรีย์เกิดความตึงเครียดจากสภาพการขาดแคลน เช่น ความหิว ความรู้สึกไม่ปลอดภัยในสภาพการณ์นี้แรงจูงใจเบื้องต้นจะทำให้เกิดแรงขับพฤติกรรม

ลักษณะของแรงจูงใจเบื้องต้น Maslow ได้อธิบายถึงเกณฑ์กำหนดของแรงจูงใจเบื้องต้น ๕ ประการดังนี้

1. การขาดแรงจูงใจเบื้องต้นทำให้บุคคลเกิดความเจ็บป่วยไม่สบาย ตัวอย่างเช่น ความหิวถ้ามนุษย์ไม่ได้รับประทานอาหาร เขาก็จะเกิดความเจ็บป่วย

2. การเกิดขึ้นของแรงจูงใจเบื้องต้นจะป้องกันมิให้เกิดความเจ็บป่วย เช่น เมื่อหิวถ้าเรารับประทานอาหารอย่างเหมาะสมเราก็จะไม่เกิดความเจ็บป่วย

3. แรงจูงใจเบื้องต้นจะซ่อมแซมและรักษาความเจ็บป่วย หมายความว่า ไม่มีสิ่งใดๆ ที่จะรักษาความอดอยากได้เหมือนอาหาร

4. ภายใต้ความซับซ้อนของสภาพการณ์ที่ให้บุคคลเลือกได้โดยอิสระแรงจูงใจเบื้องต้นจะได้รับการเลือกจากบุคคลที่ขาดแคลนมากกว่าคนที่ได้รับความพึงพอใจแล้ว เช่น คนที่อดอยากย่อมเลือกอาหารมากกว่าเรื่องเพศ

5. คนที่มีสุขภาพดีพฤติกรรมของเขาจะไม่ถูกควบคุมโดยแรงจูงใจเบื้องต้นทั้งนี้ เพราะคนที่มีสุขภาพดีก็เนื่องจากมีโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ต้องการอย่างพอเพียง ดังนั้นพฤติกรรมของเขาก็จะไม่ถูกควบคุมโดยการแสวงหาอาหาร เป็นต้น



2. แรงจูงใจระดับสูง (Growth motive ) แรงจูงใจระดับสูงจะตรงข้ามกับแรงจูงใจเบื้องต้น เพราะเป้าหมายของแรงจูงใจชนิดนี้เป็นเป้าหมายระยะไกลซึ่งเกี่ยวข้องกับพลังที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเพื่อที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคคล จุดประสงค์ของแรงจูงใจระดับสูงก็เพื่อจะปรับปรุงความเป็นอยู่โดยการเพิ่มพูนประสบการณ์ ซึ่งไม่เหมือนกับแรงจูงใจเบื้องต้นเพราะแรงจูงใจเบื้องต้นเกิดขึ้นเพื่อลดหรือเพิ่มความตึงเครียด ตัวอย่างของแรงจูงใจระดับสูง เช่น บุคคลที่เลือกเรียนวิชาอินทรียเคมีก็เพราะว่าเขาต้องการที่จะทราบเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับวิชานี้ซึ่งสะท้อนให้เห็นแรงจูงใจระดับสูงมากกว่าจะเป็นแรงจูงใจเบื้องต้น แรงจูงใจระดับสูงจะแสดงออกอย่างเด่นชัดภายหลังที่แรงจูงใจเบื้องต้น แรงจูงใจระดับสูงจะแสดงออกอย่างเด่นชัดภายหลังที่แรงจูงใจเบื้องต้นได้รับความพึงพอใจแล้ว เช่น บุคคลจะไม่มีความสนใจที่จะเรียนวิชาอินทรียเคมีอย่างแน่นอนถ้าเขากำลังได้รับความอดอยากแทบจะสิ้นชีวิต

แรงจูงใจระดับสูงและความเจ็บป่วยทางจิต (Metaneeds and Metapathologies) ภายหลังจากที่ Maslow ได้อธิบายถึงแรงจูงใจเบื้องต้นและแรงจูงใจระดับสูงแล้ว เขาก็ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับแรงจูงใจระดับสูงเป็นเสมือนสัญชาตญาณหรือเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเช่นเดียวกับแรงจูงใจเบื้องต้น และแรงจูงใจระดับสูง ถ้าได้รับการตอบสนองให้เกิดความพึงพอใจก็จะรักษาสภาพและพัฒนาให้เกิดสุขภาพจิตที่ดี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าบุคคลอาจเกิดความเจ็บป่วยทางจิต(psychologically sick)เป็นความเจ็บป่วยที่เป็นผลมาจากความล้มเหลวในการบรรลุถึงความสมบูรณ์หรือความเจริญก้าวหน้าMaslowเรียกความเจ็บป่วยนี้ว่า “metapathologies” ซึ่งเป็นสภาพของจิตใจที่มีอาการเฉยเมย (apathy) มีความผิดปกติทางจิต (alienation) เศร้าซึม (depress) ความคับข้องใจของแรงจูงใจระดับสูงและความเจ็บป่วยทางจิตได้แสดงไว้ในตาราง ดังต่อไปนี้







ตารางแสดงเรื่องความคับข้องใจของแรงจูงใจระดับสูงและความเจ็บป่วยทางจิต



แรงจูงใจระดับสูง

ค่านิยมของแรงจูงใจระดับสูง ความเจ็บป่วยทางจิต

ความซื่อสัตย์ ความรู้สึกไม่ไว้วางใจ ความรู้สึกสงสัย

ความสวยงาม จิตใจแข็งกระด้าง ไม่มีรสนิยม รู้สึกโดดเดี่ยว และเศร้าหมอง

ความเป็นเอกลักษณ์ สูญเสียความรู้สึกที่มีต่อตัวเองและความเป็นเอกัตบุคคล

ความสมบูรณ์แบบ สิ้นหวัง ขาดจุดหมายในการทำงาน มีความสับสน

ความยุติธรรม มีความโกรธ ไม่เคารพกฎหมาย เห็นแก่ตัว

ความสนุกสนาน เคร่งเครียด เศร้าซึม ขาดความมีชีวิตชีวา ไม่รื่นเริง

ความดีงาม ความรู้สึกเกลียดชัง แสดงความรังเกียจ ไว้วางใจแต่ตนเอง

ความรู้สึกง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ความซับซ้อนมากเกินไป มีความสับสน งุนงง



แรงขับ (Drive) เป็นสภาวะของการถูกกระตุ้นที่มาจากความต้องการ และมีบทบาทอย่างมากต่อแรงจูงใจของบุคคล ได้แก่ ความหิว (Hunger) ความกระหาย (Thirst) และเพศ (Sex)

ความหิว (Hunger) เป็นแรงขับทางกายภาพที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการอยู่รอดของมนุษย์ เนื่องจากกลไกของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับความหิวนั้น เป็นกลไกที่ซับซ้อนอีกทั้งพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนเรานั้นเป็นผลเนื่องจากการเรียนรู้ในสังคม ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมการทำอาหารรับประทานอันเนื่องมาจากความหิวนั้น จึงควรได้มีการพิจารณากับอิทธิพลทางด้านร่างกาย และทางด้านสังคมและสภาพแวดล้อม

ความกระหาย (Thirst) ในที่นี้หมายถึง การกระหายน้ำ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นแรงขับทางกายภาพที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของมนุษย์ เนื่องจากเลือดและของเหลวรอบ ๆ เซลล์ร่างกายเกิดจากความเข้มข้นมากขึ้น

เพศ (Sex) ความต้องการทางเพศเกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ พฤติกรรมทางเพศของบุคคลย่อมจะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของบุคคล และวัฒนธรรมของแต่ละสังคม

แรงเสริม (Reinforcement) คือ การทำให้บุคคลแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพิ่มขึ้นและลดลง โดยใช้ "ผลที่ได้ consequences" จากการแสดงพฤติกรรมนั้นเป็นสิ่งจูงใจ หลักการ มีอยู่ว่า บุคคลจะแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพิ่มขึ้น เมื่อได้รับความพึงพอใจ จากการแสดงพฤติกรรมนั้น และจะแสดงพฤติกรรมบางอย่างลดลงหรือไม่แสดงเลย เมื่อผลจากการแสดงพฤติกรรมนั้นก่อให้เกิดความไม่สบายใจ ความเจ็บปวด หรือความทุกข์



ประเภทของแรงจูงใจ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. แรงจูงใจในแง่บวก เป็นแรงจูงใจ แบบ "ไม้นวม" เพื่อลดความกระวนกระวาย โดยการให้สิ่งที่มีคุณค่า ตามที่ผู้ถูกจูงใจต้องการทำให้ผู้ถูกจูงใจยินดีทำงานด้วยความพอใจและเต็มใจ

2. แรงจูงใจในแง่ลบ เป็นแรงจูงใจแบบ "ไม้แข็ง" โดยการข่มขู่ให้ทำงาน การทำงานหรือตำหนิติเตียน เมื่อทำผิดหรือทำไม่ดี เพื่อทำใหม่ให้ดีให้ได้ ผู้ถูกจูงใจด้วยวิธีนี้จะทำงานด้วยความไม่เต็มใจ ไม่พอใจเพราะถูกขู่บังคับ ผลผลิตหรือผลงานที่ออกมาจะแตกต่างไปจากผลผลิตที่เกิดจากแรงจูงใจโดยวิธีบวก

แรงเสริม (reinforcement ) แบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

1. ตัวเสริมแรงในทางบวก (Positive reinforce) เป็นตัวจูงใจให้บุคคลแสดงพฤติกรรมบางอย่างเพิ่มขึ้น

2. ตัวเสริมแรงทางลบ (Negative reinforce) ตัวเสริมแรงที่ทำให้ลดหรือหลีกเลี่ยงการแสดงพฤติกรรม



วิธีการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

ทรัพย์ (Economic Rewards) เป็นตัวเสริมแรงที่นิยมใช้ในองค์การที่เชื่อว่ามีประสิทธิผลต่อการกำหนดพฤติกรรมคือ รางวัลผลตอบแทน เช่น เงินเดือนและการเลื่อนขั้น เป็นประโยชน์ในการสร้างประสิทธิผลให้กับองค์การ 3 ประการ คือ

1. ใช้จูงใจพนักงานให้เข้าร่วมทำงานกับองค์การ

2. ใช้จูงใจให้พนักงานรัก และเต็มใจที่จะมาทำงานเป็นประจำ

3. ใช้จูงใจพนักงานให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

โครงสร้างการจ่ายผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพ สร้างได้จาก 3 ทาง คือ

1. การเปรียบเทียบผลตอบแทนกับคู่แข่งขัน

2. ระบบการประเมินค่างาน (Job Evaluation)

3. การประเมินผลการปฏิบัติงานที่ดี

นอกจากนี้แล้ว ผู้บริหารที่จะนำไปใช้ต้องทราบรายละเอียดที่สำคัญดังต่อไปนี้ ประการแรกคือคุณลักษณะของรางวัล และของตอบแทนที่สำคัญชนิดต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ ประการที่สองคือ วิธีการเชื่อมโยงค่าตอบแทนให้สัมพันธ์กับผลงานของผู้ปฏิบัติงาน

เงื่อนไขต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องมี เพื่อที่จะให้ระบบรางวัลผลตอบแทนสามารถนำมาใช้จูงใจ ผลการทำงานได้ คือ

1. ผลตอบแทนที่สำคัญจะต้องมีการให้จริงๆ

2. ผลตอบแทนต้องมีความแตกต่างกัน และสอดคล้องกับผลงาน

3. ผลงานต้องสามารถวัดได้ถูกต้องและจริงจัง

4. ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวกับการใช้รางวัลผลตอบแทนต้องสามารถเปิดเผยให้ทราบได้ทั่วกัน

5. ความเชื่อถือต่อระบบรางวัลผลตอบแทนต้องถึง

6. หัวหน้างานจะต้องเต็มใจให้คำอธิบายหรือคำชี้แจงและให้การสนับสนุนต่อการใช้ระบบนี้ โดยเต็มใจพูดกับลูกน้อง


บรรณานุกรม


กองบริการการศึกษา.มหาวิทยาลัยนเรศวร. [Online]. Available URL: http://www.acad.nu.ac.th/relation.htm

จิตรลดา วัฒนาพรรณกิตติ.(มปป.) เอกสารประกอบการสอนวิชามนุษยสัมพันธ์ในองค์การ.

โปรแกรมวิชาการบริหารธุรกิจและการจัดการทั่วไป คณะวิทยาการจัดการ สถาบันราชภัฏลำปาง.

ชัยพร วิชชาวุธ .มูลสารจิตวิทยา.กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,491 หน้า, 2525.

ชุติมา วงษ์สวัสดิ์. [Online]. Available URL: http://www.neepandin.com/data/society/society2b.htm

นารี จิตรรักษา.ราชภัฎเชียงราย. [Online]. Available URL: http://www.edu.ricr.ac.th/naree/

บริษัทมีดส์จอนสัน.. [Online]. Available URL: http://www.meadjohnson.bms.co.th/t_momsm1.htm

พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ .มนุษยสัมพันธ์ (พิมพ์ครั้งที่ 4 ฉบับปรับปรุงแก้ไข) คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ.

[Online]. Available URL: http://www.chula.ac.th/services/cupress/04.htm

พระราชวรมุนี (ประยูร ธมมจิตโต). [Online]. Available URL: http://www.wfb-hq.org/specth4.htm

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์, 930 หน้า,2525.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร : อักษรเจริญทัศน์, 2538.

มหาวิทยาลัยขอนแก่น. [Online]. Available URL:http://websis.kku.ac.th/abstract/thesis/medu/

eda/2538/eda380038t.html

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. [Online]. Available URL: http://sut2.sut.ac.th/ Human_Resources/ development.htm

ยงยุทธ เกษสาคร.ภาวะผู้นำและการจูงใจ. กรุงเทพมหานคร : เสมาธรรม,2521.

โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย. [Online]. Available URL: http://www.yupparaj.ac.th/webpage/business/page6.html

โรงเรียนปราสาทวิทยาคาร จ.สุรินทร์. [Online]. Available URL:http://www.pwk.ac.th/ data_school/

hope2.html

วิจิตร อาวะกุล. เทคนิคมนุษยสัมพันธ์.พิมพ์ครั้งที่ 8,กรุงเทพมหานคร : โอ.เอส.พริ้นติ้ง,300 หน้า,2542.

วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ. [Online]. Available URL:http://www.nationejobs.com/nationjob /tips_tools/

howto/ht020520.html

ศิริพงษ์ ศรีชัยรมย์รัตน์. กุญแจสู่ความเป็นเลิศทางการบริหารคน. หน้า 52 -55 .

สวัสดิ์ บรรเทิงสุข มนุษยสัมพันธ์ในองค์การ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ .[Online].

Available URL: http://edpg730.hypermart.net/ccop2.htm

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ.22 เมษายน 2544. [Online]. Available URL:http://www. bkknews.com/jud /

sun/20010404/page18.html

อำนวย แสงสว่าง. (2544).จิตวิทยาอุตสาหกรรม Industrial Psychology.พิมพ์ครั้งที่ 3, กรุงเทพมหานคร :

อักษราพิพัฒน์, 207 หน้า.

อาภา จันทรสกุล. (2529).ทฤษฏีและวิธีการให้คำปรึกษาในโรงเรียน. กรุงเทพมหานคร :

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

Copyright 2000-2001 Thai Smart Kids. [Online]. Available URL: http://www.thaismartkids.net/teacher/

Copy Right (c) 1999-2000 ThaiEJob.com . [Online]. Available URL: http://www.thaiejob.com /

IdeaBoard/Question.asp?GID=4

David, Keith. Human Behavior at Work., New York : Graw-Hill,Co.,1977.

http://www.ESIE HR CLUB - Human Relations มนุษยสัมพันธ์.html

http://www.hrcenter.co.th/HRKnowView.asp?id=173

http://teacher.stjohn.ac.th/tgkhem/lesson/01meaning.html

http://www.sombatlegal.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=421797

http://websis.kku.ac.th/abstract/thesis/medu/eda/2531/eda310002t.html

Titannetwork co.,ltd. [Online]. Available URL: http://www.thainetway.com/test/test5.php

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1