Thoracentesis to remove 1200cc of Plural Fluid at Harborview



การเจาะโพรงเยื่อหุ้มปอด (Thoracentesis)  โดย นิธิพัฒน์ เจียรกุล

ข้อบ่งชี้

1. เพื่อ นำสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดมาทำการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ

2. เพื่อระบายสารน้ำออก สำหรับ บรรเทาอาการหอบเหนื่อย ใน ผู้ป่วยที่มีสารน้ำ ในโพรงเยื่อหุ้มปอด จำนวนมาก
3. เพื่อระบายลมออกสำหรับผู้ป่วยที่มี ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (pneumothorax)
ข้อห้าม

1. สารน้ำ ในโพรงเยื่อหุ้มปอด มีปริมาณน้อย ( โดยการถ่ายภาพรังสีทรวงอกในท่าตะแคงด้านที่มีสารน้ำลง และพบขอบของสารน้ำห่างจากขอบในของกระดูกซี่โครงไม่ถึง 10 มม . แต่ถ้าอยู่ระหว่าง 10 -15 มม . อาจใช้เครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงช่วยในการเจาะได้ )

2. ผู้ป่วยมี ภาวะเลือดออก ผิดปรกติ ที่รุนแรง

3. ผู้ป่วย ใช้ เครื่อง ช่วยหายใจ ( ไม่เป็นข้อห้ามตายตัว ถ้าจำเป็นให้เจาะด้วยความระมัดระวังและเตรียม พร้อม แก้ไข ในกรณีเกิดภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ)

4. มีการติดเชื้อรุนแรงผิวหนังบริเวณที่จะทำการเจาะ

อุปกรณ์

• Povidone iodine ผ้าเจาะกลาง สำลี ผ้ากอซ พลาสเตอร์ ถุงมือปลอดเชื้อ ยาชาพร้อมเข็มและกระบอกฉีดยา

• เข็มฉีดยาขนาด 18 หรือ 20 G ยาว 1.5 นิ้ว กระบอกฉีดยาขนาด 20 มล . หรือ 50 มล . สำหรับใช้เจาะ

• Three-way stopcock และสายยางยาวสำหรับต่อระบายลงขวด ถ้าไม่มีให้ใช้ชุดให้น้ำเกลือแทนโดยตัดสายตรงด้านกระเปาะที่จะแทงเข้าขวดน้ำเกลือออกแล้วต่อปลายด้านนั้นลงขวด ส่วนด้านที่จะต่อน้ำเกลือเข้ากับผู้ป่วยให้ต่อเข้ากับ three-way stopcock

• ขวดสำหรับเก็บสารน้ำส่งตรวจ

วิธีการ

1. ในกรณีที่มีสารน้ำเป็นจำนวนมากและไม่อยู่กับที่ (free fluid) จัดท่าให้ผู้ป่วยนั่งฟุบหน้าลงและวางแขนคร่อมบนโต๊ะขวางเตียง โดยผู้ทำการเจาะอยู่ด้านหลังของผู้ป่วย ถ้าเป็นสารน้ำที่อยู่กับที่ (loculated fluid) ให้จัดท่า และเลือกตำแหน่งที่เจาะตามการตรวจพบ ในกรณีเจาะโพรงเยื่อหุ้มปอดเพื่อระบายอากาศ ให้ผู้ป่วยนอนหงายหัวสูงและยกมือข้างนั้นพาดศีรษะ

2. หาตำแหน่งช่องซี่โครงที่จะทำการเจาะ สำหรับสารน้ำให้ดูจากภาพรังสีทรวงอก และเคาะดูบริเวณที่เริ่มเคาะทึบ แล้วเลื่อนต่ำลง ไปอย่างน้อย 1 ช่องซี่โครง เลือกจุดที่จะเจาะให้อยู่กึ่งกลางระหว่าง posterior axillary line กับ spinous process ในกรณีเจาะระบายอากาศเลือกทำที่ช่องซี่โครงที่ 3 ทางด้านหน้า

3. ใส่ถุงมือปลอดเชื้อและเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ ทำความสะอาดผิวหนังและปูผ้าเจาะกลางบริเวณที่เจาะ แล้วให้ผู้ช่วยยึดตรึงขอบบนของผ้าด้วยพลาสเตอร์เข้ากับเสื้อผ้าผู้ป่วย

4. ฉีดยาชาเข้าผิวหนังตำแหน่งที่จะเจาะและค่อยๆ ดันเข็มลึกเข้าไปพร้อมกับฉีดยาเรื่อยๆ ก่อนที่จะฉีดยาทุกครั้งให้ออกแรงดูดเบาๆเพื่อให้แน่ใจว่าปลายเข็มฉีดยาไม่ได้อยู่ในหลอดเลือด ให้ปลายเข็มชิดกับขอบบนของกระดูกซี่โครงซี่ล่าง ใช้ยาชาประมาณ 3-5 มล . เมื่อรู้สึกผ่านแรงต้านบริเวณเยื่อหุ้มปอดไปแล้ว ให้ออกแรงดูดจนได้สารน้ำหรืออากาศเข้ามาในกระบอกฉีด - ยาชา ประมาณความลึกของตำแหน่งที่เจาะดูดแล้วถอนกระบอกฉีดยาชาพร้อมเข็มออก

5. สวมเข็มขนาด 18 G เข้ากับ three-way stopcock แล้วนำไปต่อเข้ากับกระบอกฉีดยาขนาด 20 มล. ต่อสายยางเข้ากับปลาย ที่เหลือของ three-way stopcock โดยให้ปลายสายอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งที่เจาะ

6. แทงเข็มในแนวตั้งฉากกับบริเวณที่ฉีดยาชาจนลึกถึงตำแหน่งที่ประมาณไว้เดิม ระวังไม่ให้เลือดที่ออกจากการฉีดยาชาปนเปื้อนขณะแทง เพราะอาจจะมีผลต่อการวิเคราะห์สารน้ำที่ได้ เมื่อรู้สึกว่าเข็มผ่านเยื่อหุ้มปอดแล้ว ให้หาตำแหน่งที่สามารถ ดูดสารน้ำหรืออากาศไหลเข้ามาในกระบอกฉีดยาได้อย่างสม่ำเสมอแล้วตรึงตำแหน่งเข็มไว้ให้คงที่ ดูดสารน้ำ หรืออากาศจนเต็มกระบอกฉีดยา ปรับทิศทาง three-way stopcock เพื่อดันสารน้ำหรืออากาศจากกระบอกฉีดยาลงสู่ขวด ถ้าต้องการระบายสารน้ำหรืออากาศออกมากให้เปลี่ยนเป็นกระบอกฉีดยาขนาด 50 มล . ทำซ้ำๆจนได้ปริมาณที่ต้องการ
7. ถอนเข็มออก กดห้ามเลือดด้วยสำลีแห้งปลอดเชื้อจนเลือดหยุด ปิดตำแหน่งที่เจาะด้วยผ้าก๊อซและพลาสเตอร์

ภาวะแทรกซ้อน


• ภาวะอากาศในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) จากการฉีกขาดของเนื้อปอด

• ภาวะเลือดออกในโพรงเยื่อหุ้มปอดหรือผนังทรวงอกจากการฉีกขาดของหลอดเลือด

• ปอดบวมน้ำหลังขยายตัว (reexpansion pulmonary edema) เกิดจากการดูดสารน้ำออกไปเร็วหรือมากเกิน ป้องกันโดยเจาะสารน้ำออกครั้งละไม่เกิน 1 ลิตร และไม่เร็วกว่า 15 นาที

• อาการเป็นลมจาก vasovagal reflex ความกลัว หรือ ความเจ็บปวด

• ภาวะพร่องออกซิเจนจากการเจาะสารน้ำออกจำนวนมาก

• การติดเชื้อในโพรงเยื่อหุ้มปอด

• การตกเลือดในช่องท้องจากการเจาะเข้าช่องท้องทำให้มีการฉีกขาดของตับ หรือม้าม


เอกสารประกอบ
1. นันทา มาระเนตร์ . การเจาะช่องเยื่อหุ้มปอดและการตัดเยื่อหุ้มปอดเพื่อตรวจ . ใน : สง่า นิลวรางกูร ,จินตนา ศิรินาวิน , บรรณาธิการ . การปฏิบัติการและหัตถการทางอายุรศาสตร์ , โครงการตำราศิริราช , กรุงเทพมหานคร , เรือนแก้วการพิมพ์ , 2532;151-8.

2. Light RW. Thoracentesis (diagnostic and therapeutic) and pleural biopsy. In : Light RW, ed.

Pleural disease 3 rd edition, Williams & Wilkins, Baltimore, 1995;311-26.



ที่มา
http://www.si.mahidol.ac.th/department/Medicine/home/chest/b08.htm

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1