การทบทวนวรรณกรรม

เรียบเรียง โดย ฐานิกา บุษมงคล 

วรรณกรรม (literature) 
หมายถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้มีการเก็บบันทึกรวบรวมไว้อย่างเป็นระเบียบในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษา

วัตถุประสงค์ของการศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ
1. เพื่อให้ทราบว่ามีผู้ใดเคยศึกษาหรือวิจัยมาก่อน
2. เพื่อให้ทราบถึงวิธีการศึกษาของผู้วิจัยอื่นๆ
3. เพื่อให้ทราบปัญหาและอุปสรรคของงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
4. เพื่อให้ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจในแนวคิด ทฤษฎี หลักการตลอดจนตัวแปรที่เกี่ยวข้อง
5. ทำให้สามารถเชื่อมโยงงานวิจัยของตนเองเข้ากับผลงานวิจัยที่อาจมีบุคคลอื่นได้ทำมาแล้ว

วรรณกรรมที่ผู้วิจัยสามารถค้นคว้ามี 12 ประเภท ได้แก่
1 หนังสือ 
2 หนังสืออ้างอิง 
3 วารสารและจุลสาร 
4 ข่าวสาร 
5 หนังสือพิมพ์
6 เอกสารประกอบการประชุมสัมมนา
7 รายงานการวิจัย
8 วิทยานิพนธ์
9 สารนิพนธ์
10 เอกสารสิ่งพิมพ์อื่นๆ  ได้แก่ รายงานการประชุม คำสั่ง หนังสือเวียน รายงาน   การศึกษาดูงาน  รายงานประจำปีของหน่วยงาน
11 ไมโครฟิลม์
12 ฐานข้อมูล

กระบวนการของการค้นคว้าวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องมี 5 ขั้นตอน  คือ
1 กำหนดเรื่อง หัวเรื่อง หัวข้อเรื่องให้มีความชัดเจน
2 กำหนดขอบเขตและประเภทของข้อมูลที่ต้องการ
3 กำหนดประเภทของวรรณกรรม
4 พิจารณาแหล่งค้นคว้า
5ปฏิบัติตามระบบ วิธีการ และกระบวนการ ศึกษาตามแต่ละประเภทของวรรณกรรม
6 อ่านทบทวนและบันทึกข้อมูล

ขั้นตอนการทบทวนวรรณกรรม
1. กำหนดขอบเขตของการทบทวนวรรณกรรม
2. ค้นหาเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
3. เลือกเอกสารและรายงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
4. การอ่านเอกสาร
5. บันทึกข้อมูล
6. การวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น

รูปแบบการเขียน 
รูปแบบการเขียน ตอนนำไปเขียนให้ประกอบด้วยหัวข้อหลักและหัวข้อรอง  

การเขียนทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง
     เป็นตอนแรกของผลการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจทฤษฎีหรือแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรของการวิจัย เพื่อนำมาใช้สร้างกรอบความคิดของการวิจัยทั้งหมดในการวิจัยครั้งนี้

     1. รูปแบบการเขียน ทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เขียนให้ประกอบด้วยหลักฐานจากการทบทวนและข้อสรุปของการทบทวน  ตัวอย่างเช่น
          ในการวิจัยเรื่อง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางการเรียนกับผลการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของผู้สมัครสอบ ประจำปี 2548
          ผลการทบทวนนิยามของคำว่า ‘การสอบคัดเลือก’ มีรูปแบบการนำเสนอดังนี้
คำว่า ‘การสอบคัดเลือก’ มีผู้ให้นิยามไว้หลายความหมาย ดังนี้
                     วิจิตร ศรีสะอ้านกล่าวว่า การสอบคัดเลือกหมายถึง………
                     อุทุมพร จามรมาน กล่าวว่า การสอบคัดเลือก  หมายถึง………
                     วันชัย ศิริชนะ กล่าวว่า การสอบคัดเลือก หมายถึง …………
                     เกษม วัฒนชัย กล่าวว่า การสอบคัดเลือก หมายถึง………… 
        จากนิยามข้างต้นผู้วิจัยสามารถสรุปได้ว่าการสอบคัดเลือก หมายถึง.......

              ตัวอย่าง การวิจัยเรื่อง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางการเรียนกับผลการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของผู้สมัครสอบ ประจำปี 2548   ผู้วิจัยได้สรุปผลการทบทวนวรรณกรรมออกเป็น 3 ตอน คือ
             ตอนที่1 ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นิยามรูปแบบและขั้นตอนวิธีการ
             ตอนที่2 ปัจจัยทางการเรียน ประกอบด้วยนิยาม องค์ประกอบ และความสำคัญ
             ตอนที่3 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยปัจจัยทางการเรียน การสอบคัดเลือก และความสัมพันธ์ของตัวแปรทั้งสอง
             ตอนที่4 กรอบความคิดของการวิจัยครั้งนี้

     2. หลักการเขียน การเขียนทฤษฎีและเอกสารที่เกี่ยวข้องมีหลักการทั่วไปดังนี้
          (ก)เขียนเป็นตอนและแบ่งเป็นหัวข้อ
          (ข)เขียนด้วยภาษาทางวิชาการและมีการอ้างอิง
          (ค)เขียนให้มีข้อสรุปแต่ละตอน ที่สามารถนำไปใช้เขียนนิยามหรือตั้งสมมุติฐานการวิจัยได้
          (ง)เขียนด้วยภาษาของตนเองไม่ตัดตอนมาปะ
          (ข)เขียนผลการทบทวนให้ครอบคลุมเกี่ยวกับตัวแปร เทคนิควิธี วิจัย เครื่องมือการวิจัยที่เฉพาะของการวิจัยนี้

     3.งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
        งานวิจัยที่เกี่ยวข้องเป็นตอนที่สองของผลการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรของการวิจัยและระเบียบวิธีวิจัย เพื่อนำมาใช้ออกแบบการวิจัยและสังเคราะห์ข้อค้นพบมาใช้อ้างสรุปในการวิจัยครั้งนี้
3.1 รูปแบบการเขียน งานวิจัยที่เกี่ยวข้องเขียนให้ประกอบด้วยผู้วิจัย ชื่อเรื่อง วัตถุประสงค์การวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย ข้อค้นพบและข้อสรุปของนักวิจัย  

หลักการเขียน การเขียนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีหลักการทั่วไปดังนี้
(ก)เขียนผลการทบทวนงานวิจัยเรื่องละประมาณ10 บรรทัด
(ข)เขียนผลการทบทวนทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรเดียวกัน
(ค)เขียนผลการทบทวนงานวิจัยที่มีระเบียบวิธีวิจัยตรงกัน

(ง)เขียนผลการทบทวนตามลำดับเนื้อหา เวลาหรือตามตัวแปร

ตัวอย่างเช่น ในการวิจัยเรื่อง การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางการเรียนกับผลการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยของผู้สมัครสอบ ประจำปี 2548 ผลการทบทวนงานวิจัย มีรูปแบบการนำเสนอดังนี้
ในปี พ.ศ.2544 สมพร เขียวเหลือง ได้ทำการวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าศึกษาต่อของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง จำนวน 452 คน เครื่องมือการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามจำนวน 1 ชุด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยาย การวิเคราะห์ความแปรปรวนและวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษา ประกอบด้วยชื่อเสียงของโรงเรียน คุณภาพของครู อัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ความต้องการของผู้ปกครอง แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนักเรียน อิทธิพลของกลุ่มเพื่อน

ในปี พ.ศ.2546  วิชัย มานะชัย ได้ทำการวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างผลการเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกับคะแนนเฉลี่ยสะสมชั้นปีที่4ของนิสิตในมหาวิทยาลัยรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการพยากรณ์ของผลการเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นิสิตในมหาวิทยาลัยของรัฐ 4 แห่ง จำนวน 580 คน เครื่องมือการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามจำนวน 1 ชุด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติบรรยายและวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ผลการวิจัยพบว่า ผลการเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกับคะแนนเฉลี่ยสะสมในมหาวิทยาลัยมีค่าความสัมพันธ์เชิงบวกในระดับสูงมาก
จากการทบทวนงานวิจัยข้างต้น ผู้วิจัยสรุปได้ว่า ปัจจัยทางการเรียนที่มีผลต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของผู้สมัคร ประกอบด้วย ชื่อเสียงของโรงเรียน คุณภาพของครู อัตราการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ความต้องการของผู้ปกครอง แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนักเรียน อิทธิพลของกลุ่มเพื่อน และคะแนนสอบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

ตัวอย่าง

ตัวอย่างการเขียนวรรณกรรมโดยใช้รูปแบบการเขียนทีละเรื่องตามลำดับไป
     โดนัลด์ พี วอร์วิค (Donald P. Warwick) เห็นว่า  ความคลุมเครือในเป้าหมายเกี่ยวกับงานจะทำให้ข้าราชการหันไปยึดถือวิธีการ (Means-Oriented) มากกว่าการยึดถือเป้าหมาย (Goals-Oriented) เพราะข้าราชการจะไม่แน่ใจว่าการนำนโยบายไปปฏิบัติมุ่งให้เกิดผลอะไร หรือมุ่งให้เกิดผลดีอย่างไร แต่การกำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานของงานที่สร้างขึ้น จะช่วยทำให้ข้าราชการเกิดความมั่นใจว่าเขาได้ทำตามหนทางที่ถูกต้อง (Right Way)และถือว่าเป็นทางออกที่ดีของข้าราชการ (Warwick, 1975) ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ กันน์ที่เห็นว่าประสิทธิผลที่สมบูรณ์ของการนำนโยบายไปปฏิบัติต้องการความเข้าใจ และความเห็นพ้องต่อวัตถุประสงค์ที่ต้องการบรรลุถึงอย่างมาก (Gunn, 1978 : 173)

     ดอนนา เอช เคอร์ (Donna H. Kerr) กล่าวว่า ความล้มเหลวประการหนึ่งของการนำนโยบายปฏิบัติก็ คือ การที่หน่วยงานที่รับผิดชอบในการนำนโยบายไปปฏิบัติไม่ได้มีการยึดเป้าหมาย (Kerr, 1976 : 360)

     แวน มิเตอร์และแวน ฮอร์น (Van Meter and Van Horn) ก็ได้ให้ความสำคัญต่อมาตรฐานของนโยบายและวัตถุประสงค์ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะจะช่วยทำให้สามารถวัดถึงผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นได้ (Van Meter and VanHorn, 1975 : 464 ) เช่นเดียวกันกับเพรสแมนและวิลดาฟสกี้ (Pressman and Wildavsky) ที่มองว่า การนำนโยบายไปปฏิบัติไม่สามารถทราบได้ว่ามีประสิทธิผลหรือไม่ ถ้าไม่มีเป้าหมายที่จะนำมาใช้ในการวัด (Pressman and Wildavsky, 1973 : xiv) รวมถึงสอดคล้องกับแนวคิดของโรบิน แฮมเบิลตัน (Robin Hambleton) ที่เห็นว่าความคลุมเครือของนโยบายจะทำให้ยากที่จะระบุตัวชี้วัดการปฏิบัติหรือระบุกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน  (Hambleton, 1983)

รูปแบบการอ้างอิง
1.อ้างอิงเชิงอรรถ(footnote style) ท้ายหน้าที่อ้างอิง โดยมีชื่อผู้แต่ง  ชื่อหนังสือ  หรือ บทความ ปีที่พิมพ์ และหมายเลขหน้า
2.อ้างอิงระบบ นาม-ปี (Author-Date Style) มีเฉพาะชื่อ นามสกุล ปีที่พิมพ์  และหมายเลขหน้า โดยวงเล็บไว้หลังข้อความ ที่อ้างอิง

ที่มา
1. ธัชพนธ์ โชคสุชาติ. (2551). ขั้นตอนในการทบทวนวรรณกรรม. เผยแพร่ทาง http://www.bestwitted.com.เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2556.
2. กฤษดา กรุดทอง. (2549). การเขียนบทนำและการทบทวนวรรณกรรม. เผยแพร่ทาง http://www.gotoknow.org/files/24228 .เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2556.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1