เคลียร์คัทชัดเจนกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลในมุมมองทางการพยาบาล

loading...

เคลียร์คัทชัดเจนกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลในมุมมองทางการพยาบาล

โดย ฐานิกา บุษมงคล พย.บ. มหาวิทยาลัยมหิดล, พย.ม. มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทนำ

เรามักพูดกันว่า การทำงานหรือให้บริการการพยาบาลนั้นต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล 2 คำนี้เราได้ยินกันมาตลอด แต่พอถามว่า ทำการพยาบลอย่างไรจึงจะเรียกว่า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ก็จะเกิดอาการงงๆ สับสน และไม่สามารถอธิบายอย่างชัดเจนขึ้นมาทันที ดังนั้นในวันนี้ จึงอยากจะมา "เคลียร์คัทชัดเจนกับคำว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลในมุมมองทางการพยาบาล" กันดูสักที


ทำความเข้าใจกันก่อน

หากเราอ่านหนังสือ ตำรา ก็จะพบคำอธิบายของ 2 คำนี้ว่า
ประสิทธิภาพ (efficiency) หมายถึง ผลสำเร็จที่พิจารณาในแง่ของเศรษฐศาสตร์ ที่มีตัวบ่งชี้ ได้แก่ ความประหยัด หรือคุ้มค่า (ประหยัดต้นทุน ประหยัดทรัพยากร ประหยัดเวลา) ความทันเวลา และ มีคุณภาพ (ทั้งกระบวนการ ได้แก่ Input Process และ Output)

ประสิทธิผล (effectiveness) หมายถึง การบรรลุตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่พึงปรารถนาหรือเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ พูดง่ายๆ ชัดๆ ก็คือ ประสิทธิผล พิจารณาจากการนำผลของงาน โครงการ หรือกิจกรรม ที่ได้รับเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมาย

อ่านแล้วก็ยังงงๆ โยงมาเข้ากับการพยาบาลไม่ได้อยู่ดี ไหนลองแปลใหม่ ให้เข้าใจง่ายขึ้นดูสิ
ประสิทธิภาพ คือ การทำอะไรก็ตาม แล้วเสร็จทันเวลา มีคุณภาพดี และมีความประหยัด ถ้าอธิบายอย่างนี้แล้วง่ายขึ้นหรือไม่
ส่วน ประสิทธิผล ก็คือ ผลของงาน หรือ ผลสำเร็จของงานตามที่ตั้งเป้าหมายไว้
ดีขึ้นไหมคะ อธิบายแบบนี้


คราวนี้เราก็เชื่อมโยงมาสู่การพยาบาลกันนะคะ 

การเช็ดตัวลดไข้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอาง่ายๆเลย การเช็ดตัวลดไข้ถ้าเราพูดว่า การเช็ดตัวลดไข้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องประกอบด้วย 
1 เสร็จตามเวลาที่กำหนด เช่น กำหนดไว้ว่าเช็ดตัวเคสละ 20 นาที ก็ทำได้ตามเวลา ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพ
2 ประหยัด คือ เช็ดตัวโดยใช้ผ้า 10 ผืน กับ 20 ผืน แล้วพบว่า ลดไข้ได้เท่าๆกัน ดังนั้นการใช้ผ้า 10 ผืน ก็คือมี ประสิทธิภาพมากกว่า
3 มีคุณภาพดี คือในการเช็ดตัวลดไข้ อุณหภูมิหลังเช็ดต้องลดลง 1 องศาเซลเซียส ในการเช็ดตัวลดไข้ครั้งนี้ก็สามารถลดได้ตามนั้น ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพ
ต้องมีทั้ง 3 ข้อนี้นะคะ จึงจะถือว่า เป็นการเช็ดตัวลดไข้ที่มีประสิทธิภาพ 


การเช็ดตัวลดไข้อย่างมีประสิทธิผล

จะพูดว่าเช็ดตัวลดไข้นั้นมีประสิทธิผลหรือไม่ก็ต้องเทียบกับเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ หลังจากที่เราทำการพยาบาลเสร็จแล้ว  ยกตัวอย่างเช่น

1ในการเช็ดตัวลดไข้เราตั้งวัตถุประสงค์ว่า เพื่อให้อุณหภูมิกายลดลง 1 องศาเซลเซียส หลังจากเช็ดตัวเสร็จแล้ววัดอุณหภูมิกายผู้ป่วยลดลง 1 องศาเซลเซียส อย่างนี้ถือว่า มีประสิทธิผล

2ในการเช็ดตัวลดไข้เราตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณว่า 20 นาทีต้องเช็ดเสร็จ 1 เคส เราทำได้ตามนั้น ก็คือมีประสิทธิผล

3ในการเช็ดตัวลดไข้เราตั้งเป้าหมายเชิงคุณภาพว่า หลังเช็ดตัวลดไข้แล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกสุขสบายขึ้น เมื่อเช็ดตัวเสร็จ เราถามผู้ป่วย ผู้ป่วยก็ตอบเราว่า สุขสบายขึ้น นั่นคือ มีประสิทธิผล

นั่นหมายความว่า เมื่องานเสร็จแล้ว เราก็นำผลของงานมาเทียบกับ  ตัวชี้วัด(Indicator)  ที่ตั้งไว้ จึงจะทราบว่า งานนั้นมีประสิทธิผลหรือไม่

 ตัวชี้วัด(Indicator) ว่ามีประสิทธิผลหรือไม่นี่แหละ ที่เป็นเครื่องมือที่สำคัญของผู้บริหารการพยาบาล ในการบริหารการพยาบาลให้มีประสิทธิผลด้วยเช่นกัน
   

บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของนางฐานิกา บุษมงคล
สามารถแชร์ได้ แต่ห้าม copy
สนใจซื้อบทความชิ้นนี้ ติดต่อ aj.thanika@gmail.com หรือ โทรศัพท์ 085 645 8080

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1