ถึงเวลารื้อระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแล้วหรือยัง?

loading...
ถึงเวลารื้อระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแล้วหรือยัง?

โดย ฐานิกา บุษมงคล
พยาบาลศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล
พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในปี 2558 ได้เกิดคดีสะเทือนขวัญ ผู้ป่วยจิตเวชได้สังหารเด็ก 5 ศพ เป็นเรื่องราวที่สะเทือนใจทั้งครอบครัว และคนในสังคม บล็อก EDUTAINMENT SOCIETY BY THANIKA จึงต้องเขียนบทความเรื่องนี้ไว้ เผื่อจะเป็นบทเรียน และง่ายในการสืบค้น เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับวงการสาธารณสุขไทยโดยตรง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางจิตเวช จึงเขียนตามความเห็นในเชิงของการบริหารตามสาขาที่ตนเองร่ำเรียนมา

บทนำ
บทเรียนราคาแพงของสังคมไทย ซึ่งมีทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว การที่มีอาชญากรรมเกิดขึ้นมากมายในสังคมไทยนั้น หากวิเคราะห์ให้ดี อืม ว่าแต่เป็นหน้าที่ของใครดีล่ะคะ ที่จะต้องทำงานนี้ ต่อค่ะ ถ้าวิเคราะห์ให้ดี เราจะพบว่าเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจและสังคม  และ พันธุกรรม ฯลฯ ที่บ่มเพาะมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ ให้เป็นคนจิตป่วย

ลักษณะของคนเหล่านี้ โดยสังเขป
   1 มีพละกำลังที่มากกว่าคนทั่วไป ไม่กิน ไม่นอน ไม่อาบน้ำ อยู่เหนือเชื้อโรคใดๆ
   2 มี judgement หรือความคิดการตัดสินใจที่ผิดแผกแตกต่าง แปลผลการ กระทำจากดำเป็นขาว จากขาวเป็นดำ เช่น
      2.1 ภรรยาบอกว่ารัก ก็คิดซับซ้อนถอดสมการสองชั้นแล้วแปลว่า ภรรยากำลังนอกใจ
      2.2 เห็น ภรรยาชงกาแฟให้ ก็ มโนว่าเดี๋ยวจะถูกภรรยาวางยา เลยไม่ยอมดื่มกาแฟ ไม่กินข้าวกินปลา ไม่ดื่มน้ำ ยกตัวอย่างได้ประมาณนี้
      2.3 พยาบาลจะป้อนยาก็บ้วน พ่นใส่ เพราะคิดว่าตัวเองกำลังถูกป้อนยาพิษ

   3 หูจะมีเสียงแว่วคนสั่งการให้ทำโน่นนั่นนี่ หรือแว่วว่ามีคนมากระซิบเตือนว่าคนอื่นจะมาทำร้าย  หรือบางครั้งก็มีเสียงมากระซิบบอกว่าคุณเป็นสไปเดอร์แมน เป็นพระพุทธเจ้า เป็นร่างทรง เป็นพระเจ้าตากสิน ประมาณนี้

   4 ส่วนตาก็จะเห็นภาพหลอน เช่น เห็นคนขุดดิน ก็แปลความว่า กำลังฝังศพ และตนเองจะถูกฆ่าและฝังเป็นศพต่อไป

   5 ไม่ออกจากห้อง เพราะ กลัวถูกลอบฆ่า

   6 ไม่กินยาจิตเวช เพราะ คิดว่าตัวเองไม่ป่วย ไม่ได้เป็นอะไร หรือ ระแวงว่าตนเองจะถูกวางยา

   7 ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

ถึงเวลารื้อระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชแล้วหรือยัง?
แน่นอนว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญ สะเทือนความรู้สึกขึ้นแบบนี้ คำถามนี้ต้องถูกโยนไปที่วงการสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะแพทย์ พยาบาล  และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในสาขาจิตเวช อย่างช่วยไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นเจ้าภาพใหญ่ และหัวจักรสำคัญ

สำหรับผู้เขียนแล้วคิดว่า ทางสาขาจิตเวชควรจะถือโอกาสที่จะรื้อปรับระบบให้สามารถครอบคลุมการให้บริการ เพื่อการป้องกันผู้ป่วยจิตก่อเหตุอาชญากรรม จุดเน้นที่ผู้เขียนอยากให้เน้นมากที่สุด ในส่วนมิติอื่นๆนั้น ไม่ขอกล่าวถึง เพราะบุคลากรในสาขาเองก็คงจะพัฒนาไปตามลำดับ แม้จะรู้สึกว่าไม่ทันใจ แต่ก็พอจะเข้าใจข้อจำกัดในทางงบประมาณและจำนวนบุคลากรของสาขานี้ได้เป็นอย่างดี  กลับมาที่จุดเน้นของเราคือ "ทำอย่างไรจึงจะป้องกันผู้ป่วยจิตก่อเหตุอาชญากรรม" สำหรับความเห็นของผู้เขียน มีข้อเสนอแนะดังนี้

ข้อเสนอแนะในเชิงการบริหารเพื่อการป้องกันผู้ป่วยจิตก่อเหตุอาชญากรรม
1 การอบรม และฝึกฝนญาติทางด้านความรู้ ทักษะและทัศนคติในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช เพราะ โรคทางจิตนั้นเป็นสิ่งที่สังคมตีตราว่าเป็นโรคของคนบ้า น่ารังเกียจ ต้องการหลีกหนี หวาดกลัว และส่งผลให้ไม่อยากเรียนรู้ ไม่อยากเป็นผู้ดูแล จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญของบุคลากรสาขาจิตเวช ที่จะต้องถอดสมการข้อนี้

2 หยุดส่งผู้ป่วยที่ไม่มีญาติที่มีศักยภาพในการดูแลกลับบ้าน เช่น ผู้ป่วยที่ต้องอยู่ตัวคนเดียว บิดามารดาแก่ชราแล้ว ซึ่งเป็นที่มาของการที่ผู้ป่วยถูกล่ามโซ่ หรือ การขาดยา และอาการกำเริบ จนก่ออาชญากรรม ในการส่งผู้ป่วยกลับบ้านนั้น ต้องประเมินศักยภาพของญาติหรือบ้านก่อนส่งกลับ และที่ขาดไม่ได้คือการประเมินศักยภาพของหน่วยงานที่จะต้องรับดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจิตเวช ว่า มีความพร้อมในการรับดูแลต่อหรือไม่ ทั้งในแง่ของจำนวนบุคลากรและศักยภาพของบุคลากร

3 ยืดระยะเวลาการอยู่โรงพยาบาลให้นานขึ้นเป็นรายกรณี หยุดคิดว่า การที่มี LOS ยาวนานคือการดูแลผู้ป่วยไม่มีประสิทธิภาพ เพราะนั่นเป็นการมองเพียงมิติเดียวจนเกินไป โดยให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่มีลักษณะเหล่านี้
      3.1 รายที่มาโรงพยาบาลในลักษณะวิกฤต จะต้องให้อยู่โรงพยาบาลนานกว่าปกติ ไม่ใช่ให้ยา 2 สัปดาห์แล้วดูท่าทางดีขึ้นส่งกลับ เพราะการที่มาในลักษณะวิกฤติ ก็เป็นข้อบ่งชี้การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและที่ชุมชนในระดับหนึ่งว่าดูแลไม่ได้  และควรมีการเก็บข้อมูลว่า ถ้าส่งกลับบ้านหลังจากรับยาครบ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน หรือเวลาเท่าไหร่ จึงจะลดอัตราการ re-admission ได้
      3.2 ในรายที่มาโรงพยาบาลด้วยเหตุผลการขาดยา จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม เพราะการที่มาในลักษณะวิกฤติ ก็เป็นข้อบ่งชี้การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยที่บ้านและที่ชุมชนในระดับหนึ่งว่าดูแลไม่ได้
      3.3 ผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินว่าขาดผู้ดูแลที่มีศักยภาพ (caregiver) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยขาดยาและอาการกำเริบ
      3.4 ผู้ป่วยที่มีประวัติก่ออาชญากรรม

4 การพัฒนาระบบสารสนเทศหรือแอพพลิเคชั่น เพื่อเก็บ ประมวลผล และ แชร์ข้อมูลให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบบริการเพื่อป้องกันผู้ป่วยจิตเวชก่ออาชญากรรม

5 การสร้างทีม สิ่งนี้สำคัญ และจะช่วยอุดรูรั่วที่เกิดจากการที่ผู้ป่วยขาดญาติหรือผู้ดูแลที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ตามการพัฒนาระบบ หรือสร้างความเข้มแข็งให้กับพยาบาลและสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญก็จริง แต่ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่า ให้โยนภาระงานนี้ไปให้ โดยปราศจากการประเมินความพร้อมทั้งทางด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และจำนวนบุคลากร ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าภาระงานของ รพสต.นั้นล้นมือ ดังนั้นจึงเสนอแนะให้มีการเพิ่มบุคลากรด้านนี้เข้าไปเป็นผู้จัดการทีม คำว่าทีม ของผู้เขียนประกอบด้วยบุคคลเหล่านี้เป็นอย่างน้อย 1) บุคลากรสาธารณสุขระดับจังหวัดอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน 2) หน่วยกู้ภัย 3) ผู้นำชุมชนและคนในชุมชน และ4) ตำรวจ ฯลฯ

วิเคราะห์กรณี "อาซาผะ" มือฆ่าเด็ก 5 ศพ
รายละเอียดประกอบการวิเคราะห์
นายแพทย์ปริทรรศ ศิลปกิจ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่าสำหรับประวัติการรักษาตัวของ "อาซาผะ" ผู้ก่อเหตุนั้น ก่อนที่จะมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสวนปรุง เคยรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มาก่อน แต่ไม่ได้รักษาต่อเนื่องทำให้ อาการรุนแรงขึ้น และเข้าได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งนี้ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2558 ด้วยอาการควบคุมตัวเองลำบาก พร้อมกับอาการทาง จิตทั่วไป หูแว่ว ประสาทหลอน โดยได้รับการแอดมิทภายในเป็นเวลา 16 วัน ถือว่าอาการค่อนข้างหนัก ซึ่งทีมแพทย์ได้ให้การรักษาปรับตัวยาให้เหมาะสมอย่างใกล้ชิด กระทั่งสภาพจิตใจดีขึ้น ยาที่ใช้ไม่มีผลข้างเคียง จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ โดยออกจากโรงพยาบาลเมื่อ วันที่ 5 สิงหาคม และในวันที่ 28 สิงหาคม บิดาของนายอาซาผะ ก็ยังมารับยารักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลไชยปราการ กระทั่งเกิดเรื่องเศร้าสลดขึ้น

การวิเคราะห์
หากจะถอดบทเรียนจากเคสนี้ จะพบว่ามี keyword ที่สำคัญหลายคำดังนี้
- ผู้ป่วยได้รับการรักษาแต่ไม่ต่อเนื่อง
- เข้ารักษาที่โรงพยาบาลสวนปรุงด้วยอาการควบคุมตัวเองลำบาก พร้อมกับอาการทาง จิตทั่วไป หูแว่ว ประสาทหลอน
- การแอดมิทเป็นเวลา 16 วัน ถือว่าอาการค่อนข้างหนัก  จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ เมื่อ วันที่ 5 สิงหาคม
- วันที่ 28 สิงหาคม บิดาของนายอาซาผะ ก็ยังมารับยารักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลไชยปราการ
- 27 กันยายน ก่อเหตุสังหารเด็ก 5 ศพ
จาก keyword ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ผู้เขียนขอเสนอแนะให้ทีมจิตเวชนำไปทบทวน โดยเฉพาะ เรื่องการแอดมิทเป็นเวลา 16 วัน แล้วให้กลับบ้าน ทั้งๆที่มาด้วยอาการหนัก อาจจะต้องทบทวน และมีการเก็บข้อมูลว่า ในเคสแบบนี้ควรให้ผู้ป่วยกลับบ้านเมื่อใด อีกเรื่องคือ เป็นที่ผิดสังเกตว่า ทำไมพ่อมารับยาคนเดียว นั่นหมายถึงผู้ป่วยอาการหนักขึ้นหรือไม่ จึงมารับยาและรับการ Follow up ไม่ได้ ตรงนี้ถ้าทีมเห็นจุดอ่อนเหล่านี้ก็สามารถที่จะเชิงรุกให้ทีมในชุมชนเข้าไป approach ผู้ป่วยและญาติได้ทันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เลวร้าย

ผู้เขียนหวังว่า ข่าวสะเทือนขวัญครั้งสุดท้ายที่ผู้ป่วยจิตก่ออาชญากรรมจะหมดไปจากสังคมไทย และขอให้กำลังใจบุคลากรสาธารณสุข ญาติ และผู้เกี่ยวข้อง ในการช่วยกันพัฒนาระบบบริการนี้ต่อไป


>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
ข่าวซึ่งเป็นที่มาของบทความนี้
หนุ่มอาข่าประสาทกําเริบ สลดเหยื่อวัยแค่5-8ขวบ ชาวบ้านรุมจับได้ทืบอ่วม

สุดสยอง หนุ่มอาข่าคลั่งสติแตกคว้ามีดพร้าบุกไล่ฟันสังหารหมู่เด็กชายข้างบ้านตายเกลื่อน 5 ศพ ก่อนถูกชาวบ้านช่วยกันจับกุมรุมประชาทัณฑ์สลบเหมือด เผยเด็กทั้งหมด อายุไล่เลี่ยกัน 5-8 ขวบ 2 คนเป็นหลานของหญิงชราเจ้าของบ้านที่ล้มป่วยไปรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล อีก 3 คนเป็นลูกชายของหญิงท้องแก่ญาติเจ้าของบ้านที่มาเฝ้าบ้านและช่วยเลี้ยงหลานให้ อยู่ในวัยซนวิ่งเล่นกันสนุกสนานอยู่ในบ้าน คาดหนุ่มอาข่าที่อยู่บ้านติดกันรำคาญเด็กๆส่งเสียงดังจนอาการทางประสาทกำเริบ คลุ้มคลั่งคว้ามีดบุกไล่ฟันร่วงศพแรกริมรั้ว ที่เหลือวิ่งหนีเข้าบ้านแต่ไม่รอดถูกตามเข้าไปไล่ฟันยับดับเรียบ หญิงท้องแก่เข้าช่วยถูกฟันหน้าแหกบาดเจ็บอีกคน ส่วนเด็กในหมู่บ้านอีก 2 คนที่เล่นอยู่ด้วยกันวิ่งหนีออกจากบ้านรอดตายหวุดหวิด


เหตุการณ์สะเทือนขวัญ หนุ่มคลุ้มคลั่งคว้ามีดพร้าไล่ฟันเด็กข้างบ้านตายหมู่ 5 ศพ เปิดเผยเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 27 ก.ย. พ.ต.ท.สมบัติ กาละสุข พงส.สภ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ ได้รับแจ้งเหตุเด็กถูกฆ่าตายหลายศพ ที่บ้านไม่มีเลขที่ บ้านต้นโชค หมู่ 5 ต.หนองบัว อ.ไชยปราการ จึงรายงานให้ พ.ต.อ.สุรกิจ ศรีมนัส ผกก. พ.ต.ท.ประเทือง ศรีทิพย์ สว.สส. นำกำลังฝ่ายสืบสวน สายตรวจ พร้อมประสานแพทย์เวร รพ.ไชยปราการ ไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุเป็นบ้านปูนชั้นเดียวปลูกในเนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา มีรั้วรอบขอบชิด มีชาวบ้านละแวกใกล้เคียงพากันมามุงดูจำนวนมากพร้อมจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์สยองขวัญที่เกิดขึ้น พบผู้เสียชีวิตเป็นเด็กชายอายุระหว่าง 5-8 ขวบ ทั้งหมด 4 ศพ ศพแรกนอนตะแคงจมกองเลือดอยู่ที่พื้นริมประตูรั้วบ้านด้านใน ถูกฟันด้วยของมีคมที่ลำคอหวิดขาด ส่วนศพที่สองและศพที่สามนอนหงายจมกองเลือดอยู่ที่พื้นข้างโซฟากลางห้องโถงภายในบ้าน สภาพศพทั้งคู่ถูกของมีคมฟันตามลำตัวเป็นแผลเหวอะหวะ และศพที่สี่นอนหงายจมกองเลือดอยู่บนเตียงภายในห้องนอน สภาพศพถูกฟันด้วยของมีคมที่ลำตัวและลำคอ

นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 2 คน เป็นเด็กชาย 1 คน และหญิงท้องแก่ 1 คนถูกช่วยเหลือนำส่ง รพ.ไชยปราการ แต่เด็กชายเสียชีวิตในเวลาต่อมาเป็นศพที่ห้า สภาพศพถูกของมีคมฟันที่ลำตัวเป็นแผลเหวอะหวะเช่นกัน ส่วนหญิงท้องแก่ที่ได้รับบาดเจ็บชื่อนางยี่ก่อ แซ่เจิ้น อายุ 33 ปี ตั้งท้อง 7 เดือน ถูกฟันบริเวณใบหน้าเป็นแผลฉกรรจ์ อาการสาหัส แพทย์นำเข้าห้องฉุกเฉินช่วยชีวิตเป็นการด่วน


ส่วนมือมีดที่ก่อเหตุคือนายอาซาผะ สีวัวะ อายุ 24 ปี ชาวเขาเผ่าอาข่า บ้านเดิมอยู่เลขที่ 111 หมู่ 11 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มาพักอาศัยอยู่บ้านญาติติดกับบ้านที่เกิดเหตุ ถูกชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ช่วยกันจับกุมตัวไว้ได้พร้อมมีดพร้ายาวประมาณ 1 เมตรที่ใช้ก่อเหตุ ก่อนรุมประชาทัณฑ์จนสะบักสะบอมสลบเหมือด ตำรวจนำตัวส่ง รพ.ไชยปราการ ก่อนถูกส่งต่อ รพ.ฝาง อาการสาหัส ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลโดยมีกำลังตำรวจควบคุมตัวอย่างใกล้ชิด
จากการสอบสวนทราบว่า ปกติบ้านที่เกิดเหตุมีหญิงชราเจ้าของบ้านอาศัยอยู่กับหลานชาย 2 คน ส่วนพ่อแม่เด็กไปทำงานที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งเมื่อหลายวันก่อนหญิงชราเจ้าของบ้านล้มป่วย ไปนอนพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ไชยปราการ จึงขอให้นางยี่ก่อ ญาติซึ่งมีศักดิ์เป็นป้าของเด็กมาเฝ้าบ้านและเลี้ยงหลานชายทั้ง 2 คน นางยี่ก่อจึงพาลูกชายของตัวเองอีก 3 คนมาอยู่ด้วยกันที่บ้านหลายวันแล้ว ด้วยความที่เด็กชายทั้ง 5 คนเป็นญาติกันและอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันกำลังซุกซน จึงวิ่งเล่นกันอยู่ในบ้านส่งเสียงดังเป็นประจำทุกวัน

ก่อนเกิดเหตุเด็กชายทั้ง 5 คนเล่นกันอยู่ในบริเวณบ้านตามปกติ โดยมีเด็กๆในหมู่บ้านอีก 2 คนมาเล่นด้วยกันอย่างสนุกสนาน แล้วทันใดนั้นเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อจู่ๆนายอาซาผะก็ถือมีดพร้าเปิดประตูรั้วเข้ามา โดยไม่พูดพร่ำทำเพลงปรี่เข้าไปฟันคอเด็กชายคนแรกล้มทรุดดิ้นพราดเสียชีวิตอยู่ริมรั้ว เด็กในหมู่บ้านที่มาเล่นด้วย 2 คนวิ่งหนีเอาตัวรอดออกนอกบ้านไปได้ ส่วนเด็กอีก 4 คนตกใจกลัวรีบวิ่งหนีเข้าไปในบ้าน แต่ไม่รอดถูกนายอาซาผะ ถือมีดวิ่งไล่เข้าไปกระหน่ำฟันจนร่วงล้มไปทีละคนและเสียชีวิตทั้งหมด ขณะนั้นนางยี่ก่อ หญิงท้องที่นั่งอยู่ในบ้านพยายามออกมาช่วยเหลือกลับถูกนายอาซาผะเงื้อมีดฟันเข้าใบหน้าจนได้รับบาดเจ็บไปอีกคน ก่อนที่ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์จะเข้าไปช่วยกันจับกุมตัวหนุ่มคลั่งไว้ได้


จากการตรวจสอบประวัตินายอาซาผะ มือมีดผู้ก่อเหตุสยองมีประวัติป่วยเป็นโรคประสาท เคยเข้ารักษาตัวที่ รพ.สวนปรุง จ.เชียงใหม่ เพิ่งออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่บ้านเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา และมีนัดไปรับยาอีกครั้งวันที่ 19 ต.ค.นี้ เบื้องต้นตำรวจสันนิษฐานว่า นายอาซาผะเกิดความเครียดและรำคาญที่เด็กๆ ข้างบ้านเล่นกันส่งเสียงดังหนวกหู ทำให้อาการทางประสาทกำเริบ จนเกิดอาการคลุ้มคลั่งคว้ามีดพร้าบุกเข้าไปฆ่าหมู่เด็กชายทั้ง 5 คนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตำรวจต้องรอให้ผู้ต้องหาอาการดีขึ้นก่อนจะได้สอบสวนอย่างละเอียดเพื่อหาชนวนเหตุที่แท้จริงต่อไป

ที่มา http://www.thairath.co.th/content/528343



"เปิดประวัติ “อาซาผะ“ มือฆ่าเด็ก 5 ศพ จิตป่วยตั้งแต่ปี 2555"


จิตแพทย์ตั้งโต๊ะแถลง เปิดประวัติข้อมูลอาการป่วย "อาซาผะ" มือฆ่าโหดเด็ก 5 ศพ พบเข้ารักษาตั้งแต่ปี 2555 แต่ยังไม่รู้แรงจูงใจ

(28 ก.ย.) นายแพทย์ปริทรรศ ศิลปกิจ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ พร้อมทีมแพทย์ตั้งโต๊ะแถลงข่าวสื่อมวลชนกรณี นายอาซาผะ มือมีดแทงดับ 5 ศพเด็กที่ อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ และการลงพื้นที่ประเมินสภาพจิตใจครอบครัวผู้สูญเสีย เผยข้อมูล "อาซาผะ" เคยรักษาอาการป่วยทางจิตตั้งแต่ปี 2555 เตรียมประสานโรงพยาบาลนครพิงค์ รับตัวรักษาต่อ

นายแพทย์ปริทรรศ ระบุว่า ครอบครัวผู้สูญเสียยังอยู่ในอาการโศกเศร้า เพราะต้องสูญเสียคนในครอบครัวไปพร้อมๆ กันและที่สำคัญยังเป็นเด็กเล็กๆ บางคนยังกินอาหารไม่ได้ ไร้เรี่ยวแรง ซึ่งได้ประสานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำตำบลและอำเภอให้ดูแลอย่างใกล้ชิด

ตอนนี้ทีมแพทย์เป็นห่วงทั้งครอบครัวผู้ก่อเหตุและครอบครัวผู้สูญเสียในเรื่องการปรับสภาพจิตใจ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นค่อนข้างสะเทือนใจ สำหรับประวัติการรักษาตัวผู้ก่อเหตุนั้น ก่อนที่จะมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสวนปรุง เคยรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ มาก่อน แต่ไม่ได้รักษาต่อเนื่องทำให้ อาการรุนแรงขึ้น และเข้าได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งนี้ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2558 ด้วยอาการควบคุมตัวเองลำบาก พร้อมกับอาการทาง จิตทั่วไป หูแว่ว ประสาทหลอน

โดยได้รับการแอดมิทภายในเป็นเวลา 16 วัน ถือว่าอาการค่อนข้างหนัก ซึ่งทีมแพทย์ได้ให้การรักษาปรับตัวยาให้เหมาะสมอย่างใกล้ชิด กระทั่งสภาพจิตใจดีขึ้น ยาที่ใช้ไม่มีผลข้างเคียง จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ โดยออกจากโรงพยาบาลเมื่อใน วันที่ 5 สิงหาคม และในวันที่ 28 สิงหาคม บิดาของนายอาซาผะ ก็ยังมารับยารักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลไชยปราการ กระทั่งเกิดเรื่องเศร้าสลดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินเบื้องต้นได้ว่า เหตุใด นายอาซาผะ จึงก่อเหตุ จะต้องมีการพูดคุยสอบถามก่อนว่าอะไรคือมูลเหตุจูงใจให้ทำ ทั้งนี้ จะได้ประสานไปยัง โรงพยาบาลนครพิงค์ ที่ นายอาซาผะ กำลังรักษาตัวอยู่ พร้อมทั้งนำตัวมารักษาต่อ

นายแพทย์ปริทรรศ ยังระบุด้วยว่า สำหรับข้อมูลผู้ป่วยอาการทางจิตที่ต้องเข้ารับการ รักษาตัวในปัจจุบัน ถือว่ามีเยอะพอสมควรประมาณ 0.1% ต่อประชากร แต่อาการจะไม่รุนแรง มากมารับยาแล้วก็กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ ยกเว้นบางรายอาจมีเสพยา ดื่มสุรา ควบคู่ไปด้วย ก็มีบ้างแต่ถือว่าน้อยมาก

สำหรับการสังเกตอาการของผู้ป่วยทางจิตนั้น แนะนำให้เฝ้าสังเกตหากเมื่อใดผู้ป่วยเริ่มมีท่าทีที่หลุดออกจากความเป็นจริง หรือมีอาการเหม่อลอย ทั้งจากการเผชิญกับภาวะเครียด รวมถึงการขาดยาเป็นเวลาเกินกำหนดขอรีบแจ้งไปยังโรงพยาบาลประจำตัวผู้ป่วย หรือโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ขึ้นอีก
ที่มา http://news.sanook.com/1873290/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1