จีนพันธุวิศวกรรมเด็กทารกสำเร็จ

เมื่อวานนี้ เพจ Biology Beyond Nature: ชีววิทยาเหนือธรรมชาติ ได้เผยแพร่บทความที่น่าสนใจไว้ดังน

เมื่อวานนี้มีข่าวใหญ่ว่าทีมวิจัยจากจีนได้พันธุวิศวกรรมเด็กทารกสำเร็จ เดี๋ยววันนี้แอดมินจะสรุปประเด็นหลักๆให้ฟัง

1. ถาม: เรื่องนี้ใหม่ยังไง?
ตอบ: นักวิจัยจากหลายแล็บทั่วโลกได้ทดลองปรับแต่งพันธุกรรมเซลล์มนุษย์มานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาทำในแค่เซลล์เพาะเลี้ยงซึ่งไม่สามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนมนุษย์ หรืออย่างมากก็ทำในตัวอ่อนที่ผิดปกติเกินกว่าจะโตมาเป็นทารกได้ ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลทั้งทางจริยธรรม, ข้อห้ามทางกฏหมาย และความยากทางเทคนิกเช่นการทำให้เซลล์ทุกเซลล์ในตัวอ่อนได้รับการปรับแก้อย่างทั่วถึง ตลอดจนผลข้างเคียงจากการปรับแต่งดีเอ็นเอพลาดเป้า ดังนั้นถ้างานนี้เป็นจริงก็จะเป็นครั้งแรกของโลกที่เราได้ให้กำเนิดมนุษยปรับแต่งพันธุกรรม

2. ถาม: วิศวกรรมอะไร? ยังไง?
ตอบ: งานนี้ทีมวิจัยใช้เทคโนโลยีCRISPR/Cas (อ่านเพิ่มเติมที่: https://www.facebook.com/…/a.680275942134…/881894751973106/… ) เทคนิกปรับแก้จีโนมยอดนิยมที่ทั้งง่าย ไว ถูก และประสิทธิภาพสูงกว่าเทคนิกก่อนหน้านี้เป็นร้อยเป็นพันเท่า เป้าหมายในการปรับแก้คือยีนที่ชื่อว่า CCR5 ทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนชนิดหนึ่งที่ผิวเซลล์เม็ดเลือดขาว โปรตีนนี้เป็นประตูทางเข้าที่ไวรัสHIVใช้จู่โจมเซลล์ คนไหนที่ยีนนี้เสียไปก็จะทนทานต่อการติดเชื้อ HIV ทีมวิจัยใช้ CRISPR/Cas ทำลายยีนนี้ระหว่างการผสมเด็กหลอดแก้ว (IVF) เพื่อสร้างทารกที่ทนต่อ HIV

3. ถาม: ใครเป็นคนทำ?
ตอบ: ทีมวิจัยนี้มาจาก Southern University of Science and Technology ที่เมืองเชินเจิ้น ประเทศจีน นำทีมโดย Jiankui He (http://www.sustc-genome.org.cn/index.html) นักวิจัยหนุ่มชาวจีนดีกรีอเมริกันอายุน่าจะแค่สามสิบต้นๆ He จบป.เอกจากมหาวิทยาลัย Rice และเคยไปนักวิจัยหลังป.เอก (postdoc) ก้นกุฏิของ Stephen Quake แห่งมหาวิทยาลัย Stanford (https://en.wikipedia.org/wiki/Stephen_Quake) นอกเหนือจากงานพันธุวิศวกรรมเซลล์มนุษย์แล้ว He ยังเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยีการอ่านลำดับเบสจากดีเอ็นเอโมเลกุลเดี่ยว (single molecule sequencing) และได้ร่วมก่อตั้งบริษัท Direct Genomics จากเทคโนโลยีนี้

4. ถาม: ทำไปถึงไหนแล้ว?
ตอบ: จากข้อมูลบนฐานข้อมูลการทดลองทางคลินิก(Clinical Trials) ของจีน (http://www.chictr.org.cn/showprojen.aspx?proj=32758) ระบุว่าโครงการนี้ผ่านกรรมการจริยธรรมตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว (2017) มีข้อมูลวิเคราะห์พันธุกรรมของตัวอ่อนถึงระยะเวลาอย่างน้อยหกเดือน (24 สัปดาห์) ในครรภ์ นอกจากนี้หัวหน้าทีมวิจัยยังได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวและปล่อยยูทูปวิดีโอ (https://www.youtube.com/watch?v=th0vnOmFltc) เคลมว่าสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เข้าร่วมโครงการวิจัยนี้ได้ให้กำเนิดฝาแฝดเพศหญิงชื่อ “ลูลู่” กับ “นาน่า” อย่างไรก็ตามงานนี้ยังไม่มีผลงานตีพิมพ์ออกมาเต็มๆในวารสารวิชาการที่ผ่านการกลั่นกรองจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก ดังนั้นเราก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อทุกอย่างในข่าว

5. ถาม: งานนี้ถูกกฏหมายไหม?
ตอบ: การวิศวกรรมตัวอ่อนมนุษย์ถึงขั้นปลูกถ่ายให้ตั้งครรภ์ยังเป็นเรื่องผิดกฏหมายในยุโรปและสหรัฐ แม้แต่ประเทศจีนเองก็มีข้อแนะนำ(guideline)ห้ามคลินิกเด็กหลอดแก้วทำอะไรแบบนี้ สำหรับเคสงานวิจัยในข่าวยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษหรือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อแนะนำ (ซึ่งอาจจะไม่ได้มีผลทางกฏหมายจริงๆ)

6. ถาม: ภาคประชาชนมีความเห็นอย่างไร?
ตอบ: ผลโพลสำรวจความเห็นจากชาวจีนสี่พันกว่าคนพบว่ากว่า 60% ยินดีจะให้มีการปรับแต่งพันธุกรรมเด็กทารกเพื่อการป้องกันหรือรักษาโรค ในอเมริกา ผลการสำรวจความเห็นประชาชนกว่าสองพันห้าร้อยคนเมื่อต้นปีนี้ (2018) พบว่ากว่า 70% เห็นด้วยที่จะใช้การปรับแต่พันธุกรรมรักษาโรคเด็ก 60% เห็นด้วยที่จะใช้ลดความเสี่ยงการเกิดโรค แต่มีเพียง 19% ที่เห็นว่าการออกแบบเด็กให้ฉลาดขึ้นเป็นเรื่องเหมาะสม

7. ถาม: อะไรคือประเด็นถกเถียงหลักๆเชิงศีลธรรม?
ตอบ: แทบทุกคนเห็นตรงกันว่าการพันธุวิศวกรรมทารกเพื่อการรักษา (treatment)เป็นเรื่องควรทำ ส่วนพันธุวิศวกรรมเพื่อเสริมสมรรถนะ (enhancement) เป็นเรื่องไม่ควรทำ ปัญหาคือหลายๆครั้งเราอยู่ในโซนสีเทาๆระหว่าง treatment VS enhancement อย่างกรณีในข่าวนี้การวิศวกรรมให้ได้มนุษย์ต้านHIVก็ยังไม่ถือเป็น treatment ซะทีเดียวเพราะไม่ได้ทำให้โรคอะไรหายไปจากเด็ก แต่ลดโอกาสการติดโรคกับเด็กในอนาคต ...คิดๆไปแล้วก็ถือว่าเป็น enhancement อย่างนึงเหมือนกัน ถ้าเคสนี้ทำได้เราควรป้องกันโรคอื่นด้วยได้ไหม เช่น โรคหวัด โรคภูมิแพ้ โรคอ้วน โรคสมาธิสั้น ฯลฯ? ถ้าเรามองว่าเด็กที่มีโอกาสโตมาแล้วเตี้ยแคระแกร็นควรได้รับการแก้ไขยีน งั้นเด็กที่ค่อนข้างเตี้ยเฉยๆหละ?

เราจะเอาอะไรมาเป็นเส้นแบ่งว่าความผิดปกติขนาดไหนจึงจัดว่าเป็น “โรคที่ควรได้รับการรักษา” และแบบไหนคือ “ความเสียเปรียบนิดๆหน่อยๆตามธรรมชาติ” ที่ควรต้องยอมรับสภาพ?

ถ้าเรารู้ว่าคนหน้าตาดี ตัวสูง กล้ามใหญ่ หัวไว ฯลฯ จะมีโอกาสในชีวิตเยอะกว่า งั้นเรามีสิทธิอะไรไป “ห้าม” ไม่ให้เด็กคนนึงได้รับโอกาสนั้น ...ถ้าเทคโนโลยีจะเนรมิตให้เค้าได้และพ่อแม่ของเขามีกำลังทรัพย์จะจ่าย?

แน่นอนว่าการเปิดให้ทุกคนปรับแต่งจีโนมอย่างอิสระจะนำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาล เพราะต่อไปนี้มรดกที่คนร่ำรวยส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นจะไม่ใช่แค่ที่ดิน ธุรกิจ หรือเงินในบัญชี แต่จะเป็น "สุดยอดยีนปรับแต่ง" ที่จะสืบทอดไปชั่วลูกชั่วหลาน โลกอนาคตจะมีเผ่าที่โคตรรวย โครตสวย โครตเก่ง แล้วก็เผ่าที่ไม่มีอะไรเลยเป็นเบี้ยล่างตลอดกาล

หรือมองในมุมกลับ การปรับแต่งจีโนมจะควรเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนเลยด้วยซ้ำไหม? เหมือนกับการรักษาพยาบาล การได้วัคซีน การอ่านออกเขียนได้? วันหนึ่งในอนาคตพ่อแม่คนไหนที่ “เลือก” ไม่ปรับแก้จีโนมลูกให้ดีตามมาตรฐานแต่กลับปล่อยมันตามมีตามเกิดอาจจะต้องรับโทษตามกฏหมาย ถูกประณามหยามเหยียด แบบเดียวกับพ่อแม่ที่ไม่พาลูกไปฉีดวัคซีนหรือเรียนหนังสือ?

เรื่องพวกนี้เราถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ แต่เวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไงแน่มันใกล้เข้ามาเรื่อยๆแล้ว!

ไม่มีข้อความกำกับภาพอัตโนมัติ

Reference:
https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-11-26/urgent-ap-exclusive-first-gene-edited-babies-claimed-in-china?fbclid=IwAR3kVfPe5PLnbMLIsHL9CESxJMvtZSZuD5fTqv2vluQ2yejwoEfg2yHvoVs

เพจ Biology Beyond Nature: ชีววิทยาเหนือธรรมชาติ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1