เตือนโควิดอาจไม่แสดงอาการและซ่อนตัวในเซลล์ได้

จู่ๆ แพทย์จากสามชาติ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และอเมริกา ออกมาเตือนประชาชนพร้อม ๆ กันโดยไม่ได้นัดหมายถึงภัยเงียบจากโควิด-19  โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเกาหลีใต้ (KCDC) เป็นชาติแรกที่ออกมารายงานว่า พบชาวเกาหลีใต้จำนวน 51 รายที่เคยป่วยด้วยโควิด-19 และได้รับการรักษาจนหายดีแล้วนั้น แต่กลับมามีผลตรวจพบเชื้อ (บวก) อีกครั้ง ซึ่งสร้างความงุนงงกับแพทย์เป็นอย่างมาก

แถลงการณ์ของ KCDC ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่เชื้อไวรัสจะยังคงหลงเหลืออยู่ในเซลล์บางเซลล์ ด้วยการซ่อนตัวอย่างมิดชิด ซึ่งอาจกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง เนื่องจากตรวจพบเชื้อในระยะเวลาไม่นานหลังผู้ป่วยออกจากพื้นที่กักกัน

รายงานระบุว่า ผู้ป่วยในเกาหลีใต้ ซึ่งมีผลทดสอบเป็นลบ 2 ครั้งในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง จะถูกกำหนดให้เป็นผู้ป่วยที่หายดีแล้ว และได้รับอนุญาตให้ออกจากพื้นที่กักกันได้
  
ในบรรดาผู้ป่วยทั้ง 51 ราย ที่มีผลทดสอบเป็นบวกอีกครั้ง เป็นผู้อาศัยในเมืองแทกู 18 ราย และในจังหวัดคยองซังเหนือที่อยู่รอบ ๆ เมืองแทกู 17 ราย

ด้านจีนกับสหรัฐฯ แม้จะยังไม่พบเคสผู้ป่วยที่หายจากโรคแล้วกลับมาป่วยอีกรอบ แต่นายจงหนานซาน ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจของจีนได้เปิดเผยข้อมูลว่า ผู้ป่วยโควิดที่ไม่แสดงอาการ 1 คน อาจนำเชื้อไปติดคนอื่นได้อีก 3-3.5 คน โดยก่อนหน้านี้ หลังจากที่สหรัฐฯ พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ราว 1 ใน 4 ไม่แสดงอาการใด ๆ เลย ทางการจีนจึงเริ่มหันมาใส่ใจกับการติดตามผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างจริงจัง เพราะกังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดระลอกที่สอง 

โดยจีนเพิ่งประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่แสดงอาการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา จากที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้รวมผู้ป่วยกลุ่มนี้ไว้ในจำนวนผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการ

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องท้าทายมากขึ้นก็คือ การแพร่เชื้อของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ (asymptomatic) และการแพร่เชื้อก่อนแสดงอาการ (presymptomatic) เพราะหากติดเชื้อ ผู้ป่วยอาจแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ก่อนที่จะรู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อด้วยซ้ำ

เคสแรกที่ยืนยันว่าผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาให้ผู้อื่นได้ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือน ก.พ. เป็นหญิงวัย 20 ปีจากเมืองอู่ฮั่นของจีนที่แพร่เชื้อให้สมาชิกในครอบครัว 5 รายทั้งที่เธอไม่มีอาการป่วยเลย

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายโรเบิร์ต เรดฟิลด์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) เผยกับสำนักข่าว NPR ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐราว 1 ใน 4 ไม่แสดงอาการ และคนเหล่านี้สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ อย่างในกรณีของรัฐแมสซาชูเซตส์ที่มีอย่างน้อย  82 เคสที่เริ่มจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ

ผู้เชี่ยวชาญที่ให้สัมภาษณ์ ระบุตรงกันว่า แม้ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการแพร่เชื้อของผู้ป่วยที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการมีสัดส่วนเท่าใด แต่ชัดเจนแล้วว่าผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการมีส่วนทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากกว่าที่คิด

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากนานาประเทศที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน อาทิ แซนดรา ซีเช็ก ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ระบาดวิทยาในเมืองแฟรงเฟิร์ตของเยอรมนี ที่ทำการทดสอบการติดเชื้อผู้โดยสารที่นั่งเครื่องบินกลับจากอิสราเอล 24 ราย พบว่า 7 รายติดเชื้อ และในจำนวนนี้ 4 รายไม่แสดงอาการ

แต่ที่น่าตกใจคือ ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการกลับมีความเข้มข้นของเชื้อโคโรนาไวรัสในสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ (viral load) มากกว่าผู้ป่วยที่แสดงอาการ (ยิ่งเข้มข้นมากยิ่งมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นสูง)

ก่อนหน้านี้การศึกษาแบบเป็นกลุ่มใหญ่ในเมืองเทียนจินของจีน และสิงคโปร์เมื่อเดือน ม.ค. และ ก.พ.ที่ตีพิมพ์ใน MedRxiv คลังเก็บงานวิจัยทางวิชาการที่รอการตีพิมพ์เผยแพร่ ยังพบการแพร่เชื้อของผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ โดย 48-66% ของกลุ่มผู้ป่วย 91 รายในสิงคโปร์ได้รับเชื้อจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ และ 62-77% ของผู้ป่วย 135 รายในเทียนจินได้รับเชื้อจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ

และที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือ ระยะที่ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มากที่สุดก็คือช่วงที่ติดเชื้อระยะแรก
การศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 23 รายในโรงพยาบาลฮ่องกง 2 แห่ง พบว่าปริมาณความเข้มข้นของเชื้อไวรัสโคโรนาในสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจจะสูงสุดในช่วงสัปดาห์แรกของการติดเชื้อ และจะค่อย ๆ ลดลงหลังจากนั้น เช่นเดียวกับงานวิจัยผู้ป่วย 94 รายที่เมืองกวางโจว

ข้อมูลนี้ต่างจากโรคซาร์สที่ระบาดเมื่อปี 2002-2003 โดยสิ้นเชิง เพราะผู้ป่วยโรคซาร์สต้องมีอาการมาแล้วอย่างน้อย 7-10 วันจึงจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้

แม้ผู้เชี่ยวชาญและการวิจัยจะชี้ตรงกันว่าผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่ามีอัตราการแพร่เชื้อมากน้อยแค่ไหน ทว่า จงหนานซาน ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินหายใจของจีนเผยว่า ผู้ป่วย 1 คน อาจนำเชื้อไปติดคนอื่นได้อีก 3-3.5 คน

ผลการวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การแยกแยะผู้ป่วยโรคซาร์ส โดยอาศัยอาการที่แสดงเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ

หลายประเทศที่สามารถควบคุมไม่ให้เชื้อโคโรนาไวรัสแพร่ระบาดในวงกว้าง อาทิ เกาหลีใต้ ใช้วิธีการตรวจและติดตามผู้ติดเชื้อเชิงรุก 

https://www.posttoday.com/world/620156
http://www.xinhuanet.com/english/2020-04/06/c_138951383.htm
https://www.cnbc.com/2020/04/06/who-says-the-coronavirus-can-spread-one-to-three-days-before-symptoms-start.html

#RoundtableThailand
roundtablethailand.com

#โควิด19
#โคโรนาสายพันธุ์ใหม่

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1