การอักเสบของร่างกายและผลกระทบต่อสมอง

 การอักเสบของร่างกายและผลกระทบต่อสมอง

หมอดื้อ

ไทยรัฐ สุขภาพหรรษา

7/4/62

บทความนี้เป็นการพูดถึงการอักเสบในร่างกายเช่นเดียวกับในบทความ ‘โรคหัวใจ โรคใกล้ตัว เกิดขึ้นจากอะไรนะ’ ซึ่งเป็นการพูดถึง การอักเสบในร่างกายกับความเสี่ยงโรคหัวใจที่สูงขึ้น และมีหลักฐานจากการศึกษาชื่อ CANTOS ซึ่งพิสูจน์ว่าอักเสบเป็นตัวต้นตัวตีเส้นเลือดตีบตัน และไขมันเลวอาจจะไม่ใช่สาเหตุหลักของความเสี่ยงโรคหัวใจ การอักเสบนี้เป็นการอักเสบที่วัดจากในเลือด ฉะนั้นก็มีการตั้งข้อสังเหตุว่านอกจากหัวใจแล้ว มันก็น่าจะกระทบทั่วร่างกายทุกอวัยวะเพราะเลือดมันไปเลี้ยงทุกส่วน นอกจากจะสร้างปัญหาให้อวัยวะภายใน เพิ่มความเสี่ยงเบาหวานแล้วก็ยังเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งอีกด้วย 

แต่เมื่อการอักเสบมีผลร้ายขนาดนี้ ก็มีหลายวิจัยที่ออกมาชี้ว่าน่าจะเป็นตัวเพิ่มของความเสี่ยงอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมด้วย บทความนี้หมอนำมาแปลนี้ละจะมีคำตอบให้มากขึ้นเพราะได้ติดตามดูคนไข้ถึง 20 ปีด้วยกัน บทความนี้คือ Systemic inflammation during midlife and cognitive change over 20 years, The ARIC study ตีพิมพ์ในนิตยาสาร Neurology เดือนกุมภาพันธ์ 2019

ในการศึกษานี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาโรคเส้นเลือดตีบตัน (Atherosclerosis Risk in Communities study) ทำการคัดเลือกติดตามชาวบ้านธรรมดาในชุมชนอเมริการะหว่างปี 1987-1989 เป็นจำนวน 12,336 คน อายุเฉลี่ย 56.8 ปี เป็นเวลา 20 ปี ตอนเริ่มได้เจาะเลือดเพื่อดูค่าการอักเสบ (C-reactive protein) และทำคะแนนการอักเสบของร่างกายจากการเจาะค่าอื่นๆ (fibrinogen, white blood cell, von Willebrand factor และ factor VIII) ขึ้นมา จากนั้นนำคะแนนที่ได้มาแบ่งเป็นสี่กลุ่มจากอักเสบน้อยไปถึงอักเสบมาก จากนั้นก็ใช้คำถามเพื่อวัดความเฉียบแหลม ความสามารถด้านภาษาและความจำ ณ 3 ปี (1990-1992) กับ 9 ปี จนถึงตอนจบการศึกษาหลังจากประมาณ 20 ปี (2011-2013) หลังจากเจาะเลือดครั้งแรก และก็จะมีการโทรศัพท์ไปทุกปี โดยผู้เข้าร่วมโครงการที่มีเส้นเลือดในสมองตีบตันระหว่างการศึกษาจะถูกคัดออก เพราะถือว่าทำให้สมองเสียหาย

ผลก็คือคนที่มีการอักเสบเรื้อรังตั้งแต่วัยกลางคนมีความเสี่ยงความจำ ความสามารถด้านภาษาและความจำไม่เฉียบคมในวัยแก่ โดยกลุ่มที่คะแนนการอักเสบจากการคำนวณผลเลือดหลายชนิดสูงที่สุด มีความเฉียบแหลมและความจำตกลงไป 7.8% จากตอนแรกที่ทำการทดสอบ เมื่อ 20 ปีก่อนเมื่อเทียบกับกลุ่มที่การอักเสบต่ำสุด ส่วนในกลุ่มที่มีค่าการอักเสบ C-reactive protein สูงสุดนั้นตกลงถึง 11.6% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่การอักเสบต่ำสุด นอกจากนั้นเมื่อกลับมาดูค่า CRP ก็พบว่าเมื่อมีค่าเกิน 1.05 mg/L จะมีความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมสูงขึ้น 

ต่อมาก็ดูความสัมพันธ์ของค่าการอักเสบกับความเสี่ยงสมองเสื่อม ว่ายิ่งค่าการอักเสบยิ่งสูงจะยิ่งเสี่ยงสมองเสื่อมหรือเปล่า (Dose-response relationship) ผลปรากฏว่าไม่พบความสัมพันธ์ ก็เลยแยกออกเป็นกลุ่มระหว่างคนผิวขาว กับคนผิวดำ ผลก็คือในคนผิวขาวจะเห็นว่ามีความสัมพันธ์และความเสี่ยงจะสูงไปตามค่าการอักเสบ แต่ไม่เห็นความสัมพันธ์นี้ในคนผิวดำ เหตุผลก็คือคิดว่าว่ามีผู้ร่วมเข้าการศึกษาที่เป็นคนดำเสียชีวิตเยอะกว่าคนขาว และโดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มที่ค่าอักเสบสูง คนที่เสียชีวิตได้ถูกตัดออกจากการศึกษา ซึ่งอาจจะทำให้ผลคลาดเคลื่อนไปได้เราจึงไม่เห็นความเกี่ยวโยงกันในกลุ่มคนดำนั่นเอง

การศึกษานี้ได้ผลคล้ายกับการศึกษาการอักเสบกับสมองเสื่อมอีกการศึกษาหนึ่งชื่อว่า Honolulu-Asia Aging Study ซึ่งก็พบว่าวัยกลางคนที่มี CRP สูงเมื่อผ่านไป 25 ปีก็จะมีความเสี่ยงสมองเสื่อมมากกว่า สิ่งที่สำคัญก็คือวัยกลางคนนี่ละเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของปัญหา ถึงเราจะยังไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรทำให้ก่อโรคสมองเสื่อม แต่เชื่อว่าการเริ่มต้นของโรคอย่างเช่นการผิดรูปและเกาะตัวของโปรตีนอมีลอยด์ (Beta-amyloid) มักจะเกิดในช่วงวัยกลางคนก่อนที่จะเกิดอาการนับสิบปีและการศึกษานี้ก็ชี้ให้ว่าการอักเสบเรื้อรังในช่วงวัยกลางคนอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้โปรตีนบิดตัวผิดปรกติ หรืออาจจะตรงกันข้ามและเป็นผลของโปรตีนผิดปรกติไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันและก่อการอักเสบก็ได้

นอกจากการอักเสบเรื้อรังแล้ว ความดันสูงและไขมันก็เป็นความเสี่ยงสมองเสื่อมแต่ผลกระทบต่อสมองกลับไม่เหมือนกัน โดยความเสี่ยงสองตัวนี้จะไปกระทบทางด้านภาษาและความเฉียบแหลมมากกว่า (Sharrett et al Alzheimers Dememt 2017; Albert et al JAMA Neurology 2014)   กลับกันในการอักเสบเรื้อรังจะไปกระทบความทรงจำมากกว่า ซึ่งหมายความว่ากลไกการเกิดสมองเสื่อมของความเสี่ยงแต่ละกลุ่มน่าจะไม่เหมือนกัน อันนี้ก็ตรงกับที่ทดลองในหนูที่จำลองการอักเสบและพบว่าฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นส่วนเก็บความทรงจำนั้นก็เล็กลง (Gourmaud et al Sci Rep 2015)

สรุปเราทำยังไงดีเพื่อลดความเสี่ยงสมองเสื่อม ก็เหมือนกับทุกบทความของหมอ ใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ และลงทุนในสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่นการกินอาหารปลอดสารพิษ โดยกิน ผักเยอะ ลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดน้ำหวาน รวมถึงการออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยอาทิตย์ละ 150 นาที สำคัญอย่าให้น้ำหนักเกิน หมั่นดูพุงอย่าให้ย้อย ที่สำคัญที่สุดคือหยุดบุหรี่ ช่วยกันหยุดการใช้สารเคมีในอาหาร พืช ผัก ผลไม้ ลดมลพิษไม่เช่นนั้น เมื่อรวมกับ PM2.5 ในอากาศ ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ ก็จะยิ่งแย่หนักขึ้นไปอีก หยุดสารเคมีพิษ ด้วยความเป็นห่วง


https://www.facebook.com/thiravat.h/posts/5039016249465222


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1