แหล่งของปัญหาการวิจัยทางการพยาบาล

แหล่งของปัญหาการวิจัยทางการพยาบาล

อ.ฐานิกา บุษมงคล, พยม.


1. จากประสบการณ์และความสนใจของตนเอง การเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมีปรากฏกาการณ์บางอย่างชวนให้สงสัยต้องการคำตอบที่ชัดเจน หรือจากการปฏิบัติงานที่รับผิดชอบเกิดปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานไม่บรรลุเป้าหมาย หรือขาดประสิทธิภาพ หรือต้องการพัฒนางานให้ดีขึ้น ต้องการสารสนเทศบางอย่างที่จะนำมาใช้ตัดสินใจแก้ปัญหาหรือปรับปรุงงาน จำเป็นต้องค้นหาสารสนเทศเหล่านั้น ก็ทำให้เกิดเป็นปัญหาวิจัยได้ ตัวอย่าง

- จากการเรียน เช่นขณะเรียนสังเกตเห็นเพื่อนบางคนหลับ แต่บางคนสนใจไต่ถามตั้งใจเรียนมาก จึงเกิดคำถามในใจว่าทำไมเพื่อทั้งสองกลุ่มจึงมีพฤติกรรมการเรียนที่แตกต่างกัน เอ๊ะ! แล้วผลการเรียนของทั้งสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันหรือไม่ พฤติกรรมการเรียนมีความสัมพันธ์กับผลการเรียนหรือไม่

- จากการทำงานภายในหอผู้ป่วย การทำงานในโรงพยาบาล สิ่งที่สังเกตเห็นขณะทำงาน ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นขณะทำงาน โรคหรืออาการที่พบบ่อยๆ เช่นเหตุใดผู้ป่วยเบาหวานจึงมีแผลที่เท้า และแผลมักหายช้าหรือลุกลามจนต้องตัดขา การเช็ดตัวผู้ป่วยด้วยน้ำเย็นกับน้ำอุ่นวิธีใดลดไข้ได้ดีกว่ากัน ทำไมผู้ป่วยจึงรับประทานยาไม่ครบตามแผนการรักษา ทำไมจึงเกิดแผลกดทับขึ้นในหอผู้ป่วยหนึ่งมากกว่าหอผู้ป่วยหนึ่ง การแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหวานบ่อยๆเป็นคำแนะนำที่ถูกต้องหรือไม่ อัตราตายจากโรคหัวใจของประชากรจังหวัดขอนแก่นเป็นเท่าใด ปัจจัยใดมีผลต่อการลาออก โอน ย้ายของพยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลขอนแก่น

-จากการเข้าไปทำงานในชุมชน เช่น ประชาชนในบ้านบะขามมีความสุขหรือไม่ และมีระดับความสุขเท่าใด ทำอย่างไรจะลดความเครียดในผู้สูงอายุบ้านโคกสี ทำอย่างไรชาวบ้านสำราญจะมีสุขภาพดี

2. จากการอ่านตำรา บทความ วารสารทางวิชาการ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายงานการวิจัย บทคัดย่อ วิทยานิพนธ์ หรือปริญญานิพนธ์ หลังจากอ่านเอกสารดังกล่าวแล้ว เกิดปิ๊งไอเดีย ว่ายังมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ หรือที่เรียกว่า ยังมีช่องว่างของความรู้(gab) ทำให้มีความอยากที่จะค้นหาคำตอบ การศึกษาผลงานวิจัยที่คนอื่นทำไว้แล้วอย่างละเอียดถี่ถ้วน จะช่วยให้ผู้วิจัยได้มองเห็นว่าความรู้ที่เป็นผลการวิจัยเหล่านั้นมีความชัดเจนมากน้อยเพียงใด ยังมีประเด็นใดที่ยังคลุมเครือจะต้องศึกษาเพื่อทำความเข้าใจให้กระจ่าง หรือมีความขัดแย้งกันระหว่างงานวิจัยในเรื่องเดียวกันหรือไม่ การวิจัยที่ผ่านมายังมีจุดอ่อนข้อบกพร่องในเรื่องใดบ้างทำให้เกิดความสงสัยในข้อค้นพบเหล่านั้น หรือมีประเด็นใดบ้างที่ควรจะศึกษาค้นคว้าหาความรู้ต่อไปเพื่อให้องค์ความรู้ในเรื่องนั้นมีความสมบูรณ์มากขึ้น ในรายงานการวิจัยเกือบทุกเรื่องผู้วิจัยมักจะมีข้อเสนอแนะไว้ว่าควรจะศึกษาวิจัยในเรื่องต่อไปในประเด็นใด ผู้ที่สนใจจะวิจัยในหัวข้อเรื่องคล้ายคลึงกันอาจจะได้แนวคิดไปกำหนดเป็นหัวข้อปัญหาวิจัยของตนเองได้

3. การวิเคราะห์แนวโน้มของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เช่น ในอนาคตประชากรส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ประเทศต้องเตรียมการในด้านต่างๆอย่างไรบ้าง ผลกระทบที่เกิดจากการมีประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง หรือความต้องการทำนายความก้าวหน้าหรือแนวโน้มของสิ่งต่างๆในอนาคต เช่น พยาบาลในศตวรรษที่ 22 ควรเป็นอย่างไร การพยาบาลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหลังการค้นพบสเต็มเซลล์เป็นอย่างไร

4. จากการปรึกษาผู้รู้ หรือการขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ปกติผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่าง ๆ มักจะศึกษาติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการในศาสตร์สาขานั้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ผุ้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะมองเห็นภาพองค์ความรู้ของศาสตร์นั้นได้ค่อนข้างจะชัดเจน รู้ว่าจุดใดประเด็นใดที่นักวิชาการในศาสตร์นั้นได้หาความรู้ไว้แล้วอย่างชัดเจน ประเด็นใดที่ยังเป็นปัญหาเป็นช่องโหว่ที่จะต้องแสวงหาความรู้มาเติมให้เต็ม ประเด็นคำถามอย่างไรน่าสนใจมีคุณค่าควรแก่การหาคำตอบในศาสตร์นั้น ผู้มีประสบการณ์เหล่านี้จะให้คำแนะนำได้เป็นอย่างดี
การขอคำแนะนำจากสำนักงาน คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้อาจจะไม่ได้ให้คำแนะนำโดยตรง แต่การที่หน่วยงานดังกล่าวกำหนดแนวทางหรือประเด็นการวิจัยเพื่อการให้ทุน ก็เปรียบเสมือนการให้คำแนะนำกลายๆ เช่น ประเด็นการวิจัยที่ทางวช .กำลังให้ความสนใจเป็นประเด็นการวิจัยที่เร่งด่วนของปี 2554นี้ได้แก่

1) การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง

2) ความมั่นคงของรัฐและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล

3) การปฏิรูปการศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้

4) การจัดการทรัพยากรน้ำ

5) ภาวะโลกร้อนและพลังงานทางเลือก

6) การเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรเพื่อการส่งออกและลดการนำเข้า

7) การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพ การวิจัย

เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ ระบบการบริหารจัดการด้านบริการสาธารณสุข ประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข การติดเชื้อ วิทยาการใหม่ทางสาธารณสุข การพึ่งพาตนเองและเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการวิจัยด้านการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก และการวิจัยเพื่อต่อยอดภูมิปัญญาให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และสาธารณะ เป้าประสงค์ : คุณภาพชีวิตของประชาชนและระบบการจัดการสาธารณสุขดีขึ้น และมีความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศ ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 4,500 ล้านบาท

8) การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ

9) เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่สำคัญเพื่ออุตสาหกรรม

10) การบริหารจัดการการท่องเที่ยว

11) สังคมผู้สูงอายุ การวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ การพัฒนาสุขภาพ

ผู้สูงอายุและการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว/ชุมชน การพัฒนารูปแบบสถานดูแลผู้สูงอายุที่เหมาะสมในบริบทสังคม วัฒนธรรมไทย ระบบและมาตรการส่งเสริมดูแลการจัดการสวัสดิภาพ และสวัสดิการผู้สูงอายุให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม การส่งเสริมบทบาทของผู้สูงอายุในสถาบันสังคมและชุมชน การนาศักยภาพของผู้สูงอายุมาใช้ในการพัฒนาประเทศและภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนการถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่สังคม เป้าประสงค์ : ผู้สูงอายุมีศักยภาพที่พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคมตลอดจนมีสวัสดิการและสวัสดิภาพต่างๆ ในการดำเนินชีวิตอย่างมั่นคง ประมาณการงบประมาณ : คาดว่าจะใช้ปีละ 1,300 ล้านบาท

12) ระบบโลจิสติกส์

13) การปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ

ส่วนของปี 2555 ได้แก่

1) ความท้าทายหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก: โอกาสของประเทศไทย

2) เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์: ทางเลือกเศรษฐกิจไทย

3) ภาวะโลกร้อน: รู้วิกฤต สร้างโอกาสการพัฒนา

4) สถาปัตยกรรมทางสังคม: ทางเลือกใหม่ของคนไทย

5) สัญญาประชาคมใหม่: พลังขับเคลื่อนสังคมสู่สมดุล

5. จากทฤษฎี หลักการแนวคิดต่างๆ เช่นทฤษฎีสิ่งแวดล้อมของไนติงเกล- ผลของการจัดสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลตามแนวคิดทฤษฎีสิ่งแวดล้อมของไนติงเกลต่ออัตราการติดเชื้อ ทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเรม - ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานหลังการให้คำแนะนำตามทฤษฎีการดูแลตนเองของโอเรม หรือจากการศึกษาทฤษฎีต่างๆ อย่างลึกซึ้งผู้วิจัยอาจจะเห็นความไม่สอดคล้องกันภายในทฤษฎี ระหว่างทฤษฎี หรือระหว่างทฤษฎีกับข้อเท็จจริง อยากจะตรวจสอบทฤษฎีนั้นให้ประจักษ์ชัด หรืออาจจะตรวจสอบว่าทฤษฎีนั้น ๆ จะทำนายปรากฏการณ์ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือไม่ ฉะนั้นการศึกษาทฤษฎีต่างๆ อย่างพินิจพิเคราะห์ก็อาจทำให้เกิดปัญหาวิจัยได้
6. จากการอ่านข้อเสนอแนะของผลการวิจัยที่ได้ทำมาแล้วในตอนท้ายของรายงานการวิจัย

7. แหล่งทุนวิจัย มักจะมีหน่วยงานบางหน่วยที่ต้องการผลการวิจัยในบางเรื่อง จึงเสนอเงินทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัย แหล่งทุนประเภทนี้มักจะกำหนดแนวทาง หรือหัวข้อการวิจัยที่ต้องการ แล้วประกาศให้นักวิจัยที่สนใจที่จะศึกษาวิจัยในหัวข้อนั้นมารับทุนสนับสนุนการวิจัย ฉะนั้นการพิจารณาเลือกหัวข้อจากแหล่งทุนวิจัยประเภทนี้ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่นักวิจัยจะได้หัวข้อวิจัยพร้อมทั้งได้รับเงินสนับสนุนการวิจัยด้วย

8.หน่วยงานของผู้วิจัย หน่วยงานบางหน่วยงานมีหน้าที่ที่จะต้องทำงานวิจัยมักจะมีแผนงานกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าในรอบระยะเวลาหนึ่งๆ จะทำวิจัยในหัวข้อใดบ้าง หรือหน่วยงานที่ไม่ได้มีหน้าที่ในการทำวิจัยโดยตรงก็อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิจัยหาความรู้ในบางเรื่อง ผู้ที่ทำงานในหน่วยงานเหล่านี้ อาจได้รับมอบหมายให้ทำการวิจัยในหัวข้อที่ผู้บริหารหน่วยงานเหล่านั้นกำหนดให้ศึกษาก็ได้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1