การสระผม (bed shampooing)

การสระผม(bed shampooing)
(ฐานิกา  บุษมงคล)


ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ และนอนอยู่บนเตียงนาน ๆ จะมีเหงื่อไคล น้ำมันออกมา ทำให้ผมมีกลิ่นเหม็นอับ เส้นผมเหนียว มีรังแค ทำให้ผู้ป่วยไม่สุขสบาย พยาบาลควรจะดูแลสระผมให้ผู้ป่วยบนเตียง

สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งหรือ 2 สัปดาห์ต่อครั้งขึ้นอยู่กับความเหมาะสม


วัตถุประสงค์การสระผม


1. กำจัดสิ่งสกปรก ไขมัน แบคทีเรียที่อยู่บนหนังศีรษะและผม

2. กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่หนังศีรษะ

3. กระตุ้นต่อมน้ำมันให้ขับน้ำมันมาหล่อเลี้ยงผม

4. เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสุขสบาย



เครื่องใช้

1. น้ำอุ่นใส่ถังและขันหรือเหยือกสำหรับตัก พร้อมปรอทวัดอุณหภูมิน้ำ

2. ผ้ายาง 1 ผืน

3. ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน และผ้าถูตัว 1 ผืน

4. น้ำยาสระผม หรือ สบู่เหลว

5. หวีหรือแปรง

6. สำลี 2 ก้อน

7. ถังรองรับน้ำ

หลักการสระผมบนเตียง

1. ระหว่างการสระผม พยาบาลต้องสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย หากพบอาการผิดปกติ เช่นกระสับกระส่าย หายใจเหนื่อย ให้ล้างผมด้วยน้ำเร็ว ๆ และหยุดทำทันที

2. น้ำอุ่น ที่ใช้สระผม ต้องทดสอบความเหมาะสมโดยใช้หลังมือทดสอบ

3. ระมัดระวังน้ำและยาสระผมไหลเข้าหู หน้าตาผู้ป่วย

4. ดูแลให้ร่างกายอบอุ่น เช็ดผมให้แห้งหรือใช้เครื่องเป่าผม



วิธีการสระผมเด็กเล็ก

1. พยาบาลห่อตัวเด็กด้วยผ้าเช็ดตัว

2. ใช้มือรองรับศีรษะเด็ก ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ หรือนิ้วกลางปิดหูเด็กทั้งสองข้าง ให้ตัวเด็กอยู่ในวงแขนพยาบาล

3. ใช้ผ้าถูตัวหรือฟองน้ำชุบน้ำเช็ดที่ศีรษะใช้แชมพูเด็กสระผม ล้างและเช็ดด้วยน้ำจนสะอาด

4. เช็ดผมและศีรษะเด็กให้แห้ง แปรงผมให้เรียบร้อย

วิธีการสระผม

1. พยาบาลแนะนำตนเอง บอกให้ผู้ป่วยทราบและอธิบายวัตถุประสงค์และวิธีการสระผมบนเตียงอย่างง่าย ๆ เพื่อความร่วมมือและลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย

2. นำเครื่องใช้ไปที่เตียงผู้ป่วย วางไว้ในที่เหมาะสม และหยิบใช้สะดวก เพื่อประหยัดเวลาและแรงงาน

3. ปิดประตูหรือกั้นม่าน เพื่อป้องกันผู้ป่วยหนาวสั่น

4. เลื่อนตัวผู้ป่วยให้ลำตัวเฉียงกับที่นอนเล็กน้อย ให้ศีรษะอยู่ริมเตียง จะหนุนหมอนหรือไม่หนุนหมอนก็ได้ ตามที่ผู้ป่วยต้องการ เพื่อสะดวกในการสระผม

5. พับผ้าเช็ดตัว 4 ทบ รองบริเวณต้นคอ ปูผ้ายางที่ม้วนเป็นรางรอบบนผ้าเช็ดตัวให้ชายผ้ายางโอบรอบต้นคอมาทางด้านหน้าอก ใช้ที่หนีบผ้าหนีบไว้ ส่วนปลายผ้ายาง ใส่ในถังรองรับน้ำที่ใช้แล้วใช้ที่หนีบผ้าหนีบไว้กับขอบถัง เพื่อป้องกันน้ำไหลเปื้อนที่นอนและเสื้อผ้าผู้ป่วย

6. ใช้ผ้าเช็ดตัวอีกผืนคลุมหน้าอก เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นและป้องกันเสื้อผ้าเปียก

7. หวีหรือแปรงผมให้หนังถึงหนังศีรษะ เพื่อให้เศษผงและสิ่งสกปรกออก

8. ใช้สำลีอุดหูทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันน้ำเข้าหู

9.ใช้ผ้าถูตัวชุบน้ำพอหมาด ปิดตาผู้ป่วย เพื่อป้องกันยาสระผมและน้ำเข้าตา

10. ค่อย ๆ เทน้ำลงบนผมก่อน เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวก่อนว่า มีน้ำค่อย ๆ เทลงบนผม จากนั้นเทน้ำจากด้านหน้าไปด้านหลัง ให้ผมเปียกทั่วศีรษะ เทยาสระผมใส่ฝ่ามือ แล้วใส่บนผมแล้วใส่น้ำเล็กน้อยเพื่อให้เกิดฟอง ใช้ปลายนิ้วนวดศีรษะเป็นวงกลมให้ทั่ว เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตเพื่อให้ผู้ป่วยสุขสบาย แล้วล้างผมด้วยน้ำให้สะอาด ทำซ้ำอีกครั้ง ครั้งสุดท้ายอาจใช้ครีมนวดผม ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดเป็นวงกลมเบาๆรอบศีรษะ แล้วล้างผมจนสะอาดไม่มีน้ำยาสระผมติดอยู่บนผม ทำให้ผมไม่เหนียวและไม่คันศีรษะ

11.หยิบสำลีที่อุดหูและผ้าปิดตาออก ใช้ผ้าเช็ดตัวที่คลุมหน้าอกเช็ดผมให้แห้ง ปลดที่หนีบผ้าออก ดึงผ้ายางลงไปไว้ในถังรองน้ำ แล้วดึงผ้าเช็ดตัวที่รองใต้ต้นคอออก ปูบนหมอน เลื่อนตัวผู้ป่วยขึ้นให้ศีรษะอยู่บนหมอน เพื่อป้องกันหมอนเปียก ถ้าผู้ป่วยลุกนั่งได้ประคองผู้ป่วยนั่งบนเตียง เช็ดผมให้แห้ง

12.จัดท่าให้นอนในท่าสุขสบาย เพื่อความสุขสบายของผู้ป่วย

13.หวีหรือแปรงผมให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันผมเกาะติดและมองดูสวยงาม

14.เก็บเครื่องใช้ไปทำความสะอาด และเก็บเข้าที่ เพื่อความสะดวกในการใช้ครั้งต่อไป

15.บันทึกความผิดปกติที่พบ เพื่อเป็นหลักฐาน และข้อมูลประกอบการวางแผนการพยาบาล


สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำกัดด้วยสภาวะของโรค เช่น ผู้ป่วยที่หายใจลำบาก หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยโรคหัวใจ จึงควรงดเว้นไว้ก่อน หากมีความจำเป็นต้องทำความสะอาดผมให้สระโดยวิธีการสระผมแบบสระแห้งหรือการสระผมแบบฐานิกา คือทำคล้ายกับการ bedbath  โดยวิธีนี้ผู้เขียนเป็นคนคิดค้นเอง เนื่องจากปฏิบัติงานในไอซียู และผู้ป่วยมักจะนอนราบไม่ได้ แต่ไม่สุขสบายเนื่องจากไม่ได้สระผมเป็นเวลานาน  การสระผมแบบปห้งมีวิธี ดังนี้

1. ใช้ผ้าชุบน้ำ เช็ดผมบนศีรษะให้เปียกทั่วศีรษะ
2. เทแชมพูลงบนฝ่ามือ ชโลมแชมพูให้ทั่วศีรษะ
3. ใช้ปลายนิ้วนวดหนังศีรษะเบาๆจนทั่ว รวมทั้งขมับสองข้างเพื่อช่วยผ่อนคลาย
4. ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด เช็ดผมหลายๆครั้งจนหมดฟอง และไม่ลื่น
5. ใช้ผ้าเช็ดตัว เช็ดผมให้แห้ง
6. ใช้ไดร์เป่าผม และหวีจัดทรงให้เรียบร้อย

ข้อดีของการสระแห้งหรือการสระผมแบบฐานิกา
1. ผู้ป่วยจะอยู่ใน position ใดก็ได้
2. มีข้อจำกัดน้อยมาก
3. ผู้ป่วยสุขสบาย
4. สระให้ได้ทุก case แม้จะเป็นผู้ป่วยที่ heart failure จนไม่สามารถนอนราบได้
5.ใช้เวลาน้อย เหมาะกับผู้ป่วยที่เหนื่อยง่าย และabsolute bed rest
6. ผู้ป่วยพึงพอใจ

วิธีการสระผมแบบสระแป้ง โดยใช้แป้งทาตัวที่มีเนื้อแป้งละเอียด สีขาว เอาแป้งใส่ผมให้ทั่วแล้วหวีผม และใช้ผ้าขนหนูสะอาดเช็ดผม และหวีออกจะช่วยให้ฝุ่นละออง น้ำมัน และกลิ่นอับออกจากเส้นผมเพียงเท่านี้ผู้ป่วยก็จะสุขสบายมากขึ้น  การสระผมแบบนี้ ตอนแรกผู้เขียนมีความรู้สึกว่า ไม่ค่อยสะอาด เหมือนไม่ได้สระ แต่เมื่อลองสระให้ผู้ป่วยแล้ว ผู้ป่วยรู้สึกสุขสบายดี



สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะ ถ้าผู้ป่วยต้องการสระผม ให้ใช้น้ำสะอาดสระผมเท่านั้น ห้ามใช้ยาสระผมหรือครีมนวดผม เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณได้รับการฉายรังสี









อ้างอิง

ฐานิกา บุษมงคล. 2551. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาหลักการและเทคนิคการพยาบาล เรื่อง การดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคล. คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย.

พัชรี ตันศิริและคณะ.2543.คู่มือการพยาบาลเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8.กรุงเทพฯ : ภาควิชาการพยาบาล รากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.


เรณู สอนเครือ .2541.แนวคิดพื้นฐานและหลักการพยาบาล เล่ม 1. นนทบุรี :ยุทธรินทร์การพิมพ์จำกัด.

วรมนต์ ตรีพรหม.2537.สัญญาณชีพ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

วิจิตรา กุสุมภ์.2541. การพยาบาลผู้ป่วยที่มีบาดแผล. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.

สุปราณี เสนาดิศัย.(บรรณาธิการ). 2543. การพยาบาลพื้นฐาน แนวคิดและการปฏิบัติ.พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : บริษัทจุดทองจำกัด.

อภิญญา เพียรพิจารณ์ .(บรรณาธิการ).2540. แนวคิดพื้นฐานและหลักการพยาบาล เล่ม 1. กรุงเทพฯ :

ยุทธรินทร์การพิมพ์.

Aggleton, Peter and Chalmers, Helen.2000.Nursing Models and Nursing Practice .2nd ed. New York: Palgave.

Rish, Robinson.2001. Core Concepts in Advanced Practice Nursing. St Louis: Mosby.

Kockrow, Christensen. 1999. Foundation of Nursing. St Louis: Mosby.

student.mahidol.ac.th/~u4809224/index6.htm

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. VCD ประกอบการสอนวิชาหลักการและเทคนิคการพยาบาล.

http://www.youtube.com/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1