งูสวัดกับอัมพฤกษ์อัมพาต
เริ่มตั้งแต่ในปี 2014 ที่ได้เห็นรายงานในวารสาร โรคติดเชื้อทางคลินิก (clinical infectious disease) ถึงการติดตามคนไข้ที่เป็นงูสวัดและการเกิดมีเส้นเลือดในสมองผิดปกติเป็นอัมพฤกษ์ ในช่วงระหว่างปี 1987 ถึง 2012 จากจำนวน 6,584 ราย พบอัมพฤกษ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภายในช่วงหกเดือนหลังจากที่เกิดงูสวัดแล้วค่อยๆลดลงเรื่อยๆในช่วงหกเดือนถัดมา ผู้ที่อยู่ในการติดตาม ส่วนใหญ่มีอายุ 70 ขึ้น ตำแหน่งที่ดูจะมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับการเกิดอัมพฤกษ์จะเป็นงูสวัด ที่ขึ้นบริเวณหน้าและเข้าในลูกตา โดยจะเกิดอัมพฤกษ์สูงขึ้นถึงสามเท่าในช่วงเวลาห้าถึง 12 อาทิตย์ แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ งูสวัดที่ขึ้นที่ตำแหน่งอื่นของร่างกายก็เพิ่มความเสี่ยงเช่นเดียวกัน การให้ยารักษาต้านงูสวัดมีผลในการลดความเสี่ยง ซึ่งต้องตอกย้ำว่าโรคงูสวัดไม่ใช่เป็นแค่โรคที่ระวังผิวไม่สวยงาม หรือกลัวเป็นแผลเป็นเลยใช้แต่ยาทา ยาสมุนไพรเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการที่ไวรัสสามารถบุกทะลุทะลวงย้อนกลับเข้าเส้นประสาทสู่เส้นเลือด หรือแม้แต่ทะลวงเข้าสู่ไขสันหลังและสมองและการที่ไม่ให้ยาต้านไวรัสจะทำให้มีการอักเสบอย่างต่อเนื่อง มีเจ็บแสบร้อนเป็นปีหรือตลอดชีวิ...