การเช็ดตัวแบบ complete bed bath





การเช็ดตัวผู้ป่วยบนเตียง complete bed bath

(ฐานิกา บุษมงคล)


การเช็ดตัวผู้ป่วยบนเตียง ควรมีเวลามากพอ ต้องใช้เวลานานประมาณ 45 นาที หรือ 1 ชั่วโมง ควรเช็ดตัวก่อนอาหาร ก่อนนอน ถ้าหลังอาหารควรห่างจากการรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 20 นาที


วัตถุประสงค์ในการเช็ดตัวผู้ป่วย

1. เพื่อให้ร่างกายสะอาดปราศจากสิ่งสกปรก สิ่งขับหลั่งต่างๆ ให้ร่างกายสะอาดและสดชื่น และเสริมความมั่นใจในตนเอง

2. กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตที่ผิวหนัง

3. มีความรู้สึกสบาย คลายความตึงเครียด พักผ่อนได้

4. ส่งเสริมร่างกายให้มีการเคลื่อนไหว เป็นการออกกำลังกายของกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ

5. สังเกตความผิดปกติต่างๆของผิวหนัง

5.ช่วยลดความร้อน

6.ให้การถ่ายเทและขับสิ่งสกปรกออกทางผิวหนังได้ดีขึ้น


อุปกรณ์เครื่องใช้

1. ผ้าถูตัว 2 ผืน

2. ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน

3. สบู่พร้อมกล่องใส่สบู่

4. ภาชนะใส่เครื่องใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ โลชั่น/ครีมทาตัวแป้ง หวี ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เป็นตัน

5. อ่างอาบน้ำ ใส่น้ำ 2/3 ของอ่าง

6.ปรอทวัดอุณหภูมิน้ำ เป็นอุปกรณ์สำคัญชิ้นหนึ่งที่ไม่ค่อยเห็นพยาบาลไทยใช้กัน จึงอยากส่งเสริมและแนะนำให้ใช้ เพราะมีความแม่นยำมากกว่าการทดสอบด้วยมือ อุณหภูมิน้ำในผู้ใหญ่ 43 - 46 องศาเซลเซียสหรือ110 – 115 องศาฟาเรนไฮต์ ในผู้ป่วยเด็ก 38 – 40 องศาเซลเซียส หรือ 100 – 105 องศาฟาเรนไฮต์

7. ผ้าห่ม

8. เสื้อผ้าชุดใหม่พร้อมผ้าสำหรับปูเตียงให้ตรวจสอบก่อนว่าจะเปลี่ยนผ้าอะไรบ้าง



หลักการอาบน้ำบนเตียง

ตามหลักการพยาบาลแล้ว ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการ assessment (การประเมิน)

เมื่อ assessmet  ก็ปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

1. พยาบาลแนะนำตนเอง บอกให้ผู้ป่วยทราบและอธิบายวัตถุประสงค์และวิธีการอาบน้ำบนเตียงอย่างง่ายๆ พร้อมทั้งประเมินสภาวะของผู้ป่วยเพื่อความร่วมมือ และลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย

2. เตรียมเครื่องใช้ต่างๆ มาที่เตียงให้ครบถ้วน วางไว้ในที่เหมาะสม หยิบใช้สะดวก เพื่อประหยัดเวลาและแรงงาน

3. ปิดประตู หน้าต่าง พัดลม เพื่อไม่ให้ลมโกรกผู้ป่วย ป้องกันการสูญเสียความร้อนจากร่างกายขณะอาบน้ำ ทำให้ผู้ป่วยไม่หนาวสั่น กั้นม่านให้มิดชิด ดูแลให้หม้อนอน/กระบอกปัสสาวะ ถ้าผู้ป่วยตองการและกั้นม่านเพื่อให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกเป็นส่วนตัวไม่เปิดเผย

4. ล้างมือใส่ถุงมือ ถ้าพยาบาลมีบาดแผลหรือผู้ป่วยมีสิ่งคัดหลั่งหรือติดเชื้อ เพื่อป้องกันการนำเชื้อโรคสู่ผู้ป่วย และป้องกันเชื้อโรคจากผู้ป่วยเข้าสู่พยาบาล

5. เลื่อนไม้กั้นเตียงลงและเลื่อนตัวผู้ป่วยมาใกล้พยาบาล เพื่อความสะดวกขณะทำการพยาบาล ไม่ต้องเอื้อมตัว เพื่อป้องกันการปวดหลังของพยาบาล

6. คลุมผ้าห่มบนตัวผู้ป่วย คลุมผ้าเช็ดตัวบนผ้าห่มบริเวณหน้าอก ทำความสะอาดปากและฟัน และบ้วนปากด้วยน้ำยาสำหรับบ้วนปาก เพื่อป้องกันผ้าห่มเปื้อนและปากฟันสะอาด

7. ถอดเสื้อผ้าใส่ตะกร้าหรือถุงผ้าเปื้อนโดยถอดเสื้อแขนด้านไกลตัวออก ถ้าแขนผู้ป่วยให้สารน้ำ หรือบาดเจ็บ ให้ถอดข้างที่ไม่ได้ให้สารน้ำหรือข้างดีออกก่อน เพื่อถอดเสื้อได้สะดวก และป้องกันแขนที่บาดเจ็บ เจ็บปวดมากขึ้น

8. ใช้ผ้าถูตัวชุบน้ำบิดพอหมาด แล้วพันมือเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือพันมือเป็นรูปสามเหลี่ยมแล้วเหน็บชายผ้าให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันชายผ้าลุ่ยออกปัดไปตามตัวผู้ป่วย

9. ใช้มุมผ้าด้านหนึ่งเช็ดบริเวณเปลือกตา จากด้านหัวตาไปทางหางตา และใช้มุมผ้าอีกด้านเช็ดเปลือกตาอีกข้าง เช่นเดียวกันแล้วซักผ้า เช็ดอย่างนุ่มนวล เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากตาข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง และป้องกันการระคายเคืองบริเวณตา

10. ใช้ผ้าถูตัวชุบน้ำบิดพอหมาด เช็ดบริเวณหน้าผาก แก้ม จมูก รอบปาก คอ ใบหู หลังหู แล้วใช้ผ้าถูตัวอีกผืนชุบน้ำบิดพอหมาดและถูกับสบู่เช็ดบริเวณใบหน้า คอ และหู เช็ดอย่างนุ่มนวลเพื่อป้องกันการระคายบริเวณใบหน้า ถ้าผู้ป่วยไม่ชอบฟอกสบู่ที่หน้าให้ใช้น้ำสะอาดเช็ดเท่านั้น ใช้ผ้าถูตัวผืนแรกชุบน้ำบิดพอหมาดเช็ดให้ทั่วจนหมดสบู่และสะอาด และใช้ผ้าเช็ดตัวซับน้ำให้แห้งเพื่อป้องกันการระคายเคืองหรืออาการคัน

11. เลื่อนผ้าเช็ดตัวให้อยู่ใต้ผ้าห่ม คลุมบริเวณหน้าอกและท้อง เช็ดบริเวณหน้าอกและท้องโดยเฉพาะบริเวณใต้เต้านมของผู้หญิงให้ยกเต้านมขึ้นเช็ดด้วยน้ำสะอาด และสบู่ให้ทั่ว เช็ดด้วยน้ำจนสะอาดและซับน้ำให้แห้ง เพื่อลดจำนวนและการเจริญของแบคทีเรีย และจุลินทรีย์บริเวณผิวหนัง สำหรับผู้ชาย ให้เลื่อนผ้าห่มที่คลุมหน้าอกลงมาที่ท้องน้อยได้

12. เปลี่ยนน้ำ น้ำสกปรกมีคราบสบู่

13. ใช้ผ้าเช็ดตัวรองใต้แขนด้านไกลตัว เพื่อไม่ให้น้ำหยดถูกบริเวณที่สะอาดแล้ว ให้ผู้ป่วยช่วยยกแขนขึ้น ถ้าทำได้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหว และออกกำลังกาย หรือพยาบาลช่วยจับข้อมือและยกแขนขึ้นเช็ดแขนถึงรักแร้ด้วยน้ำสะอาด และสบู่ให้ทั่ว เช็ดด้วยน้ำจนสะอาดและซับน้ำให้แห้ง เพื่อลดการเกิดกลิ่นอับ/กลิ่นตัว

14. ใช้ผ้าเช็ดตัวรองใต้แขนด้านใกล้ตัวและเช็ดให้สะอาด เช่นเดียวกับแขนด้านไกลตัว เสร็จแล้วแช่มือทีละข้างหรือทั้งสองข้างในอ่าง ฟอกสบู่ให้ทั่งทังมือและตามซอกนิ้ว ล้างให้สะอาด ซับน้ำให้แห้ง เสร็จแล้วเปลี่ยนนำ การแช่มือทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสะอาดและสบาย

15. เลื่อนผ้าห่มมาคลุม( Drape) ปิดรอบต้นขาให้มิดชิด ปูผ้าเช็ดตัวใต้ขาด้านไกลตัว ทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดและสบู่บริเวณขาถุงสะโพกจนสะอาด ซับน้ำให้แห้ง เพื่อป้องกันการเปิดเผยบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์

16. เช็ดขาด้านใกล้ตัวเช่นเดียวกันและแช่เท้าในอ่างน้ำโดยใช้ผ้าห่มคลุมถึงเข่า ให้ผู้ป่วยชันเข่าทั้งสองข้างดึงชายผ้าทั้งสองข้างให้สอดทับกันถึงสะโพกเพื่อป้องกันการเปิดเผยบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ วางอ่างน้ำบนผ้าเช็ดตัว ยกเท้าลงแช่ในอ่างทีละข้างหรือทั้งสองข้าง ฟอกสบู่ บริเวณเท้าส้นเท้า ซอกนิ้วล้างให้สะอาด ซับน้ำให้แห้งเพื่อให้เท้าสะอาดไม่อับชื้น



17. พยาบาลเดินไปด้านตรงข้างตู้/โต๊ะข้างเตียง พลิกตะแคงตัวผู้ป่วยเข้าหาพยาบาลยกไม้กั้นเตียงขึ้น ถ้ามีผู้ป่วยให้จับตัวผู้ป่วยไว้เพื่อป้องกันผู้ป่วยตกเตียง

18. พยาบาลกลับมาที่เดิม เปิดผ้าห่มด้านหลังออกวางผ้าเช็ดตัวตามยาวบริเวณคอ หลัง เอว ตะโพก ก้นกบผู้ป่วยเพื่อป้องกันผ้าปูที่นอนเปียก เช็ดบริเวณหลังทั้งหมดด้วยสบู่และน้ำ เช็ดให้สะอาดซับน้ำให้แห้ง เทแอลกอฮอล์ 25 % ลงบนฝ่ามือพอสมควร ทาจากคอลงมาถึงตะโพกและจากตะโพกขึ้นไปถึงไหล่เพราะแอลกอฮอล์ช่วยให้เย็นสดชื่นเพราะระเหยเร็ว และทำให้เนื้อเยื่อเหนียวให้ทาแป้งหรือโลชั่นแล้วจึงนวดหลังเพื่อช่วยให้ผิวหนังลื่นลดการเสียสีขณะนวดหลัง

19.ให้ผู้ป่วยนอนหงายแป้งตามขั้นตอนเช่นเดียวกับเวลาเช็ดตัวโดยใช้ผ้าเช็ดตัวปูรองทุกส่วนของร่างกายใส่เสื้อผ้าให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันแป้งเปื้อนที่นอน

20. ใช้ผ้าเช็ดตัวปูที่นอนแล้วหวีผมให้ผู้ป่วยเพื่อป้องกันเส้นผมและสิ่งสกปรกตกบนหมอนและที่นอน ผมหวีเรียบร้อย

21. เปลี่ยนผ้าปูที่นอนและผ้าอื่นๆตามความจำเป็นเพื่อความสะอาดเรียบร้อยของเตียงผู้ป่วย

22. จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนในท่าที่สบายห่มผ้าให้ถ้าผู้ป่วยต้องการหรือมีอาการหนาวถ้าผู้ป่วยไม่ต้องการห่มผ้า พับผ้าห่มวางไว้ที่ปลายเท้าเตียงหรือพาดไว้ที่หัวเตียงเพื่อให้ผู้ป่วยสุขสบายร่างกายอบอุ่นและหยิบใช้สะดวก

23. นำเครื่องใช้ไปทำความสะอาดและเก็บเข้าที่เดิมเพื่อความสะดวกในการใช้ครั้งต่อไป

24. ดูแลสิ่งแวดล้อมบริเวณเตียงโต๊ะข้างเตียง เก็บของให้เรียนร้อย เหยือกน้ำ แก้วน้ำล้างให้สะอาดเพื่อความสะอาดเรียบร้อย

25. บันทึกอาการผู้ป่วยและความผิดปกติที่พบเพื่อเป็นหลักฐานและข้อมูลประกอบการวางแผน การพยาบาล



หลักการอาบน้ำบนเตียง

1. ไม่เปิดเผยร่างกายผู้ป่วย คลุมผ้าให้ผู้ป่วยขณะอาบเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น

2. พูดคุยกับผู้ป่วยขณะอาบน้ำและสังเกตความผิดปกติของผิวหนัง

3. เอาไม้กั้นเตียงขึ้นทุกครั้งเมื่อพยาบาลไม่อยู่ที่เตียงผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก / ผู้สูงอายุ / ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวหรือสับสน

4. ผู้ป่วยอยู่ในท่าสบาย พยาบาลอยู่ในท่าที่ถูกต้องตามหลักการทรงตัว และการเคลื่อนไหวที่ดี

5. ถอดเสื้อด้านไกลตัวพยาบาลออกก่อน เมื่อจะใส่เสื้อให้ใส่ด้านไกลตัว เช่นเดียงกันถ้าผู้ป่วยให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ หรือมีบาดแผลที่แขน ให้ถอดเสื้อแขนด้านดีออกก่อน เมื่อจะใส่เสื้อให้ใส่ข้างที่ให้สารน้ำ / มีบาดแผลก่อน เสร็จแล้วต้องตรวจนับอัตราการไหลของสารน้ำให้ถูกต้อง

6. ควรใช้ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน ผื่นแรกสำหรับรองใต้ส่วนต่างๆขณะทำความสะอาด เมื่อทำความสะอาดบริเวณนั้นเสร็จแล้ว ควรใช้ผ้าเช็คตัวอีกผืนซับน้ำให้แห้ง เพื่อป้องกันส่วนที่สะอาดแล้วปนเปื้อนกับสิ่งสกปรกที่อยู่บนผ้าเช็ดตัวผืนแรก

7. ผ้าถูตัวที่ใช้ฟอกสบู่ ให้วางไว้ที่กล่องสบู่

8. ซักผ้าถูตัวที่ใช้ฟอกสบู่ทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำ










อ้างอิง

ฐานิกา บุษมงคล. 2551. เอกสารประกอบการสอนรายวิชาหลักการและเทคนิคการพยาบาล เรื่อง การดูแลสุขวิทยาส่วนบุคคล. คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย.

http://www.youtube.com/

พัชรี ตันศิริและคณะ.2543.คู่มือการพยาบาลเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8.กรุงเทพฯ : ภาควิชาการพยาบาล รากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.


เรณู สอนเครือ .2541.แนวคิดพื้นฐานและหลักการพยาบาล เล่ม 1. นนทบุรี :ยุทธรินทร์การพิมพ์จำกัด.

วรมนต์ ตรีพรหม.2537.สัญญาณชีพ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

วิจิตรา กุสุมภ์.2541. การพยาบาลผู้ป่วยที่มีบาดแผล. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.

สุปราณี เสนาดิศัย.(บรรณาธิการ). 2543. การพยาบาลพื้นฐาน แนวคิดและการปฏิบัติ.พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : บริษัทจุดทองจำกัด.

อภิญญา เพียรพิจารณ์ .(บรรณาธิการ).2540. แนวคิดพื้นฐานและหลักการพยาบาล เล่ม 1. กรุงเทพฯ :

ยุทธรินทร์การพิมพ์.

Aggleton, Peter and Chalmers, Helen.2000.Nursing Models and Nursing Practice .2nd ed. New York: Palgave.

Rish, Robinson.2001. Core Concepts in Advanced Practice Nursing. St Louis: Mosby.

Kockrow, Christensen. 1999. Foundation of Nursing. St Louis: Mosby.

student.mahidol.ac.th/~u4809224/index6.htm

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. VCD ประกอบการสอนวิชาหลักการและเทคนิคการพยาบาล.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1