ขอนแก่นโมเดล

ขอนแก่นโมเดล
เหตุการณ์วิกฤตการเมืองที่เพิ่งผ่านไปที่สร้างความเสียหายและความเจ็บปวดให้กับทุก ๆ ฝ่าย นับตั้งแต่ผู้ชุมนุมเรียกร้องที่ในที่สุดกลายเป็นผู้ก่อการร้ายและรู้สึกว่าแพ้


เช่นเดียวกับรัฐบาล แม้จะสามารถจัดการกับปัญหาการชุมนุมที่ยืดเยื้อเรื้อรังได้ แต่ก็รู้สึกเจ็บปวดในท่ามกลางความรู้สึกของบางคนว่า ถึงทำการขอพื้นที่คืนได้สำเร็จ แต่ก็เป็นความเจ็บปวดของผู้ปกครอง หรือพ่อแม่ที่ดูแลแก้ปัญหาลูกทะเลาะกันจนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่เปรียบเหมือนลูก


ความเจ็บปวดของคนที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนความขัดแย้ง แต่ถูกกระทำจากอารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่ขัดแย้ง จนเกิดความสูญเสียอาคาร ทรัพย์สินต่างๆ


และแม้แต่คนที่ไม่ได้สูญเสียในแง่เงินทอง แต่เจ็บปวดที่เห็นคนไทยไม่รักกัน


ภาพของ ขอนแก่นโมเดล ที่มีคนเรียกขาน ที่เกิดจากกลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่พอใจรัฐ ตั้งด่านตรวจค้นทหารและตำรวจปิดถนน ขวางรถไฟจนเกิดเป็นต้นแบบของขอนแก่นโมเดลที่หลายๆ จังหวัดมีการลอกเลียนแบบ ทำให้ดูเหมือนสภาพรัฐล้มเหลวหรือ fail state ก็ยังเป็นที่จดจำกันได้


แต่มีขอนแก่นโมเดลที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2552 ต่อต้นปี 2553 เกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่นที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น แต่ไม่ดังเท่ากับขอนแก่นโมเดลแบบที่เพิ่งเกิด


อะไรหรือคือ ขอนแก่นโมเดลเชิงสร้างสรรค์ที่เวลานี้วงการแพทย์และสาธารณสุขกำลังถอดบทเรียนและเรียนรู้เพื่อนำไปปฏิบัติ


คงจะจำกันได้ว่า เมื่อต้นปีนี้มีข่าวการผ่าตัดต้อกระจกผู้ป่วย 25 ราย และเกิดการติดเชื้อจนทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นจำนวนถึง 10-11 ราย


แต่ทำไมข่าวที่เกิดข้นจึงไม่เป็นข่าวยืดเยื้อต่อเนื่องในสื่อต่างๆ เหมือนกรณีคุณดลพรหรือปรียานันท์หรือกรณีดอกรักและอื่นๆ


ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ความผิดพลาดขึ้น แทนที่โรงพยาบาลจะจ้องเอาผิดใครว่า “ใครวะๆ” เหมือนกรณีอื่นๆ ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาล คุณหมอวีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ คนไทยตัวอย่าง ได้เรียกประชุมแพทย์และพยาบาล และพูดว่า “สงสัยว่าเราต้องแสดงความรับผิดชอบ”


และคุณหมอวีระพันธ์ก็ได้ทำจริงๆ จนเกิดเป็น “ขอนแก่นโมเดล” อีกแบบหนึ่ง


สิ่งแรกที่โรงพยาบาลทำคือ ส่งพยาบาลที่เชี่ยวชาญการแก้ปัญหาความขัดแย้งและเจรจาไกล่เกลี่ย (Negotiation) ที่ไม่ใช่การต่อรอง (Bargain) และไม่ใช่การเกลี้ยกล่อมมาเจรจา


โชคดีที่คุณพิมพ์วรา อัครเธียรสิน พยาบาลของโรงพยาบาล ได้ผ่านการอบรมการแก้ปัญหาความขัดแย้งและเจรจาไกล่เกลี่ยและได้มีประสบการณ์หลายกรณี จนหลักสูตรไกล่เกลี่ยของสถาบันพระปกเกล้าได้เชิญมาเป็นผู้บรรยายพิเศษ โดยเฉพาะรู้จัก “ฟังอย่างตั้งใจ” และการ “ขอโทษอย่างแท้จริง ” (True Apology) ได้มาพบกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยทั้งสิบเอ็ดราย


และในที่สุดจากการเยียวยาทางจิตใจ และให้ค่าชดเชยสมควรกับกรณี โดยโรงพยาบาลยินดีที่จะดูแลผู้ป่วยแต่ละคนอย่างดีที่สุดต่อจากนี้ไป


ทำให้บรรเทาความเจ็บปวดทั้งทางกายและทางใจจนผู้ป่วยที่สูญเสียดวงตาให้อภัยและกลับมาบอกหมอผู้ผ่าตัดให้กำลังใจด้วยความเข้าใจว่า “หมออย่าเพิ่งท้อแท้นะ ”


จะเห็นว่าเมื่อเปรียบเทียบกรณี “ขอนแก่นโมเดล” ที่เกิดที่โรงพยาบาลศูนย์ น่าจะเป็นรูปแบบที่ดีให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น ที่เกิดความเจ็บปวดขึ้น


การเข้าไปดูแลและเยียวยาให้เกิดขึ้น น่าจะต้องทำด้วยความเข้าใจกันและกัน “รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา” เหมือนกรณีหมอกับคนไข้หรือไม่


การรู้จักหันหน้ามาเจรจากันที่ไม่ใช่การเอาแพ้เอาชนะกัน แน่นอนคนที่ทำผิดและพิสูจน์ได้ว่าตั้งใจกระทำให้เกิดการสูญเสียจะต้องถูกลงโทษ


แต่การเยียวยา รู้จักฟังกัน และหันหน้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยหรือสานเสวนาหาทางออกร่วมกันในผู้ที่ไมได้ตั้งใจ และมีความเห็นต่างโดยบริสุทธิ์ใจน่าจะใช้กระบวนการที่ผู้ที่รู้และเข้าใจการประสานอย่างแท้จริง


เหมือนเช่นกรณีขอนแก่นโมเดลหันหน้ามาเจรจาหรือสานเสวนาหาทางออก (deliberation) หากใช้คนที่ไม่รู้กระบวนการแก้ปัญหา ไม่เข้าใจการเจรจาไกล่เกลี่ย ได้แต่ต่อรองหรือเกลี่ยกล่อมหรือใช้คนที่ฟังคนอื่นเพียงเพื่อจะหาช่องว่างข้อบกพร่อง ไม่รู้จักการขอโทษอย่างแท้จริง การให้อภัย การฟื้นคืนดี และการสมานฉันท์อย่างแท้จริงก็คงไม่เกิดขึ้น


กระบวนการสร้างความปรองดองของคนในชาติ จึงจำเป็นที่น่าจะต้องเอาสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมาเป็นบทเรียน เพื่อหาทางออกโดยมีโจทย์ใหม่ของการสานเสวนาว่า “ประชาธิปไตยของไทยจะก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคงได้อย่างไร”


ดำเนินการเปิดเวทีสานเสวนาทั่วประทศ โดยอาศัยทีมงานที่เข้าใจกระบวนอย่างแท้จริง โดยใช้ขอนแก่นโมเดลแบบโรงพยาบาลศูนย์เป็นต้นแบบจะดีกว่าไหม

-------------------------------------

นพ. วันชัย วัฒนศัพท์

ศาสตราจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันพระปกเกล้าและกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2553 ปีีที่ 33 ฉบับที่ 11764

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เฉลยเก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาล(สุขภาพจิตและจิตเวช)

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1