เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาในการเลือกหัวข้อปัญหาวิจัย

การเลือกหัวข้อปัญหาวิจัยเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ผู้วิจัยจะต้องรู้จักเลือกหัวข้อปัญหาที่เหมาะสม หัวข้อปัญหาวิจัยที่ดีควรจะเป็นปัญหาที่

1. มีความสำคัญ มีคุณค่า หัวข้อปัญหาที่มีความสำคัญหรือมีคุณค่าต้องมีปัญหาที่จะให้ได้คำตอบหรือผลการวิจัยที่มีประโยชน์ทั้งในแง่ของการได้มาซึ่งความรู้ใหม่เป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้กับศาสตร์นั้นๆ ให้สมบูรณ์ขึ้นและในแง่ของการได้มาซึ่งสารสนเทศที่จะใช้ช่วยตัดสินใจในการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ

2. เป็นปัญหาที่จะค้นหาคำตอบได้ด้วยวิธีการวิจัย คือสามารถจะหาหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์มาอ้างอิงในการตอบปัญหานั้นได้ ไม่ใช่ปัญหาเชิงค่านิยมหรือเชิงจริยธรรมเช่น ควรให้นักศึกษาสวมเครื่องแบบมาเรียนหรือไม่ ปัญหาลักษณะนี้อาจปรับให้เป็นปัญหาวิจัยได้ว่า นักศึกษาที่สวมเครื่องแบบมาเรียนจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่านักศึกษาที่ไม่สวมเครื่องแบบมาเรียนหรือไม่

3. เป็นปัญหาที่น่าสนใจ นักวิชาการหรือผู้ปฏิบัติงานในสาขานั้นๆ มีความสนใจใคร่ทราบคำตอบด้วย หรือเป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงาน หรือ ผู้คนทั่วไปที่ต้องการคำตอบที่แน่ชัดมีหลักฐานมาสนับสนุนของสรุปอย่างชัดเจน

4. เป็นปัญหาที่ไม่ซ้ำซ้อนกับปัญหาที่ผู้อื่นได้เคยวิจัยหาคำตอบไว้แล้ว การพิจารณาว่าหัวข้อปัญหาวิจัยซ้ำซ้อนกันหรือไม่มักจะมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ก) คำถามวิจัยเป็นคำถามเดียวกันหรือไม่ ข) ประชากรที่ศึกษาเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ และ ค) วิธีการในการตอบคำถามใช้วิธีการเดียวกันหรือไม่ ถ้าคำตอบต่อคำถามเป็น "ใช่" ทั้ง 3 ประเด็นก็ถือได้ว่าเป็นการวิจัยซ้ำซ้อนเพราะคำตอบที่ได้จะไม่มีอะไรแตกต่างกัน เนื่องจากการวิจัยเป็นกิจกรรมที่มุ่งแสวงหาความรู้ใหม่ นักวิจัยจึงหลีกเลี่ยงที่จะทำวิจัยในหัวข้อปัญหาที่ได้มีผู้ศึกษาไว้แล้ว

5. ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือภัยพิบัติต่อผู้วิจัยหรือผู้ให้ข้อมูล

6. เป็นปัญหาที่สามารถจะดำเนินการวิจัยให้สำเร็จลุล่วงไปได้ คือมีลักษณะดังนี้

1) ขอบเขตของปัญหาจะต้องไม่กว้างจนเกินไป ปัญหาที่มีขอบเขตกว้างขวางอาจทำให้ต้องศึกษาตัวแปรหลายตัว ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นจำนวนมาก ต้องใช้เวลาและงบประมาณในการศึกษาเป็นจำนวนมากอาจทำให้การวิจัยนั้นมีปัญหาอุปสรรคตามมาด้วยอย่างมากมาย

2) เป็นปัญหาที่ผู้วิจัยมีพื้นความรู้มีความคุ้นเคยเป็นอย่างดี การที่ผู้วิจัยมีความรู้มีความคุ้นเคยกับเรื่องที่ศึกษาจะทำให้มองเห็นแนวทางในการวิจัยได้ชัดเจน สามารถกำหนดประเด็นปัญหาได้ชาญฉลาด เลือกวิธีวิจัยได้อย่างเหมาะสม สามารถเข้าใจข้อมูลต่างๆ อย่างลึกซึ้งทำให้การตีความข้อมูลเป็นเป็นอย่างถูกต้องน่าเชื่อถือ

3) มีหลักฐานข้อมูลเพียงพอที่จะตอบปัญหานั้นได้

4) มีเทคนิควิธี เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะนำมาใช้ศึกษาในเรื่องนั้นได้

5) เหมาะสมกับงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ได้รับ การวิจัยเป็นกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูงพอสมควร นักวิจัยจะต้องพิจารณาว่าหัวข้อเรื่องที่จะทำวิจัยนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง อยู่ในวงเงินงบประมาณที่จะได้รับหรือที่มีอยู่หรือไม่ ถ้าค่าใช้จ่ายมีมากกว่างบประมาณก็จะทำให้เป็นปัญหาต่อการทำวิจัย จนทำให้ไม่สามารถดำเนินการวิจัยให้สำเร็จลงได้

6) เหมาะสมกับเวลา ปัญหาวิจัยควรเป็นปัญหาที่นักวิจัยจะสามารถอุทิศเวลาที่มีอยู่มาศึกษาวิจัยได้ตามสมควร ถ้าผู้วิจัยมีเวลาที่จะอุทิศให้กับการวิจัยได้น้อยก็ไม่ควรเลือกปัญหาที่ต้องใช้เวลาในการศึกษานานหรือต้องทุ่มเวลาให้มาก เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องการจัดแบ่งเวลาของผู้วิจัย หรืออาจทำให้การวิจัยนั้นยืดเยื้อหรืออาจไม่สำเร็จได้

7) นักวิจัยมีความสนใจใคร่รู้คำตอบอย่างแท้จริง เพราะปัญหาที่นักวิจัยไม่ได้สนใจจะทำให้ขาดความกระตือรือร้นที่จะหาคำตอบ อาจทำให้การวิจัยดำเนินไปอย่างเชื่องช้า หรือถ้ามีปัญหาอุปสรรคก็จะเกิดความถ้อถอยได้ง่าย อาจทำให้การวิจัยนั้นไม่สำเร็จได้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1