ผู้บริหารการพยาบาล
ในทรรศนะของผู้เขียนแล้วผู้บริหารการพยาบาลเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังขององค์การเลยทีเดียว เพราะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการบริการ การคัดเลือกบุคลากร และความสำเร็จขององค์การ
ถ้าผู้บริหารการพยาบาลมีภาวะผู้นำมากพอก็จะนำพาองค์การสุขภาพมุ่งสู่ความสำเร็จได้ ผู้บริหารการพยาบาลถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญซึ่งต้องได้รับการสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนา
แต่ถ้าผู้บริหารการพยาบาลขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพทางการบริหารองค์การ ขาดความรู้และมุมมองทางด้านธุรกิจและการเงินก็อาจนำพาให้องค์การล้มเหลวได้เช่นกัน
จึงเป็นที่น่าเสียดายที่แม้ทุกคนจะทราบความจริงข้อนี้ แต่ยังขาดความตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของผู้บริหารการพยาบาล ทำให้ผู้บริหารการพยาบาลขาดโอกาสในการเข้ารับการศึกษาอบรมเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพ โดยเฉพาะ ด้านการบริหารธุรกิจ การเงิน ตลอดจนทักษะการบริหารองค์การอื่นๆ
Douglass LM. ,1996 กล่าวว่า เพื่อให้การบริหารการพยาบาลมีประสิทธิภาพ องค์การสุขภาพ ควรจัดให้มีผู้บริหารการพยาบาล (nurse manager) 3 ระดับคือ
1. ผู้บริหารการพยาบาลระดับต้น (first-line managers) หมายถึง หัวหน้าหอผู้ป่วย หรือหัวหน้าสถานพยาบาล มีหน้าที่จัดบริการรักษาพยาบาลในหน่วยย่อยต่างๆขององค์การสุขภาพ
2. ผู้บริหารการพยาบาลระดับกลาง (middle managers) หมายถึง ผู้จัดการรายกรณี(case manager) ผู้จัดการคลินิก(clinical nurse managers) และผู้ประสานงาน มีหน้าที่ประสานบริการระหว่างหน่วยบริการย่อยต่างๆในองค์การสุขภาพ
3. ผู้บริหารการพยาบาลระดับสูง (nurse executives) หมายถึง หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล หัวหน้ากลุ่มการพยาบาล รองผู้อำนวยการ มีหน้าที่ในการอำนวยการและบริหารจัดการ การรักษาพยาบาลทั้งหมดภายในองค์การสุขภาพ
Andrew Neitlich ผู้บริหารสถาบัน The Healthcare Performance Institute ได้กล่าวถึง กุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้บริหารการพยาบาลสู่ความสำเร็จไว้ดังนี้
1. ผู้บริหารการพยาบาลจะต้องมีความสามารถในการจัดการกับความกดดันรอบด้านที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน โดยคำนึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) อย่างรอบด้าน รวมทั้งความพึงพอใจของบุคลากร และแน่นอนเป้าหมายสูงสุดคือการบริการที่เป็นเลิศ
2. ผู้บริหารการพยาบาลเองจะต้องมีความอดทนสูงในการวางตัวให้เป็นที่ยอมรับนับถือ ความเคารพ และพัฒนาตนเองให้มีความสำเร็จในวิชาชีพ
3. ผู้บริหารการพยาบาลจะต้องแสดงออกซึ่งความมั่นใจในการแสดงบทบาทผู้บริหาร
4. ปฏิบัติงานด้วยความรักและศรัทธาในวิชาชีพ
5. องค์การเองจักต้องไม่มองเพียงผลผลิตหรือผลงานในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ต้องคำนึงความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการและบุคลากรเป็นสำคัญด้วย
ฐานิกา บุษมงคล
ความคิดเห็น