คน (Man)ทรัพยากรการบริหารอันทรงคุณค่า

คน (Man)ทรัพยากรการบริหารอันทรงคุณค่า

ฐานิกา  บุษมงคล, พยม.


คน (Man) เป็นหนึ่งในปัจจัยการบริหารที่สำคัญที่สุด ในการบริหารการพยาบาลแล้ว คนหมายถึง บุคลากรที่จำเป็นต้องใช้ในการบริหารการพยาบาล เช่น พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยเหลือผู้ป่วย พนักงานการแพทย์ พนักงานเวรเปล พนักงานกู้ชีพ เป็นต้น และอาจหมายรวมเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่จะมาปฏิบัติงานในองค์การพยาบาลเพื่อช่วยให้องค์การพยาบาลบรรลุเป้าหมาย ซึ่งในแต่ละองค์การพยาบาล ย่อมมีองค์ประกอบของทรัพยากรบุคคลที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทหลายอย่างของแต่ละองค์การพยาบาล

สำหรับการบริหารการพยาบาลแล้ว   การบริหารกำลังคน ถือเป็นประเด็นท้าทายผู้บริหารเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า ปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังในส่วนของพยาบาลวิชาชีพทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต สอดคล้องกับการศึกษาของ ดร.กฤษดา แสวงดี นักวิชาการพยาบาลชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการวิจัย "สุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทย" ซึ่งเป็นโครงการวิจัยระยะยาว 20 ปี (2552-2557) ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ให้เห็นปัญหาขาดแคลนพยาบาลของประเทศไทย ว่ามีสาเหตุเนื่องจาก

1) วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 รัฐบาลมีนโยบายคุมกำเนิดข้าราชการ ลดการบรรจุข้าราชการ การผลิตพยาบาลเลยถูกลดจำนวนลงเหลือ 4,500 คน

 2) นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ทำให้จำนวนผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนเพิ่มมาก

 3)รัฐมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกบริการสุขภาพ ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชีย ทำให้จำนวนผู้ป่วยจากต่างประเทศแห่แหนเข้ามารักษาตัวตามโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้แม้การให้บริการกับต่างชาติที่คิดค่าบริการราคาแพง แต่ก็ต้องใช้พยาบาลดูแลมากขึ้น

 4) สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จากเดิมเมื่อปี 2533 เรามีประชากรสูงอายุประมาณ 5 ล้านคน ปี 2550 เพิ่มมาเป็น 7.3 ล้านคน ปี 2573 คาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 17.7 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ทำให้มีความต้องการกำลังคนทางการพยาบาลมีมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต

5) สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก ความต้องการเป็นพยาบาลของเด็กรุ่นใหม่มีน้อยลงมาก เนื่องจากมีอาชีพใหม่ๆ รายได้ดีกว่าให้ผู้หญิงได้เลือกทำมากขึ้น ความต้องการเป็นพยาบาลก็เลยเปลี่ยนไป และผู้เขียนเองมีความเห็นเพิ่มเติมว่า

6) กำลังการผลิตเองก็มีไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องใช้ต้นทุนสูงในการผลิตบัณฑิตพยาบาล และมีการควบคุมคุณภาพในการเปิดสถาบัน หลักสูตร และการจัดการศึกษาอย่างเข้มงวด ซึ่งแม้จะมีข้อดีในแง่ของการประกันคุณภาพบัณฑิตแต่ก็มีผลต่อจำนวนบัณฑิตที่จะผลิตได้และเข้าสู่ตลาดแรงงาน(ฐานิกา บุษมงคล)


จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น การบริหารการพยาบาลในด้านกำลังคน จึงจำต้องให้ความสำคัญในการ การดึงดูดและดำรงรักษาบุคลากรทางพยาบาล สร้างความเข้าใจต่อบุคลากรให้ตระหนักว่าการให้บริการแก่ผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น โดยเน้นการพัฒนาบุคลากรให้มีภาวะผู้นำเพื่อสามารถเผชิญกับภาวะคุกคามรอบด้าน เช่นการเปลี่ยนแปลงในองค์กรตามยุคสมัย ความล้ำยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ โรคระบาดที่สามารถแพร่ข้ามประเทศได้อย่างรุนแรงรวดเร็ว ภัยธรรมชาติที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองการปกครอง

มีกระบวนการในการจัดและพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ค้นหาความสามารถพิเศษเฉพาะของแต่ละบุคคล พัฒนาให้บุคลากรมีความตื่นตัวในการทำงาน ในส่วนของค่าตอบแทนก็ควรดูแลให้มีความยุติธรรมและเหมาะสม การบริหารอย่างตระหนักในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคลากรด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ของผู้บริหารการพยาบาลเอง ไม่มองว่าบุคลากรเป็นเพียงเครื่องจักรที่ช่วยผลักดันให้องค์การประสบความสำเร็จ

เชื่อในธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นคนดีตามทฤษฎีวาย ด้วยการเปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการบริหาร มีช่องทางให้บุคลากรสื่อสารกับผู้บริหารการพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การดูแลให้ได้รับความยุติธรรมและการพิทักษ์สิทธิ์ตามขอบเขตแห่งวิชาชีพ มีธรรมาภิบาลในการบริหาร รู้จักที่จะสร้างขวัญและกำลังใจ การให้อภัยและให้โอกาส การเสริมสร้างพลังอำนาจ การบริหารความขัดแย้ง การพยายามตอบสนองความต้องการของบุคลากรอย่างเหมาะสมกับบุคลิกภาพ และการมีความกล้าที่จะนำเครื่องมือทางการบริหารใหม่ๆมาใช้ในองค์การ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1