เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจ (Continuous Positive Airway Pressure, CPAP) Therapy

เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจ
(Continuous Positive Airway Pressure, CPAP) Therapy


ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ วิชญ์ บรรณหิรัญ
American Board of Sleep Medicine, Certified International Sleep Specialist
ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


CPAP Therapy คืออะไร
คำว่า CPAP นั้นย่อมาจาก Continuous Positive Airway Pressure เป็นการรักษาที่ได้ประสิทธิผลดีที่สุดวิธีหนึ่งในการรักษา ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome, OSAS) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการในระดับปานกลาง ถึง รุนแรง CPAP มีหลักการในการรักษาคือ การเป่าความดันลมผ่านทางจมูกหรือปาก ผ่านบริเวณลำคอ และโคนลิ้น ซึ่งเป็นส่วนทางเดินหายใจส่วนต้น เพื่อให้เปิดขยายตัวตลอดเวลาโดยไม่ให้มีการอุดกั้นขณะที่นอนหลับ ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ใช้เครื่องสามารถหายใจรับอากาศอย่างพอเพียงและนอนหลับราบรื่นตลอดทั้งคืน โดยลมที่เป่าด้วยความดันนี้มักเป็นเพียงอากาศปกติ ไม่ใช่การให้ออกซิเจนตามโรงพยาบาล (ยกเว้นในบางรายที่จำเป็นมากเท่านั้น)

เครื่อง CPAP มีส่วนประกอบและรูปร่างหน้าตา เป็นอย่างไร
ปัจจุบันมีเครื่อง CPAP อยู่หลายแบบเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามส่วนประกอบของเครื่อง CPAP หลัก ๆนั้นจะคล้ายกัน ได้แก่ 1. ส่วนของเครื่องสร้างความดันลม 2. ส่วนของหน้ากากและสายรัดศีรษะ (CPAP Mask) 3.ส่วนของท่อลม และ 4.อุปกรณ์เสริมอื่น ๆ เช่น เครื่องอบไอน้ำ หรือหน้ากากสำรอง เป็นต้น



ควรเลือกรักษาด้วย CPAP แบบใด
ก่อนการรักษาด้วย CPAP ท่านต้องได้รับการตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ รวมถึงต้องได้รับการตรวจสุขภาพการนอนหลับก่อนเสมอ เพื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้องอันจะใช้ในการอ้างอิง เพื่อดูแลรักษาท่านในระยะยาวต่อไป และเมื่อท่านร่วมตัดสินใจกับแพทย์ว่า เป็นการรักษาที่เหมาะสมกับท่านแล้ว ท่านต้องตัดสินใจเลือกประเภทของเครื่อง เนื่องจากในปัจจุบัน มีเครื่อง PAP อยู่หลายแบบ ซึ่งแบ่งง่าย ๆ จะเป็น 1. เครื่องเป่าความดันลมแบบธรรมดา หรือ Manual CPAP 2.เครื่องเป่าความดันลม 2 ระดับ (Bilevel PAP หรือ BiPAP) และ 3. เครื่องเป่าความดันลมแบบปรับความดันอัตโนมัติ (Auto-adjusting PAP หรือ APAP) ในกรณีทั่วไปการใช้เครื่องแบบธรรมดาก็อาจเพียงพอซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าแบบอื่น ท่านจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะว่าแบบใด และความดันลมเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับภาวะโรคของท่านโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย นอกจากนี้อาจมีรายละเอียดพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งท่านต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการรวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ของท่านเองด้วย



CPAP มีวิธีใช้อย่างไร
การใช้เครื่อง CPAP นั้น จะเริ่มใช้เฉพาะเวลาที่ท่านกำลังจะนอนหลับ โดยท่านควรใช้ตลอดทั้งคืนและทุกคืนให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อให้เกิดผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวของท่าน วิธีการใช้ไม่ยุ่งยากและไม่ซับซ้อน ซึ่งในส่วนรายละเอียดเล็กน้อยทางเทคนิคเจ้าหน้าที่เฉพาะด้านนี้จะช่วยให้คำแนะนำท่านได้ ขั้นตอนง่ายๆ เช่นเพียงเปิดเครื่องก่อน เช็คระดับความดันลม และสวมหน้ากาก เพื่อให้ลมเป่าผ่านทางท่อเข้าสู่ทางเดินหายใจอย่างถูกต้อง แล้วจึงเข้านอน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักใช้เพียงหน้ากากที่ครอบจมูก (Nasal Mask) แต่บางครั้งอาจใช้หน้ากากแบบที่ครอบทั้งจมูกและปาก (Full-Face Mask) และน้อยรายมากที่จะใช้หน้ากากครอบเฉพาะบริเวณปาก (Oral mask)

full face mask for CPAP


oral mask



ประโยชน์ หรือ ข้อดี ของการรักษาด้วย CPAP
การรักษาด้วยเครื่อง CPAP นั้นตามรายงานการวิจัยทั่วโลก จัดว่าเป็นการรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับระดับปานกลางหรือรุนแรง ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในแบบที่ไม่ต้องผ่าตัด ถ้าท่านได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและปรับความดันที่เหมาะสมกับท่านที่สุดโดยแพทย์เฉพาะทาง และท่านได้ใช้เครื่องตลอดทั้งคืน จะข้อดีมีทั้งในระยะสั้น คือ ท่านจะไม่มีอาการนอนกรนและจะนอนหลับได้ดีขึ้นพร้อมกับได้รับอากาศอย่างเต็มที่ ตื่นขึ้นมาจะสดชื่น ลดอาการอ่อนเพลีย หรือ ความง่วงนอนตอนกลางวันอย่างที่ท่านรู้สึกความแตกต่างได้ รวมถึงในระยะยาวจะลดความเสี่ยงจากโรคแทรกซ้อนหรืออาการอื่นๆที่เกิดจากภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับด้วย โดยหากท่านติดตามดูแลกับแพทย์อย่างใกล้ชิด จะมีความเสี่ยงในการรักษาน้อย

ข้อเสีย หรือ ผลข้างเคียงจากการใช้ CPAP
ผลข้างเคียงต่อสุขภาพที่พบบ่อยๆ มักเกิดจากหน้ากากที่ใช้ เช่น อาจไม่พอดีกับครงหน้าของท่าน ทำให้แน่นไปจนเป็นรอยกดทับ หรือแผลถลอก หรืออาจหลวมไปจนเกิดความรำคาญ นอกจากนี้การที่ต้องใช้ลมเป่าผ่านจมูกของท่านทุกคืนเป็นเวลานาน ๆ บางรายอาจมีปัญหาเรื่องโรคจมูกหรือไซนัสกำเริบขึ้น เช่นอาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดจมูก เลือดกำเดาไหล เป็นต้น ทำให้ใช้เครื่องไม่ได้หรือใช้น้อยลงกว่าเดิม ซึ่งส่วนนี้ท่านอาจให้แพทย์หู คอ จมูก ช่วยประเมินหรือดูแลรักษาร่วมด้วย และสำหรับท่านที่มีโรคประจำตัวหลายอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคทางสมอง หรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ท่านควรปรึกษาแพทย์อายุรกรรมและติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการใช้เครื่อง แม้ว่าจะพบไม่บ่อยก็ตาม


ข้อเสียอื่น ๆ ที่ตามความเห็นของผู้ป่วยหลายราย คือ ท่านอาจจะรู้สึกไม่ประทับใจในภายแรกที่ได้เห็น เครื่องหรือหน้ากากว่าไม่ค่อยน่าใช้ บางรายทดลองใช้แล้วเกิดความอึดอัดรำคาญทำให้นอนหลับไม่สนิท รวมถึงความไม่สะดวกต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีท่านต้องเดินทางไกลหรือเปลี่ยนสถานที่นอนหลับบ่อย นอกจากนี้หลาย ๆ ท่านอาจต้องใช้เครื่องไปตลอดชีวิต ยกเว้น รายที่สามารถแก้ที่ต้นเหตุของโรคได้จึงอาจหยุดใช้เครื่องได้ในภายหลัง

ถ้าทดลองใช้แล้ว ใช้เครื่องไม่ได้ มีทางแก้ไขอย่างไร
โดยหลักการแล้วท่านต้องให้ แพทย์ตรวจประเมินและวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้ท่านไม่สามารถใช้เครื่องได้ เช่นหลายรายอาจมีโรคทางจมูก เช่นผนังกั้นจมูกคด ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ภูมิแพ้ เป็นต้น นอกจากนี้ควรหาสาเหตุทางกายภาพอื่น ๆ ร่วมด้วยแล้วทำการรักษาอย่างเหมาะสม หากท่านมีปัญหาเรื่องหน้ากาก ท่านอาจเปลี่ยนได้หลายแบบเนื่องจากปัจจุบันมีหน้ากากให้เลือกเป็นจำนวนมากขึ้น โดยท่านควรจะพยายามใช้เครื่องให้มากที่สุด หรือถ้าเป็นไปได้อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อนที่จะตัดสินใจแล้วว่าท่านไม่สามารถใช้ได้จริง ๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นท่านควรปรึกษากับแพทย์ถึงทางเลือกการรักษาอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดแบบต่างๆ หรือเครื่องมือทางทันตกรรม เป็นต้น

ข้อควรรู้อื่น ๆ
ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในเครื่องเป่าลมแบบธรรมดา (manual CPAP) อาจมีราคาประมาณ 3-4 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นแบบอัตโนมัติ (AutoPAP) หรือความดัน 2 ระดับ (BiPAP) ราคาจะสูงขึ้นเป็น 2 – 3 เท่าตัว ทั้งนี้หากท่านได้รับการตรวจสุขภาพการนอนหลับ (Sleep test) และได้รับการตั้งค่าความดันลมแบบมาตรฐาน (CPAP Titration) ภายในห้องตรวจการนอนหลับเฉพาะที่ได้รับการควบคุมและแปลผลอย่างถูกต้องเชื่อถือได้ ท่านอาจจะใช้เพียงเครื่องแบบธรรมดาซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายของท่านได้มาก และปัจจุบันในถ้าท่านใช้สิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลแบบข้าราชการ เครื่อง CPAP จะสามารถเบิกได้บางส่วน คือราว 2 หมื่นบาท ซึ่งจะช่วยท่านลดค่าใช้จ่ายลดไปได้มาก

การใช้เครื่องเป่าความดันลมเพื่อรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะหลับนั้น มีประโยชน์อย่างมากต่อท่านหากท่านได้ใช้อย่างตลอดและต่อเนื่อง ซึ่งท่านจะต้องหมั่นทำความสะอาดเครื่องอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดอัตราการติดเชื้อโรค รวมถึงต้องติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิดกับแพทย์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ท่านมีคุณภาพชีวิตทั้งด้านการนอนและสุขภาพอื่นๆ ดีขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อไปในอนาคต

 ------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ ผู้เขียนและ  http://www.nksleepcare.com/

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1