ทีมสุขภาพกับ‬เหตุระเบิดที่ราชประสงค์ในมุมมองของพยาบาลวิชาชีพ

บทความ เรื่อง ทีมสุขภาพกับ‬เหตุระเบิดที่ราชประสงค์ในมุมมองของพยาบาลวิชาชีพ

โดย ฐานิกา บุษมงคล  พย.บ. มหาวิทยาลัยมหิดล, พย.ม. มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทนำ
เหตุระเบิดที่ราชประสงค์ในวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมานั้น ได้ก่อให้เกิดความตระหนกต่อประชาชนชาวไทยเพียงใด ทุกๆท่านก็คงรับรู้รับทราบกันเป็นอย่างดี แต่หลังจากสิ้นเสียงระเบิด สิ่งที่ตามมาคือ ผู้ที่เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจจากเหตุระเบิด สิ่งเหล่านี้จึงเกี่ยวพันกับบุคลากรสาธารณสุขซึ่งมีหน้าที่ในการรับมือเหตุการณ์ที่ต้องมีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมากเช่นนี้

ก่อนเกิดเหตุการณ์
ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์บุคลากรสาธารณสุข ควรที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการ และซักซ้อมการกระทำตามแผนอยู่เป็นประจำ เช่นเดียวกับการซ้อมแผนรับอัคคีภัย แผนรับภัยพิบัติ และแผนรับอุบัติเหตุหมู่เป็นต้น

หลังเกิดเหตุการณ์ทันที
ควรมีความชัดเจนว่า ใครจะเป็นผู้จัดการด้านสาธารณสุขในเหตุการณ์นี้ คนๆนี้จะต้องเป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งไว้แล้ว และสามารถที่จะปฏิบัติการได้ทันทีที่เกิดเหตุ โดยเขาจะต้องเป็นผู้ที่สามารถประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก  มีอำนาจสั่งการ มีความเข้าใจในแผนปฏิบัติการเป็นอย่างดี มีภาวะผู้นำสูง และรู้จักการกระจายอำนาจและกระจายงานอย่างเหมาะสม

ผู้จัดการสาธารณสุขออกคำสั่งเริ่มแผนปฏิบัติการ โดยผู้บาดเจ็บมักจะถูกลำเลียงไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพที่จะรับผู้ป่วยประเภทนี้ได้ และเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด โดยกลุ่มที่เข้าถึงผู้ป่วยเร็วที่สุดมักจะเป็นกลุ่มอาสา กลุ่มกู้ชีพนเรนทร ดังนั้นกลุ่มนี้ก็จะต้องฟังคำสั่งจากผู้จัดการเหตุการณ์ด้วย และต้องบรรจุกลุ่มคนเหล่านี้ไว้ในแผนปฏิบัติการด้วย

อย่างไรก็ตามกลุ่มกู้ชีพนี้ก็ควรมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยของตัวเจ้าหน้าที่ด้วย อาทิชุดเครื่องแบบ อุปกรณ์ต่างๆ และก่อนจะเข้าพื้นที่ควรที่จะได้รับคำสั่งหรือได้รับอนุญาตจากฝ่ายความมั่นคงด้วย เนื่องจากอาจเกิดเหตุระเบิดซ้ำ หรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เนื่องจากการเข้าพื้นที่โดยพลการและยังทราบข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้อาจจะเผชิญกับสารเคมี การรั่วไหลของก๊าซ หรือระเบิดที่หลงเหลืออยู่เป็นต้น

ระบบข้อมูลข่าวสารและการประสานงานเมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ ก็ควรที่จะมีการเตรียมการเป็นอย่างดี โดยเขียนไว้ในแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจน และกระทำตามแผน ว่า จะสื่อสารกันในหมู่ผู้ปฏิบัติงานอย่างไร จะใช้วิทยุสื่อสาร โทรศัพท์ กลุ่มไลน์ หรืออะไรก็ต้องให้ชัดเจน คำนึงถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลเป็นหลัก

ในส่วนของโรงพยาบาลเมื่อได้รับแจ้งจากศูนย์นเรนทรว่าจะส่งตัวผู้บาดเจ็บมา ทางโรงพยาบาลเองก็จะทำตามแผนปฏิบัติการเช่นกัน โดยมีผู้จัดการเช่นกัน เป็นผู้สั่งการและบริหารงานในการรับ ดูแล รักษา พยาบาลอย่างใกล้ชิด ในการนี้แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานการแพทย์ เวรเปล และเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ จะถูกจัดแบ่งเป็นทีมย่อย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างถูกต้องและทันท่วงที

แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นๆอาจจะถูกเรียกตัวเพื่อมาช่วยงานเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากอัตรากำลังในสภาวะปกติ ย่อมไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่มาก และอาการหนักได้

หน่วยเวชระเบียนจะต้องเข้ามาปฏิบัติงานยังโซนรับผู้บาดเจ็บ เพื่อจัดทำเวชระเบียน ซักประวัติผู้ป่วย และจัดทำรายชื่อผู้ปวยเพื่อให้ผู้จัดการตรวจสอบและเสนอผู้อำนวยการโรงพยาบาล ก่อนที่จะติดบอร์ดประกาศให้ญาติและสื่อมวลชนรับทราบ โดยบอร์ดที่ติดประกาศอาจจัดทำง่ายๆ เพื่อให้รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และ สามารถเติม แก้ไขรายชื่อใหม่ได้ตลอด ตัวอักษรก็ควรมีความชัดเจน  ป้ายประกาศควรที่จะอยู่ในตำแหน่งที่สูงพอที่ประชาชนจะมองเห็นในระยะไกลพอควร  ไม่ใช่คนข้างหน้ายืนดูแล้วบังคนข้างหลังหมด จนสื่อมวลชนไม่สามารถถ่ายภาพได้

การพิจารณาส่งต่อ เป็นอำนาจของแพทย์เจ้าของไข้และผู้จัดการ

หน่วยงานประชาสัมพันธ์ จะต้องเข้ามาในเขตรับผู้บาดเจ็บ ต้องออกจากห้องทำงาน มาทำหน้าที่ในด้านการประชาสัมพันธ์ การพูดคุยกับญาติผู้บาดเจ็บ การตอบคำถามญาติ และสื่อมวลชน

หลังจากเคลียร์ผู้บาดเจ็บออกจากห้องฉุกเฉินหมดแล้ว
ก็จะเป็นบทบาทหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ประจำแต่ละหน่วยของโรงพยาบาล ที่จะดูแลผู้ป่วยตามอาการเฉพาะของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามในเหตุระเบิดนั้นการบาดเจ็บคงไม่เกิดเฉพาะทางร่างกายเท่านั้น ดังนั้นทีมสุขภาพจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพจิต ผู้บาดเจ็บควรจะได้รับการประเมินและดูแลทางด้านสุขภาพจิตทุกราย

ข้อควรตระหนัก
ควรมีการประชุมก่อนและหลังปฏิบัติงานของทีมในทุกๆวัน เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามวงจรคุณภาพคือ PLAN DO CHECK and ACTION

‪#‎PrayForThailand‬
#‬เหตุระเบิดที่ราชประสงค์2015

บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของนางฐานิกา บุษมงคล
สามารถแชร์ได้ แต่ห้าม copy
สนใจซื้อบทความชิ้นนี้ ติดต่อ aj.thanika@gmail.com หรือ โทรศัพท์ 085 645 8080

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1