เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO)ที่ #ปอ ใช้
loading...
จากแถลงการณ์ของคณะแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แจ้งว่า # ปอ ทฤษฎี ดาราชื่อดังป่วยเป็นไข้เลือดออก อาการทรุดหนัก จนต้องปั๊มหัวใจหลายครั้ง และใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจและปอด(ECMO) เรามาทำความรู้จักกับเจ้าเครื่องนี้กันค่ะเครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO)
ปัจจุบันมีอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆมากมายที่ทำหน้าที่ทดแทนการทำงานของอวัยวะปกติในกรณีที่อวัยวะนั้นๆไม่สามารถทำงานตามปกติ เช่น เครื่องไตเทียมทำการฟอกเลือดในภาวะไตวาย หรือภาวะตับวายก็ใช้เครื่องฟอกเลือดเพื่อกำจัดของเสียแทนตับ เพื่อรอให้อวัยวะดังกล่าวนั้นได้รับการรักษาจนกระทั่งกับมาทำงานเป็นปกติหรือรอการปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ สำหรับหัวใจและปอดที่ทำงานผิดปกติจนไม่สามารถประคับประคองด้วยยาและเครื่องช่วยหายใจก็มีการทดแทนด้วย เอคโม่ (ECMO: Extracorporeal membrane oxygenation) อุปกรณ์ที่จะทำหน้าที่ปั๊มเลือดทดแทนการบีบตัวของหัวใจ ร่วมกับทำหน้าที่แลกเปลี่ยนออกซิเจนทดแทนปอด โดยอาศัยหลักการเดียวกับเครื่องหัวใจและปอดเทียม (Cardiopulmonary bypass machine) ที่ใช้ในการผ่าตัดหัวใจ ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้สามารถใช้ทดแทนหัวใจและปอดได้ยาวนานและปลอดภัยขึ้น จากหลายชั่วโมงเป็นหลายวัน โดยที่มีภาวะแทรกซ้อนต่อผู้ป่วยน้อยที่สุด ระยะเวลาการใช้ เอคโม่ โดยเฉลี่ย 2.5-11.5 วัน (นานที่สุดประมาณ 30 วัน)1 ประโยชน์ของการใช้ เอคโม่ ได้แก่
1) ประคับประคองเพื่อรอให้อวัยวะกลับมาทำงานเป็นปกติ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการติดเชื้อ ภาวะการหายใจล้มเหลวจากการติดเชื้ออย่างรุนแรงที่ปอด ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงจนทำให้การทำงานของปอดและหัวใจผิดปกติ หรือหลังการผ่าตัดหัวใจที่หัวใจทำงานไม่ดีเพื่อรอให้หัวใจกลับมาทำงานได้ตามปกติ
2) ประคับประคองระหว่างรอการตัดสินใจ เช่น กรณีที่หัวใจหยุดเต้นฉับพลันสามารถใช้ระหว่างการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ทำให้มีเวลาในการตัดสินใจเพื่อเลือกการตรวจและรักษาที่เหมาะสมมากขึ้น
3) ประคับประคองระหว่างรอการผ่าตัดหรือการรักษาอื่นๆ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการอุดตันของเส้นเลือดหัวใจภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอดเฉียบพลัน ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยให้มากขึ้น
4) ประคับประคองระหว่างรอการปลูกถ่ายหัวใจหรือปอด เช่น ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง เนื่องจากคิวในการรอรับอวัยวะที่บริจาคยาวนาน
นอกจากนี้ยังมีการนำ เอคโม่ ไปใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการหนักจนไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือหากเคลื่อนย้ายด้วยวิธีปกติจะมีความเสี่ยงที่อาการจะแย่ลงหรือเสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้าย การเคลื่อนย้ายด้วย เอคโม่ ก็จะมีความปลอดภัยมากกว่า หรือเป็นการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ใส่ เอคโม่ ไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า หรือเป็นโรงพยาบาลที่สามารถทำการปลูกถ่ายอวัยวะได้
เอคโม่ จึงนับว่าเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในโรงพยาบาล และระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยลดลง เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ผู้ป่วยสามารถย้ายไปเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมมากขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีเวลาในการรอเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะมากขึ้น
ผู้ประพันธ์บทความ นพ. ศิริวสันต์ อกนิษฐาภิชาติ เชี่ยวชาญศัลยกรรมทั่วไป สาขาศัลยศาสตร์ทรวงอก
บทความอื่นๆที่แนะนำให้อ่าน
http://thaists.org/news_files/news_file_496.pdf
เอกสารต้นฉบับ
ความคิดเห็น