หนังสือปริทรรศน์: องค์การเพื่อการเรียนรู้
หนังสือปริทรรศน์
องค์การเพื่อการเรียนรู้
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุรพร
ศุทธรัตน์
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พ.ศ. 2552
ฐานิกา บุษมงคล
องค์การเพื่อการเรียนรู้นั้น
เป็นความมุ่งหวังขององค์การทางธุรกิจทั้งหลาย ภายใต้ความเชื่อที่ว่า เมื่อก้าวเข้าสู่องค์การเพื่อการเรียนรู้ได้สำเร็จแล้ว
องค์การธุรกิจจะสามารถฟันฝ่าวิกฤตและสามารถอยู่รอดและเจริญรุ่งเรืองอยู่ได้
ดังเช่นที่แนวความคิดนี้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ
หนังสือ
องค์การเพื่อการเรียนรู้ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุรพร ศุทธรัตน์ แห่งคณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับใช้เป็นหนังสืออ้างอิงประกอบการเรียนการสอนและการวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา
และผู้ที่สนใจในการพัฒนาตนเอง พัฒนาองค์การที่ตนปฏิบัติงานอยู่
เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ ทั้งยังเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาว่าองค์การของตนเองได้ก้าวเข้าสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้สำเร็จแล้วหรือไม่
และยังใช้เป็นแนวทางในการประเมินลักษณะของการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้ในเบื้องต้น
หนังสือได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วน คือ
ส่วนที่
1 บทนำและแนวคิด
ในส่วนนี้ผู้เขียนได้รวบรวมแนวความคิดต่างๆในการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้ของนักวิชาการหลายคนซึ่งได้เสนอแนะวิธีการปรับองค์การเพื่อให้เป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้ไว้ในหลากหลายแนวทางที่แตกต่างกัน
ได้แก่ Ray Stata, Peter Senge, David A. Garvin, Dave
Ulrich, Joan Kremer Bennett and Michael J. O’Brien, Martha A. Gephart et. Al.,
Swee C. Goh ผู้เขียนได้ยกแนวคิดของนักวิชาการมาพอสังเขปและอธิบายสั้นๆ
อีกทั้งสรุปแนวคิดการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้ในรูปแบบตาราง
ทำให้ผู้อ่านมองเห็นแก่นของแต่ละแนวคิดได้อย่างชัดเจน ผู้เขียนได้ขอให้ผู้อ่านทำความเข้าใจความหมายของ
2 คำ คือองค์การเพื่อการเรียนรู้ กับ การเรียนรู้ขององค์การ
ก่อนที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ต่อไป เพื่อให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ชัดเจน เนื่องจาก
2 คำนี้มีการใช้สลับกันไปมาตามบทความต่างๆอย่างกว้างขวาง สรุปว่า องค์การเพื่อการเรียนรู้ คือ
องค์การที่สามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องโดยผ่านสมาชิกขององค์การทั้งระดับบุคคลและระดับกลุ่ม
จากทั้งภายในและภายนอกองค์การ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
รวมทั้งเกิดความได้เปรียบและอยู่รอดในธุรกิจ การเรียนรู้ขององค์การเป็นการตอบคำถามว่าองค์การเรียนรู้ได้อย่างไร
และอธิบายความสำคัญของการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้ต่อธุรกิจในสังคมไทยอีกด้วย
ส่วนที่
2 ปัจจัยการเรียนรู้
ในส่วนที่ 2 นี้
ผู้เขียนได้อธิบายเกี่ยวกับการเรียนรู้ การแบ่งประเภทการเรียนรู้
ขั้นตอนการเรียนรู้ เครื่องมือการเรียนรู้ ระดับการเรียนรู้ในองค์การ
และแหล่งความรู้ขององค์การ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ประเภทการเรียนรู้แบ่งเป็น
3 ประเภท คือ
1.การแสวงหาความรู้และความเข้าใจอย่างถ่องแท้
การเรียนรู้โดยทั่วไปคือ การ
แสวงหาข้อมูล(Information) ซึ่งมักถูกมองว่าช้าและน่าเบื่อ แต่การเรียนรู้ในระดับความคิด(Cognitive
learning)
จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาได้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความคิด
เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งและทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ และคิดแนวทางใหม่ได้ในที่สุด
2.การสร้างนิสัยและทักษะในการเรียนรู้
การเรียนรู้ต้องอาศัยนิสัยและทักษะการ
เรียนรู้
ซึ่งเกี่ยวข้องกับทฤษฎีพฤติกรรมของ Skinner ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยการให้รางวัลแทนการลงโทษ
โดยให้รางวัลทันทีที่มีการทำในสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนความผิดพลาดและพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องจะไม่ถูกลงโทษแต่จะถูกละเลยแทน
3.การสร้างเงื่อนไขทางอารมณ์และความกังวลในการเรียนรู้
ซึ่งมีความสัมพันธ์กับ
ทฤษฎีของ
Pavlov โดยทั่วไป
เงื่อนไขทางอารมณ์เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อรางวัล แต่ถ้าเราหยุดให้รางวัลก็จะเริ่มพฤติกรรมละเลยการเรียนรู้ทันที
พฤติกรรมการละเลยการเรียนรู้จากการลงโทษจะอยู่คงทนกว่าพฤติกรรมการเรียนรู้โดยให้รางวัล
ส่วนความกังวลใจในระดับที่พอเหมาะจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ตามวิธีนี้
แต่ถ้ามีความกังวลใจในระดับที่มากเกินไปจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้
ขั้นตอนการเรียนรู้ ผู้เขียนได้ยกเอาขั้นตอนของการเรียนรู้ของ
Wick and Leon (1993)
มาอธิบายโดยมีทั้งสิ้น 5 ขั้นตอน ที่เรียกว่า SMART Learning โดย
ขั้นที่ 1 คือ
การเลือกเป้าหมายที่มีความสำคัญทั้งต่อตัวเองและต่อองค์การ
ขั้นที่ 2 คือ
การทำแผนเพื่อนำไปสู่การบรรลุถึงเป้าหมาย
ขั้นที่ 3 คือ การปฏิบัติตามแผน
ขั้นที่ 4 คือ การทบทวนและการประเมินว่าได้เรียนรู้อะไรและเรียนรู้อย่างไร
ขั้นที่ 5 คือ
วางเป้าหมายสำหรับเป้าหมายการเรียนรู้ลำดับต่อไป
เครื่องมือการเรียนรู้
ผู้เขียนเสนอว่า เครื่องมือการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ 5 อย่างที่ควร
นำมาใช้วางแผนการเรียนรู้คือ
1) การสร้างจินตนาการหรือทำให้เห็นภาพเพื่อทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริง
2) การเรียนรู้อย่างเป็นลำดับขั้น
เพื่อช่วยชี้ว่าเราอยู่ขั้นไหนหรือระดับการเรียนรู้ไหน
3) การเรียนรู้รูปแบบดาว
4) การเรียนรู้จากข้อผิดพลาด
เพื่อกำจัดการทำงานที่ไม่มีสมรรถภาพ และ
5) การเปรียบเทียบกับมาตรฐาน
เพื่อเรียนรู้จากผู้ที่ทำได้ดีที่สุด
องค์การนั้นมีการเรียนรู้
3 ระดับคือ ระดับบุคคล ระดับทีม และระดับองค์การ
โดยสามารถที่จะเรียนรู้ได้จากแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ภายในและภายนกองค์การ คือ
ตัวพนักงานเอง ลูกค้า คู่แข่งขัน ผู้ที่จัดจำหน่ายสินค้าและบริการให้กับองค์การ
และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ส่วนที่
3 กระบวนการพัฒนาไปสู่การเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้
ในส่วนที่
3 นี้ ผู้เขียนได้อธิบายเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้ การแบ่งปันความรู้ การใช้ความรู้
และระบบความจำขององค์การ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
องค์การสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยการ
“ค้นหา” และ “การเรียนรู้ในระดับองค์การ”
สำหรับการแสวงหาความรู้ขององค์การด้วยการค้นหา เกิดขึ้นใน 3 รูปแบบคือ
การกลั่นกรอง การค้นหาในสิ่งที่ต้องการและการควบคุมการปฏิบัติงาน
ส่วนการเรียนรู้ในระดับองค์การมีบทบาทมีบทบาทสำคัญมากในขั้นตอนการแสวงหาความรู้ การเรียนรู้ภายในองค์การประกอบด้วย 2
กิจกรรมคือ การเรียนรู้เพื่อให้ได้มาซึ่งวิธีการจัดการกับปัญหา
และการเรียนรู้เพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการสร้างองค์ความรู้นั้นต้องทำผ่านบุคคลเท่านั้น
องค์การไม่สามารถสร้างความรู้ได้โดยไม่มีบุคคล
การแบ่งปันความรู้
คือการที่ความรู้ถูกแพร่กระจายไปในองค์การ โดยเกี่ยวข้องกับการแบ่งปันคุณค่า
วิสัยทัศน์ ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ต่างๆ ตลอดจนการสื่อสารที่เปิดเผยและไว้วางใจ การแบ่งปันความรู้มีหลายวิธี
เช่น ชุมชนนักปฏิบัติ กลุ่มปรับปรุงหรือวงจรคุณภาพ
การเยี่ยมเยือนแผนกหรือองค์การอื่นที่มีผลการปฏิบัติงานที่ดีกว่า การจัดการเรียนรู้
และการแลกเปลี่ยนหรือหมุนเวียนงานเป็นต้น เมื่อมีความรู้แล้วการตัดสินใจในการนำความรู้ที่มีอยู่ไปขยายใช้กับสถานการณ์ใหม่ๆ
เรียกว่า การใช้ความรู้ หัวใจสำคัญคือการทำให้พนักงานสามารถนำความรู้ที่ซ่อนอยู่มาใช้
โดยมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการใช้ความรู้ขององค์การ ที่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเป็นผู้สนับสนุนเพื่อการถ่ายโอนและการใช้ความรู้
และสร้างระบบความจำขององค์การ ซึ่งหมายถึงวิธีการเก็บรวบรวมความรู้ สะสมความรู้
และใช้ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ โดยการสร้างระบบความจำขององค์การนี้สามารถใช้เทคโนโลยีการใช้ฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์และความจำองค์การ
และเครือข่ายสังคมและระบบความจำขององค์การ
ส่วนที่
4 ลักษณะสำคัญของการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้
ในส่วนที่
4 นี้ ผู้เขียนได้อธิบายเกี่ยวกับค่านิยมทางวัฒนธรรม การสร้างวัฒนธรรมต่างๆที่ส่งผลต่อการสนับสนุนการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้
บทบาทการเป็นผู้นำในองค์การเพื่อการเรียนรู้ การสื่อสาร การถ่ายโอนความรู้ คุณลักษณะที่สำคัญของพนักงานในองค์การเพื่อการเรียนรู้
โดยมีรายละเอียด ดังนี้
การสร้างวัฒนธรรมต่างๆที่ส่งผลต่อการสนับสนุนการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้
ได้แก่ การสร้างวัฒนธรรมในการเรียนรู้
การสร้างวัฒนธรรมในการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ การสร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมอื่นๆ
โดยผู้เขียนได้รวบรวมวิธีการสร้างค่านิยมทางวัฒนธรรมของนักวิชาการหลายท่านมานำเสนอในรูปแบบตาราง
ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจแนวคิดโดยสรุปได้ในเวลาที่รวดเร็ว ผู้เขียนยังได้ยกตัวอย่างองค์การที่ประสบความสำเร็จจากการพัฒนาวัฒนธรรมองค์การตามแนวทางองค์การเพื่อการเรียนรู้
เช่น กรณีบริษัทบริติช แอร์เวยส์
โดยเล่าเรื่องราวให้เห็นภาพของการพัฒนาวัฒนธรรมองค์การตามแนวทางองค์การเพื่อการเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน
ผู้บริหารถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนค่านิยมองค์การเพื่อเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้
นอกจากนี้บทบาทการเป็นผู้นำในองค์การเพื่อการเรียนรู้ที่ต้องเผชิญกับความรับผิดชอบทางการเงินและเรื่องทั่วไปในองค์การแล้ว
ผู้นำที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของตัวเองและการเรียนรู้ของผู้อื่นจะมีรูปแบบการทำงานเฉพาะ
เช่น จะมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์เป็นของตนเอง
มีการเก็บข้อมูลทั้งจากภายในและภายนอกองค์การอย่างต่อเนื่อง
มีการติดตามเฝ้าระวังปัจจัยที่เป็นพื้นฐานต่อการเรียนรู้
และให้ความสำคัญต่อความเสียสละของสมาชิกในองค์การแต่ละคน
และใช้ตำแหน่งในการส่งเสริมการเรียนรู้และเพิ่มความพอใจในงาน ผู้นำการเรียนรู้จะจัดการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง
พร้อมๆกับการนำ
ผู้เขียนได้เน้นย้ำว่า
การสื่อสารเป็นพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในองค์การ
ซึ่งองค์ความรู้ที่เป็นผลมาจากการเรียนรู้นี้จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญขององค์การในยุคปัจจุบันที่จะนำไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขันในที่สุด
เมื่อเกิดองค์ความรู้แล้วการถ่ายโอนความรู้ขององค์การก็เป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งของการจัดการความรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาองค์การไปสู่องค์การแห่งการเรียนรู้
การถ่ายโอนความรู้เกิดขึ้นได้ทั้งภายในและนอกองค์การ
เกิดขึ้นเมื่อมีการแลกเปลี่ยนความรู้จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง
และทำให้เกิดโอกาสที่จะคิดสิ่งใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง
กุญแจสำคัญในการพัฒนาองค์การไปสู่องค์การเพื่อการเรียนรู้
คือ ความสามารถในการเรียนรู้ของคนในองค์การ
และความสามารถในการนำองค์ความรู้ที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้ได้กับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
ผู้เขียนอธิบายว่าพนักงานหรือสมาชิกในองค์การยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการสร้างความรู้และกระจายความรู้ทั่วทั้งองค์การ
ดังนั้นพนักงานจึงต้องมีคุณลักษณะที่เป็นผู้นำ คือ
1) มีความเปิดเผย
เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น
2) การคิดอย่างเป็นระบบ
สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราว เหตุการณ์ ข้อมูลต่างๆได้ทั้งหมด
3) การสร้างสรรค์
ซึ่งจะส่งผลให้เป็นคนยืดหยุ่นและอดทนต่อสิ่งที่ไม่รู้
4)
การตระหนักถึงความมีประสิทธิภาพ
5)
ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ส่วนที่
5 กรณีศึกษา
ในส่วนที่
5 นี้ ผู้เขียนได้ยกกรณีศึกษาการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้ในประเทศไทยมา 2 กรณี
คือ กรณีศึกษาการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้ใน Mobile Phone
Service Industry และกรณีศึกษาการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้ในอุตสาหกรรมยานยนต์
ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสทำการศึกษาและวิจัยเพื่อเพิ่มความเข้าใจในแนวคิดการเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
หนังสือ องค์การเพื่อการเรียนรู้
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุรพร ศุทธรัตน์ จึงเป็นหนังสือที่มีความสมบูรณ์
มีเทคนิคการนำเสนอแนวคิดในรูปแบบการอธิบาย การสรุปเป็นตาราง การยกตัวอย่าง
การนำกรณีศึกษามาอธิบายและอภิปรายอย่างชัดเจนน่าสนใจ เหมาะสำหรับองค์การที่ต้องการปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเป็นองค์การเพื่อการเรียนรู้
อันจะนำไปสู่การเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
และการพัฒนาองค์การอย่างไม่หยุดยั้งต่อไป
ความคิดเห็น