ความรุนแรงในสถานพยาบาล กับภาระงานของแพทย์

ความรุนแรงในสถานพยาบาล กับภาระงานของแพทย์
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์28 ต.ค. 2561 05:01 น.

ข่าวปัญหาการจัดการที่นั่งของสายการบินแห่งชาติที่ลงเอยด้วยความไม่พอใจต่อวิธีรับมือกับปัญหาของบุคลากรในสายการบินนั้น ลงเอยด้วยปฏิกิริยาตามหน้าสื่อมวลชนมีทั้งที่ตำหนิการตัดสินใจของนักบิน และอีกส่วนก็เข้าใจว่าทำไมนักบินต้องยืนยันการตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งเป็นเหตุทำให้กระทบผู้โดยสารส่วนรวม

และในเวลาไล่เลี่ยกันก็มีข่าวความรุนแรงเกิดขึ้นในสถานพยาบาลเอกชน ซึ่งแพทย์ถูกข่มขู่โดยญาติผู้ป่วยว่าจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง อีกทั้งยังมีการหมิ่นประมาทแพทย์และสถานพยาบาลอย่างรุนแรง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเหมือนการฉายหนังซ้ำๆ เพราะข่าวการพูดจาหยาบคาย ก้าวร้าว หรือแม้แต่ทำร้ายร่างกายบุคลากรสาธารณสุขนั้นเกิดนับสิบๆ ครั้งในรอบปีนี้ แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ คราวนี้ผู้บริหารสถานพยาบาล “เอกชน” ได้ออกมาตำหนิผู้ให้ร้ายบุคลากรอย่างรุนแรงและแสดงความเห็นใจแพทย์พร้อมกับมี “น้ำใจ” ปกป้องบุคลากรของตนเอง ซึ่งเป็นความแตกต่างกันกับเหตุการณ์ก่อนหน้าทั้งหมดที่มักลงเอยด้วยการยกกระเช้าไปขอโทษผู้กระทำรุนแรง

ส่วนแพทย์พยาบาลก็ต้องก้มหน้ากลืนเลือดตนเองเพราะไม่ได้รับการปกป้องจากผู้บังคับบัญชาอย่างเหมาะสมและเป็นมืออาชีพ (สากล)...อย่างไรก็ตาม บนความแตกต่างของเหตุการณ์สายการบินกับสถานพยาบาลนั้นกลับมีสิ่งเหมือนกันหลุดออกมาให้ความรู้ต่อสาธารณชนว่า “บุคลากรที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิตผู้อื่นระหว่างการปฏิบัติงานนั้นต้องได้รับการ “การันตีด้วยกฎหมาย” ว่าเขาเหล่านั้นจะต้องได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนขึ้นปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดต่อชีวิตของผู้อื่นอันเนื่องมาจากการขาดการพักผ่อนอย่างพอเพียง”...เมาแล้วขับเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุจราจร...อดนอนแล้วต้องรักษาผู้อื่นก็เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุทางการแพทย์

กฎการบินพลเรือนนั้นบังคับให้ทุกประเทศที่เป็นภาคีต้องออกกฎหมายในประเทศของตนเอง โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ “นักบินหรือแม้แต่ลูกเรือจะสามารถปฏิบัติงานต่อเนื่องกันได้ไม่เกินกี่ชั่วโมง (Working Time) หากเกินกว่าที่กำหนดสายการบินต้องหาคนปฏิบัติงานทดแทน และก่อนปฏิบัติงานก็ต้องได้รับการพักผ่อนโดยปราศจากการรบกวนไม่น้อยกว่ากี่ชั่วโมง (Rest period)” หากสายการบินหรือแม้แต่คนระดับรัฐมนตรีจะมาสั่งการให้นักบินทำการบินขึ้นทั้งๆที่ผิดกฎ นอกจากนักบินจะสามารถปฏิเสธโดยไม่มีสิทธิถูกลงโทษแล้ว คนสั่งยังอาจต้องรับโทษจำคุกเหตุเพราะสั่งให้ละเมิดกฎแห่งความปลอดภัย ซึ่งหมายถึงการสั่งให้นักบินไปทำร้ายผู้โดยสารทางอ้อมนั่นเอง ซึ่งดูเหมือนสังคมจะเข้าใจและยอมรับกฎนี้โดยดี เพราะรู้ดีว่าเขียนขึ้นมาเพื่อปกป้องชีวิตตนเองนั่นเอง

แต่บทละครเดียวกันนี้ หากทว่าต่างกันที่ตัวละครกลับมีผลสรุปที่แตกต่างกันมาก กล่าวคือ ทุกวันนี้แพทย์พยาบาลในระบบสาธารณสุขแบบไทยๆกลับต้องถูกบังคับทำงานเยี่ยง “ทาส” ให้กับผู้กำหนดนโยบายด้านการเมืองและฝ่ายบริหารในกระทรวงมานับหลายสิบปี ด้วยเหตุผลอมตะ “ต้องเสียสละ” ทว่าความเสียสละที่บุคลากรมีให้กลับลงเอยด้วยการถูกพูดจาก้าวร้าว ดูหมิ่น ไม่ให้เกียรติ หลายครั้งถึงกับถูกลงไม้ลงมือเลือดตกยางออก ที่เลวร้ายกว่านั้นคือการถูกฟ้องร้องฐานประมาท (อาญา) และละเมิด (แพ่ง) ฐานทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บหรือเสียหายราวกับเป็นอาชญากร ทั้งๆที่หลายกรณีเกิดเหตุเพราะ “ถูกบังคับให้ทำงานโดยไร้ซึ่งมาตรฐานการปฏิบัติงานเยี่ยงอารยประเทศ” ทั้งๆที่วิชาชีพนี้เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายอย่างชัดเจน หลายครั้งต้องตัดสินใจในเสี้ยววินาที ต้องปฏิบัติงานเกินเวลาแม้หมดเวลาทำงานปกติ (ผ่าตัดต่อเนื่อง ติดผู้ป่วยหนักหลายรายที่มาพร้อมๆกัน) แต่กลับถูกสั่งให้ยกเว้นด้วย พ.ร.บ.แรงงานฉบับโบราณว่า “วิชาชีพนี้ไม่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองแรงงาน เฉกเช่นที่สาวโรงงานคนทำงานอุตสาหกรรม ผู้คุมเครื่องจักร รวมทั้งนักบิน ได้รับความคุ้มครอง”

ในต่างประเทศที่มาตรฐานการแพทย์อยู่ในระดับเดียวกับประเทศไทยไม่เว้นแม้แต่เพื่อนบ้านอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน รวมทั้งประเทศตะวันตกล้วนแล้วแต่มีกฎหมายว่าด้วย “มาตรฐานชั่วโมงการปฏิบัติงานของบุคลากรสาธารณสุข” บังคับใช้ เพื่อ “ปกป้องชีวิตผู้ป่วย” ให้มั่นใจว่าจะได้รับการรักษาด้วยศักยภาพเต็มร้อยจากบุคลากรที่ได้รับการพักผ่อนเพียงพอแล้ว หากมีคำสั่งจากฝ่ายบริหารให้ต้องทำงานเกินกว่าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุผลสมควรรองรับตามกฎหมาย ผู้สั่งการต้องรับโทษตามกฎหมาย และจะหนักขึ้นหากผู้ป่วยได้รับผลเสียจากการรักษาโดยบุคลากรที่ถูกบังคับให้ทำงานเกินมาตรฐาน กฎหมายนี้เรียกเป็นสากลว่า “Working Time Directive, WTD” ซึ่งตั้งต้นมาจากความผิดพลาดที่เกิดจากการให้ยาและสั่งการรักษาผิดพลาดของแพทย์และพยาบาลทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งเมื่อสอบลึกลงไปจึงพบว่าเกิดจากการพักผ่อนที่ไม่พอเพียงเพราะปฏิบัติงานต่อเนื่องมาเกินกว่า 24 ชั่วโมง!!! เพื่อมิให้เกิด “ความเสียหายที่ป้องกันได้” ในที่สุดนักการเมืองและฝ่ายบริหารสาธารณสุขที่มีคุณภาพจึงต้องออกกฎหมาย WTD ดังกล่าว (ไม่ใช่ออก พ.ร.บ.เงินด่วนได้ หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ที่มีเนื้อหาเอาเงินไปไล่แจกเป็นเบี้ยหัวแตก แล้วอ้างว่าป้องกันเหตุในอนาคต!!)

กลับมามองดูที่ความรุนแรงในสถานพยาบาล เหตุการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นในต่างประเทศทั่วโลก แต่วิธีรับมือนั้นแตกต่างกับบ้านเราโดยสิ้นเชิง (ยกกระเช้าขอโทษทั้งๆที่บุคลากรมิได้ทำผิด ให้อภัยโดยไร้มาตรการป้องปราม) ยกตัวอย่างเช่น ในอินเดียมีบทลงโทษให้จำคุก 3 ปี พร้อมปรับสองเท่าของมูลค่าทรัพย์สินสถานพยาบาลที่เสียหาย พร้อมกับบัญญัติว่า ห้ามมีการยอมความและห้ามประกันตัว ในควีนส์แลนด์ออสเตรเลียบัญญัติว่า การทำร้ายบุคลากรสาธารณสุขถือเป็นอาชญากรรมที่มีโทษจำคุกพิเศษสูงสุด 14 ปี ในเมลเบิร์นและในอังกฤษภายใต้นโยบาย Zero Tolerance, No Workplace violence มีการรณรงค์ให้ไม่ยอมรับความรุนแรงทุกรูปแบบซึ่งหมายรวมถึงการพูดจาหยาบคาย ก้าวร้าว ข่มขู่ หมิ่นประมาท หากมีการแจ้งเหตุความรุนแรงทั้งด้วยวาจาและทางกาย ตำรวจต้องรีบมาดำเนินการพาไปสงบสติอารมณ์และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในจีนมีกฎหมายเฉพาะระบุว่า ผู้ป่วยและญาติต้องให้เกียรติบุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาลต้องทำให้บุคลากรมั่นใจว่าตนเองจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มความสามารถภายใต้การคุ้มครองอย่างเหมาะสม (มาตรา 3 และ 21) หากผู้ใดพูดจาดูหมิ่น ข่มขู่ คุกคาม ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพต่อบุคลากรจะต้องได้รับโทษทางอาญาโดยไม่มีการยกเว้น (ห้ามยอมความ) (ม.40) กลับมาที่ประเทศไทยซึ่งกฎหมายทำร้ายสัตว์มีโทษรุนแรงกว่าทำร้ายคน (เตะสุนัขปรับ 4 หมื่น จำคุก 2 ปี เตะเจ้าของปรับ 1 หมื่น จำคุก 1 เดือน!!!) อีกทั้ง เพียงแค่แพทยสภาออกประกาศ “ข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” มาควบคู่กับสิทธิผู้ป่วย ก็มีกลุ่มบุคคลออกมาคัดค้านว่า “ผู้ป่วยต้องการแค่สิทธิ ไม่ต้องการข้อพึงปฏิบัติหรือหน้าที่ผู้ป่วย” แต่อย่างใด จึงไม่น่าแปลกใจที่เราคงจะได้เห็นความรุนแรงในสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นทั้งความถี่และความรุนแรง คงต้องรอให้มีการเสียชีวิตของบุคลากรในสถานพยาบาลเกิดขึ้นก่อน จึงจะเรียกความสนใจจากผู้มีอำนาจได้??

สุดท้ายนี้ปัญหาความรุนแรงในสถานพยาบาล ปัญหาสถานพยาบาลไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ ปัญหามาตรฐานชั่วโมงการปฏิบัติงานที่เหมาะสม (WTD) นั้น ล้วนเป็นเรื่องที่มีเหตุเดียวกันคือ “ภาระงานที่ไม่เหมาะสมกับจำนวนบุคลากร” ซึ่งเป็นสิ่งที่รอการแก้ไข และเป็นที่น่ายินดีว่าปัญหานี้พร้อมกับทางออกนั้นถูกระบุไว้แล้วในเอกสารปฏิรูประบบสาธารณสุขประเทศไทย 2561 เหลือแต่ว่าผู้มีอำนาจจะกล้าหยิบขึ้นมาเพื่อยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขในประเทศไทยเมื่อใด...เพราะที่ผ่านมามักถูกตัดตอนด้วยคำพูดเพียงว่า “แล้วจะหาใครมาทำงาน?” แต่กลับไม่หาทางออกว่า “ทำงานแล้วผิดพลาด ใครจะรับผิดชอบชีวิตผู้ป่วย?”.

เครดิต:หมอดื้อ
https://www.facebook.com/aj.thanika/posts/2389669854383296

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1