"ดินสอ" หุ่นยนต์สัญชาติไทยขายแล้วจ้า
ประโยคคำตอบช่วงหนึ่งในการสัมภาษณ์นักธุรกิจที่กล้าคิดนอกกรอบ ทลายความคิดที่ว่า เมืองไทยคนไทยไม่มีทางทำได้ “คุณอู่” (เฉลิมพล ปุณโณทก) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด บริษัทผู้พัฒนาและผลิต-จำหน่ายหุ่นยนต์รายแรกในประเทศ ไทย ที่ไม่ได้คิดแค่ให้ทันโลก แต่มีความคิดมุ่งมั่นที่จะเป็น “ผู้นำโลก”
คุณอู่ เล่าว่า ตนเองมีอุดมการณ์ที่คิดอยากจะทำอะไรที่เจ๋งๆให้ประเทศชาติมาตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี โดยผมเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผมจะเป็นนักกิจกรรม พูดได้ว่าตั้งแต่ตอนนั้นมีเลือดรักชาติเต็มเปี่ยม ซึ่งก็ตั้งใจว่าจบมาจะทำอะไรที่ตอบแทนประเทศชาติให้ได้
“ผมมีความคิดที่อยากจะทำธุรกิจหลักๆอยู่ 3 อย่าง คือ 1.ทำอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งชาติ 2.ธุรกิจไบโอเทค เทคโนโลยีเกี่ยวกับชีวิต 3.เซมี คอนแทกเตอร์ อย่างอินเทล ไมโครโปรเซสเซอร์ ที่สำคัญคือตัวผมไม่มีความรู้ใน 3 เรื่องนี้เลย แต่ก็ไม่ยอมแพ้เลยตัดสินใจไปเรียนต่อ MBA ที่สหรัฐอเมริกา ตั้งใจไปดูดข้อมูลความรู้จากต่างชาติ”
กระทั่งศึกษาจบก็หางานทำที่สหรัฐฯ กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านการเงิน ซึ่งระหว่างทำงานก็มีโอกาสรับทำโปรเจกต์ปรับปรุงระบบคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งก็เรียกบริษัทเทคโนโลยีหลายเจ้ามาให้ข้อมูล และหลังจากทำโปรเจกต์จบก็ลาออก ตัดสินใจกลับเมืองไทย เพื่อเดินตามอุดมการณ์ที่ตั้งใจไว้
คุณอู่ เล่าว่า ใช้เวลาคิดอยู่นานมากว่าจะทำธุรกิจอะไรดี แต่ก็มีธงในใจว่าต้องเกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยี จนไปเจอข่าวตามสื่อต่างๆ เรื่องเด็กไทยสร้างหุ่นยนต์ออกไปแข่งขัน คว้าแชมป์ระดับโลก
เกิดความสงสัยว่าเด็กกลุ่มนี้เขาไปทำอะไรหลังจากนี้ ก็พบว่า บางคนก็ถูกบริษัทต่างชาติซื้อตัวไป ไปเป็นอาจารย์ หรือไม่ก็ไปทำอาชีพอื่นๆแทน
“เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเมืองไทยไม่มีบริษัทที่ประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ด้านผลิตหุ่นยนต์แบบจริงจัง ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่มีบริษัทรองรับ ซึ่งก็ทำให้ผมตัดสินใจที่จะทำบริษัทหุ่นยนต์ขึ้นมาตั้งแต่นั้น โดยวันนี้ก็ก้าวสู่ปีที่ 9 แล้ว”
จากนั้นก็เริ่มลงมือหาทีมงานทั้งเด็กเก่งๆที่จบวิศวะและผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ และก็เกิดโจทย์ใหม่ขึ้นมาระหว่างนั้นว่าแล้วเราจะทำหุ่นยนต์อะไร เพราะจะประสบความสำเร็จได้หุ่นยนต์นั้นต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะดีที่สุด กระทั่งปิ๊งไอเดียทำหุ่นยนต์เพื่อดูแลผู้สูงอายุและด้านบริการ
“ในที่สุดก็เกิดเป็นหุ่นยนต์นามว่า ดินสอ จักรกลสายพันธุ์ไทยขึ้น และพัฒนาต่อยอดเป็นน้องดินสอมินิ ตัวแรกของโลกที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุเฉพาะด้าน ซึ่งปัจจุบันส่งออกไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรป”
คุณอู่ เล่าว่า เหตุที่พัฒนาหุ่นยนต์ไปบุกตลาดต่างประเทศก่อน เพราะความคิดคนไทยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเชื่อมั่นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยคนไทย และยิ่งเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีก็ยากขึ้นไปอีก ดังนั้น การที่ญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ให้การยอมรับก็ถือเป็นบทพิสูจน์ได้ว่าหุ่นยนต์ของผมมีมาตรฐาน
นอกจากการมุ่งมั่นพัฒนาหุ่นยนต์ดินสอ ที่วันนี้เดินทางมาถึงดินสอ รุ่น 3 และดินสอมินิ โดยในช่วงปลายปีนี้จะออกน้องดินสอ รุ่น 4 ออกมาลืมตาดูโลก ซึ่งก็มีการพัฒนาฟีเจอร์สุดล้ำเพิ่มเติมมากมาย หนึ่งในนั้นคือการใช้ระบบก๊าซเซ็นเซอร์ ตรวจโรคจากลมหายใจของมนุษย์ เพื่อตรวจโรคมะเร็ง ซึ่งในอนาคตก็จะคิดฟีเจอร์ที่เกี่ยวกับการดูแลด้านสุขภาวะของร่างกายเป็นหลัก โดยปัจจุบันเรามีการทำงานร่วมกับภาครัฐ ทีมแพทย์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน
คุณอู่ เล่าว่า อีกสิ่งที่ให้ความสำคัญในการพัฒนา คือ ระบบ Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่จะมาเป็นตัวช่วยสั่งการทำงานน้องดินสอมินิให้ดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีความสามารถ อาทิ เฝ้าและแจ้งเตือน เพื่อป้องกันการล้มของผู้สูงอายุ โดยจะแจ้งไปที่สมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชันดินสอ, แพทย์สามารถสอบถามอาการแบบเห็นภาพผ่านหุ่นยนต์ สั่งหันกล้องเพื่อดูภาพมุมต่างๆได้, มีปุ่มเรียกผู้ดูแล หรือเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน, เตือนให้ทานยา ให้วัดความดัน, มีฟังก์ชันชวนสวดมนต์, ฟังเพลง พร้อมมีเกมฝึกสมองชะลอความจำเสื่อม เป็นต้น
จากการที่หุ่นยนต์ดินสอพิสูจน์ความสามารถให้ได้เห็น ปัจจุบันก็มีหน่วยงานภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญและเข้ามาช่วยสนับสนุนมากขึ้น โดยมีงบให้มาเพื่อลงทุนด้านการวิจัยกว่า 30 ล้านบาท ซึ่งถามว่าพอหรือไม่ ก็ตอบเลยว่าไม่พอ เพราะการจะลงทุนทำให้หุ่นยนต์มีความสามารถแต่ละเรื่อง ต้องมีการพัฒนาวิจัยเป็นจำนวนมากกว่าจะให้ได้ออกมาดีที่สุด ซึ่งก็ต้องใช้เงินลงทุนพัฒนามหาศาล คุณอู่กล่าว
ท้ายสุดคุณอู่ เล่าว่า ตนเองคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีจากนี้ หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น โดยจะมีความเชี่ยวชาญกันเฉพาะด้าน ในส่วนของดินสอก็จะยังคงเน้นเรื่องการดูแลผู้สูงอายุต่อไป
งานนี้หากสนใจก็ติดต่อสอบถามได้ที่ 0-2013-1431-4 โดยราคาขายเจ้าดินสอมินิอยู่ที่ 85,000 บาท รวมถึงมีระบบเช่าให้ได้ทดลองใช้ด้วย.
ที่มา https://www.thairath.co.th/content/1285166
ความคิดเห็น