ผู้หญิงกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ผู้หญิงอาจจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบน้อยกว่าผู้ชายอย่างมีนัยสำคัญก็เพียงในช่วงอายุ 50 ปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นโอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจของผู้หญิงก็จะเพิ่มขึ้นจนเกือบเท่าผู้ชายในที่สุด พบว่าอาการโรคหัวใจของผู้หญิงไม่ได้เข้าใจง่ายๆ เหมือนโรคหัวใจของผู้ชาย ทำให้แพทย์ที่รักษาเกิดความสับสนกับอาการที่ไม่แน่นอน และการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้หญิงก็ให้ผลการตรวจได้ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งเท่ากับผู้ชาย
อะไรหนอที่ทำให้ผู้หญิงเป็นที่เข้าใจได้ยากยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสภาพร่างกาย (หัวใจ หรือจิตใจ และอารมณ์) ยกตัวอย่าง เช่น อาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกนั้นเป็นอาการที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (จริงๆ แล้วคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น)
อาการเจ็บหน้าอกลักษณะนี้ ในผู้ชายมักจะเป็นบริเวณตรงกลางค่อนไปข้างซ้าย ที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีอาการออกแรง เช่น ออกกำลัง หรือเดินเร็ว ๆ ขึ้นเนิน เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่แพทย์มักจะวินิจฉัยจากประวัติดังกล่าวได้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เพราะอาการค่อนข้างชัดเจนหรือที่เราเรียกว่า Classical symptoms
แต่ในผู้หญิงไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างนี้ อาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในผู้หญิง ไม่ค่อยเจ็บแน่นตรงกลางหน้าอกอย่างเดียว มักมีอาการอื่นๆที่แปลกออกไป เช่น เจ็บแปลบๆ หรือเจ็บจี๊ดๆ ปวดคอ ปวดไหล่ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับโรคหลอดเลือดหัวใจ ทําให้เกิดความไขว้เขวได้บ่อยๆ
เห็นไหมว่าหัวใจผู้หญิงเข้าใจยากจริงๆ
credit: Supachai Triukose
ความคิดเห็น