การวิจัยถึงสภาพแวดล้อมและการทนความร้อนของไวรัสโควิด-19

เว็บไซต์ bioRxvi.org เผยแพร่ผลการวิจัยของคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยเอ็กซ์-มาร์แซย์ ในฝรั่งเศส ซึ่งทำการวิจัยถึงสภาพแวดล้อมและการทนความร้อนของไวรัสโควิด-19 ว่า ยังหลงเหลือความสามารถแบ่งตัวเพื่อแพร่เชื้อระลอกใหม่ได้ หลังใช้ความร้อนสูง 60 องศาเซลเซียส 1 ชั่วโมงแล้วก็ตาม และพบว่าต้องใช้อุณหภูมิเกือบถึงจุดเดือด จึงจะทำลายไวรัสได้ทั้งหมด

ผลการวิจัยดังกล่าว ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยคณะนักวิจัยฉีดไวรัสที่ยังมีชีวิตที่ได้จากผู้ป่วยคนหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ใส่ไปในเซลล์เพาะเนื้อที่ได้มาจากไตของลิงเขียวแอฟริกา ซึ่งเป็นเซลล์มาตรฐานสำหรับการทดลองไวรัสที่มีชีวิต จากนั้นนำเซลล์ดังกล่าวที่ติดเชื้อไวรัสใส่หลอดทดลอง 2 หลอด ที่จำลองสภาพแวดล้อมจริง 2 แบบ ได้แก่ แบบสะอาด และแบบสกปรก ที่มีการปนเปื้อนทางชีวภาพอื่นอยู่ เช่น ในช่องปากของมนุษย์

หลังผ่านการให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 1 ชั่วโมง เชื้อไวรัสในหลอดทดลองแบบสะอาดถูกกำจัดหมด ส่วนในหลอดทดลองแบบสกปรก เชื้อไวรัสยังมีชีวิต และสามารถเริ่มการแพร่เชื้อใหม่ได้ แม้ว่าฤทธิ์ของเชื้อจะลดลงก็ตาม

ศาสตราจารย์เรมี ชาเรล หัวหน้าคณะนักวิจัย ระบุว่า ผลการวิจัยนี้เป็นการเตือนอันตรายของไวรัสต่อนักวิจัยที่ทำงานวิจัย หรือบุคลากรการแพทย์ ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับไวรัส SARS-CoV-2 ที่ควรสวมชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเต็มรูปแบบทุกครั้งเมื่อทำงาน และเมื่อเสร็จสิ้นการวิจัยแต่ละขั้นตอน ต้องกำจัดเชื้ออย่างถูกต้องทั้งหมดก่อนเริ่มขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ การให้ความร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส 1 ชั่วโมง เป็นระเบียบวิธีการมาตรฐานในห้องปฏิบัติการที่สามารถยับยั้งไวรัสอันตรายได้หลายชนิด รวมถึงไวรัสอีโบลา แต่ไม่ได้ผลกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำให้คณะนักวิจัยต้องเพิ่มความร้อนที่อุณหภูมิเป็น 92 องศาเซลเซียส หรือใกล้จุดเดือดของน้ำ ระยะเวลา 15 นาที จึงฆ่าไวรัสทั้งหมด

ที่มา https://www.thebangkokinsight.com/334536/

#roundtablethailand
Roundtablethailand.com

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1

เฉลยเก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาล(สุขภาพจิตและจิตเวช)