กรมพระศรีฯ พระราชทานเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์

 กรมพระศรีสวางควัฒนฯ พระราชทานเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์

ที่ทรงประสบความสำเร็จ 2 วิธี แก่คนไทย
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 23 ธันวาคม 2564 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ห้องประชุม ชั้น 5 หอศิลป์พิมานทิพย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พระราชทานพระวโรกาสให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เข้าเฝ้า เพื่อทรงหารือถึงแนวทางการนำเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ทรงประสบความสำเร็จ ไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนายาเพื่อการรักษา เนื่องจากขณะนี้เชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ได้รวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดน้อยลงได้ การเร่งพัฒนายาเพื่อรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วน
ในฐานะที่ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ทั้งด้านเคมีและด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ จึงได้พยายามหาวิถีทางเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยทรงเริ่มโครงการวิจัยเพื่อเร่งพัฒนายาในรูปแบบต่าง ๆ สำหรับรักษาโรคโควิด-19 โดยเร็วที่สุด และได้ทรงเลือกยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่จะมีประสิทธิภาพในการรักษาได้มากขึ้น ซึ่งได้ประสบความสำเร็จโดยอาศัยวิธีการ 2 วิธี
วิธีที่ 1 เป็นการสังเคราะห์โดยการใช้สารเคมีในกระบวนการทางอินทรีย์เคมีสังเคราะห์เพียง 3 ขั้นตอน ในเวลา 3 วัน จากสารตั้งต้นที่หาซื้อได้ในราคาไม่แพง โดยคำนวณค่าใช้จ่ายในการผลิตประมาณ 750 บาท ต่อ 1 คอร์ส ของการรักษา คือ 5 วัน ในขณะที่ยาที่ประกาศขายในต่างประเทศขณะนี้ มีราคาประมาณ 700 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 23,000 บาทต่อ 1 คอร์ส
วิธีการแบบที่ 2 เป็นการใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาโดยใช้ขั้นตอนเพียง 2 ขั้น เพื่อเติมหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่จำเป็นเท่านั้น และใช้เอนไซม์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งขั้นตอนนี้ลดความซับซ้อนในการจัดการกับปฏิกิริยาอีกด้วย ดังนั้น ความสำเร็จนี้จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตตัวยาได้ภายในประเทศ
จากนั้นพระราชทานเทคโนโลยีการสังเคราะห์ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ทรงประสบความสำเร็จทั้ง 2 วิธี แก่นายกรัฐมนตรี โดยขอมอบให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำไปต่อยอดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน
ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

การวางแผนจำหน่ายผู้ป่วย (Discharge planning)

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1