ประเทศไทย ฝีดาษลิงรายที่2
ฝีดาษลิงรายที่2โผล่กทม. เร่งตรวจกลุ่มเสี่ยง10ราย
"ฝีดาษลิง" รายที่ 2 โผล่ กทม.! สธ.แจงผู้ป่วยเป็นชาวไทย 47 ปี มีเซ็กซ์กับต่างชาติเพศเดียวกัน เร่งตรวจเชื้อกลุ่มเสี่ยง 10 ราย พบอาการไม่รุนแรง วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก สสจ.ภูเก็ตโต้เฟกนิวส์ยันไม่เกี่ยวข้องกับชาวไนจีเรียผู้ติดเชื้อรายแรก
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม เวลา 14.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เพิ่งได้รับรายงานจากอธิบดีกรมควบคุมโรคว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยืนยันผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 ของประเทศไทย ซึ่งนำส่งจากโรงพยาบาล (รพ.) วชิรพยาบาล กทม. เป็นชายไทย อายุ 47 ปี มีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชาวต่างชาติเพศเดียวกัน มีอาการสงสัยป่วย เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 จากนั้น 2 วัน เริ่มมีไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต และ 1 สัปดาห์ต่อมามีผื่นที่อวัยวะเพศ ลำตัว หน้า แขนขา จึงมาตรวจที่ รพ. ขณะนี้รับไว้ใน รพ.และติดตามผู้สัมผัสมาตรวจและเฝ้าสังเกตอาการต่อให้ครบ 21 วัน
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคได้รับรายงานผู้ป่วยต้องสงสัยโรคฝีดาษวานร จาก รพ.วชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค และสำนักอนามัย กทม. ลงพื้นที่สอบสวนโรคและเก็บสิ่งส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้ว ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้น ผู้ป่วยไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ วันที่ 14 ก.ค. เริ่มมีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว 1 สัปดาห์ ก่อนมาโรงพยาบาลมีตุ่มหนองที่อวัยวะเพศ ซื้อยามาทาเอง ต่อมามีตุ่มหนองขึ้นตามแขนขา ใบหน้า ศีรษะ วันที่ 27 ก.ค. จึงไปรักษาที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลด้วยอาการอวัยวะเพศบวม เจ็บ แสบ
ทาง รพ.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ หาเชื้อก่อโรค โดยห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการ ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการตรวจ PCR ทั้ง 2 แห่งตรงกัน พบเชื้อ Monkeypox virus ซึ่งผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชายไทยรายแรกของประเทศ และเป็นรายที่ 2 ที่ตรวจพบการติดเชื้อฝีดาษวานรในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยรายดังกล่าวมีอาการไม่รุนแรง และอยู่ในการดูแลของแพทย์ในห้องแยกเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ขณะนี้ได้เร่งค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง โดยผู้ป่วยให้ข้อมูลว่ามีครอบครัวอยู่รวมกัน 10 คน หลังจากมีผื่นตุ่มได้แยกตัวจากคนอื่นในบ้าน ซึ่งได้ติดตามเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมทั้งได้เร่งติดตามตัวชายชาวต่างชาติดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ ได้มีการเฝ้าระวังโดยขอให้โรงพยาบาลส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อพบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ และเน้นย้ำว่าโรคฝีดาษวานรไม่ได้ติดต่อกันได้ง่ายๆ ซึ่งจะติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดมากๆ จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงเพิ่มความระมัดระวัง ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับคนแปลกหน้า หากประชาชนมีอาการสงสัยว่าตนเองมีอาการป่วยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง สามารถติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อรับการตรวจหาเชื้อได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงสถานการณ์โรคฝีดาษวานรทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ค.2565) ว่า ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 20,849 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 74 ประเทศ โดยพื้นที่การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบทวีปยุโรป ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 4,639 ราย, สเปน 4,001 ราย, เยอรมนี 2,459 ราย, สหราชอาณาจักร 2,367 ราย และฝรั่งเศส 978 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายเกือบทั้งหมด
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรคฝีดาษวานรไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรงและเป็นโรคที่สามารถรักษาหายขาดได้ และสามารถเข้ารับการรักษาฟรีตามสิทธิของประชาชนทุกคน ทั้งนี้ นายอนุทินได้ย้ำก่อนหน้านี้ว่าแม้จะเป็นช่วงวันหยุด แต่กระทรวงสาธารณสุขยังเฝ้าระวังทั้งโรคโควิด-19 และฝีดาษวานร พร้อมได้ได้สั่งการไปยังสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง หากพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ให้ดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจยืนยันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ประสานความร่วมมือไปยังสถานพยาบาลเอกชนให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกับการเฝ้าระวังโควิด-19
ที่ จ.ภูเก็ต นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ตามที่จังหวัดภูเก็ตได้เก็บตัวอย่างเลือด และสารคัดหลั่งของผู้ป่วยชายไทย ซึ่งเป็นคนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เข้ารับการรักษาที่ รพ.วชิระภูเก็ต ผู้ป่วยมีอาการไข้ และตุ่มผื่นขึ้นตามตัว ได้เจาะเลือด เพาะเชื้อ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อพิสูจน์ว่าผู้ป่วยดังกล่าวติดเชื้อโรคฝีดาษวานรหรือไม่ ซึ่งวันที่ 28 ก.ค. สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดภูเก็ต ได้รับใบรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ Monkeypox virus real-time PCR ของผู้ป่วยแล้ว ผลการตรวจเป็นลบ ขอยืนยันภูเก็ตยังไม่มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเพิ่ม โดยจังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมเฝ้าระวัง คัดกรองโรค ตามมาตรการควบคุมโรคฝีดาษวานร
นพ.กู้ศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีได้มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดยมีข้อความตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ในประเทศไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 แล้ว โดยมีความเป็นไปได้สูงว่าจะได้รับเชื้อจากผู้ป่วยรายแรก เนื่องจากตัวเชื้อไวรัสที่พบมีความใกล้เคียงกันมากนั้นว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลบิดเบือน เป็นข่าวปลอม สำหรับผู้ติดเชื้อฝีดาษวานรรายที่ 2 มีประวัติอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวพันกับผู้ติดเชื้อรายแรกชาวไนจีเรียที่พบในจังหวัดภูเก็ตแต่อย่างใด
https://www.thaipost.net/one-newspaper/189910/
#ประเทศไทย ฝีดาษลิงรายที่2
#ฝีดาษลิง
#EdutainmentSocietybyThanika
ความคิดเห็น