การนวดหลัง ( Back rub/massage )

การนวดหลัง ( Back rub/massage )


การนวดหลังเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ผู้ป่วยรู้สึกสบายบรรเทาจากการปวดเมื่อยร่างกายที่ต้องนอนอยุ่ที่เตียงนานๆ การนวดเป็นศิลปะที่ใช้การสัมผัสด้วยมือที่นุ่มนวล มีจังหวะ มีความหนักเบา การนวดหลังจะทำภายหลังการอาบน้ำหรือก่อนนอนหรือตามที่ผู้ป่วยต้องการ เพื่อความสุขสบายของผู้ป่วย


วัตถุประสงค์

1.กระตุ้นการหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น เพื่อป้องกันแผลกดทับ

2.กล้ามเนื้อผ่อนคลายความตึงตัวและประสาทผ่อนคลายความตึงเครียด

3.กระตุ้นผิวหนังและต่อมเหงื่อให้ทำงานดีขึ้น

4.สังเกตความผิดปกติบริเวณผิวหนัง


เครื่องใช้

1. แอลกอฮอล์ 25%

2. ครีม / โลชัน / แป้ง

3. ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว


หลักการนวดหลัง

1. จัดท่าให้ผู้ป่วยสุขสบาย จะเป็นท่านอนคว่ำหรือนอนตะแคงก็ได้

2. ไม่นวดบริเวณที่มีการอักเสบ มีแผล กระดูกซี่โครงหัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ มีไข้ โรคผิวหนังหรือมีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง

3. ไม่นวดแรงเกินไปจนผู้ป่วยเจ็บ

4. นวดเป็นจังหวะสม่ำเสมอ

5. ทาแป้ง / ครีม / โลชันชนิดเดียวก่อนนวด

6. การนวดเริ่มจากการใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างลูบกล้ามเนื้อ (Stroking) โดยให้น้ำหนักการลูบขึ้นมากกว่าการลูบลงและเมื่อนวดหลังเสร็จแล้วให้ลูบกล้ามเนื้อ (Stroking) ซ้ำอีกครั้ง

7. ควรนวดประมาณ 5-10นาทีหรือตามความต้องการของผู้ป่วย


วิธีการนวดหลัง

1. บอกให้ผู้ป่วยทราบ อธิบายวัตถุประสงค์และวิธีการอย่างง่ายๆ เพื่อความร่วมมือและลดความวิตกกังวลของผู้ป่วย

2. นำเครื่องใช้ต่างๆมาวางไว้ที่โต๊ะข้างเตียงของผู้ป่วย กั้นม่านให้มิดชิด

3. ล้างมือ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

4. จัดท่านอนคว่ำจะนอนหนุนหมอนหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ป่วยนอนคว่ำไม่ได้ให้นอนตะแคง เพื่อให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าที่สบายและพยาบาลนวดหลังให้ผู้ป่วยได้สะดวก

5. เลื่อนผ้าห่มมาบริเวณก้นกบ ปูผ้าเช็ดตัวทับบนผ้าห่ม ถ้าผู้ป่วยนอนตะแคงให้ปูผ้าเช็ดตัวตามแนวยาวแนบหลังผู้ป่วย

6. เทแอลกอฮอล์ 25 % ลงบนฝ่ามือ ทาให้ทั่วบริเวณหลัง รอให้แห้งจึงทาแป้งหรือทาครีมหรือโลชัน ถ้าผิวผู้ป่วยแห้งจะไม่ใช้แอลกอฮอล์ทาหลังเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้งแตกมากขึ้น

7. นวดบริเวณหลังตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1) Stroking การลูบตามแนวยาว ใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างวางบริเวณก้นกบ ค่อยๆลูบขึ้นตามแนวกระดูกสันหลังจนถึงต้นคอ ลูบตามแนวยาวกล้ามเนื้อไหล่ ( Trapezius ) กล้ามเนื้อสีข้าง ( Latissimus dorsi ) ทั้งสองข้าง ช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อและการหมุนเวียนโลหิตให้ดีขึ้น

2) Knead/Pettrissage การบีบนวดกล้ามเนื้อ

- วิธีที่ 1 วางนิ้วก้อย กลางและนิ้วชี้แนบแนวกลางกระดูกสันหลัง พร้อมปลายนิ้วชี้ หัวแม่มือบีบกล้ามเนื้อไขสันหลัง ( Erector spinous ) เข้าหากันทำพร้อมกันทั้งสองมือ

- วิธีที่ 2 ใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้และนิ้วกลางทั้งสองมือ กดและบีบข้างกระดูกสันหลังเข้าหากันและคลายออกทำซ้ำประมาณ 5-6 ครั้ง

การบีบนวดกล้ามเนื้อช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณไขสันหลังผ่อนคลายและกระตุ้นการไหลเวียนให้ดีขึ้น

3) Clapping การใช้อุ้งมือตบเบาๆโดยห่อมือให้ปลายนิ้วชิดกันทั้งสองข้างให้เกิดช่องว่างงตรงกลางฝ่ามือ ตบเบาๆสลับมือกันโดยกระดกข้อมือขึ้นลงให้ทั่วบริเวณหลัง ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง

4) Flicking การใช้หลังนิ้วกลาง นาง ก้อยทั้งสองมือเคาะบริเวณหลังเบาๆ โดยกระดกข้อมือทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง

5) Hacking การใช้สันมือสับเบาๆ ใช้สันมือด้านนิ้วก้อยสับสลับกันเร็วๆ โดยการกระดกข้อมือ สับขวางตามใยกล้ามเนื้อบริเวณตะโพก ก้น และขา ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง

6) การกำมือหลวมๆทุบเบาๆ เร็วๆ สลับขึ้นลงบริเวณตะโพก ก้น และขา ทำซ้ำประมาณ 10 ครั้ง

7) ลูบกล้ามเนื้อตามแนวยาวอีกครั้ง Stroking ลูบเบากว่าครั้งแรก ทำซ้ำประมาณ 5-6 ครั้ง

8. สวมเสื้อผ้าให้ผู้ป่วยจัดท่านอนในท่าที่สบาย เก็บเครื่องใช้ไปทำความสะอาด และเก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย



แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม


พัชรี ตันศิริและคณะ.2543.คู่มือการพยาบาลเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8.กรุงเทพฯ : ภาควิชาการพยาบาล รากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.

เรณู สอนเครือ .2541.แนวคิดพื้นฐานและหลักการพยาบาล เล่ม 1. นนทบุรี :ยุทธรินทร์การพิมพ์จำกัด.

วรมนต์ ตรีพรหม.2537.สัญญาณชีพ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.

วิจิตรา กุสุมภ์.2541. การพยาบาลผู้ป่วยที่มีบาดแผล. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.

สุปราณี เสนาดิศัย.(บรรณาธิการ). 2543. การพยาบาลพื้นฐาน แนวคิดและการปฏิบัติ.พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : บริษัทจุดทองจำกัด.

อภิญญา เพียรพิจารณ์ .(บรรณาธิการ).2540. แนวคิดพื้นฐานและหลักการพยาบาล เล่ม 1. กรุงเทพฯ :

ยุทธรินทร์การพิมพ์.

Aggleton, Peter and Chalmers, Helen.2000.Nursing Models and Nursing Practice .2nd ed. New York: Palgave.

Rish, Robinson.2001. Core Concepts in Advanced Practice Nursing. St Louis: Mosby.

Kockrow, Christensen. 1999. Foundation of Nursing. St Louis: Mosby.

student.mahidol.ac.th/~u4809224/index6.htm

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. VCD ประกอบการสอนวิชาหลักการและเทคนิคการพยาบาล.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1

เฉลยเก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาล(สุขภาพจิตและจิตเวช)