การพยาบาลผู้ป่วยที่มีไข้
ความหมาย
“ ไข้ ” (Fever, Febrile, Pyrexia) หมายถึง ภาวะที่อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าระดับปกติ (36 – 37.4 องศาเซลเซียส หรือ 96.8 – 99.3 องศาฟาเรนต์ไฮน์ ) หากอุณหภูมิขึ้นสูงถึง 41 องศาเซลเซียส จะมีการทำลายเซลล์สมอง และสูงถึง 43 องศาเซลเซียส ก็จะหมดสติเสียชีวิตได้ ในทางตรงกันข้ามหากอุณหภูมิต่ำกว่า 34.0 องศาเซลเซียส มนุษย์ก็จะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้เช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในร่างกายมนุษย์จะไม่เป็นไปตามสิ่งแวดล้อม โดยมีศูนย์ควบคุมอุณหภูมิที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งมีการตอบสนองไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของร่างกาย แม้เพียงเล็กน้อยโดยที่ด้านหน้าของไฮโปทาลามัสจะควบคุมการสูญเสียความร้อนออกจากร่างกาย ในขณะที่ส่วนด้านหลังจะควบคุมการผลิตความร้อน
สาเหตุของการเกิดไข้
1. การติดเชื้อ การอักเสบ
2. การบาดเจ็บของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น หลอดเลือดในสมองแตก
3. โรคมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง
4. คอพอกเป็นพิษ
5. ภาวะขาดน้ำ หรือได้รับความร้อนมากเกินไป
6. การได้รับยามอร์ฟีนนานเกินไป
ระดับของไข้
ระดับของการมีไข้สามารถแบ่งออกเป็น หลายระดับ ดังนี้
1. ไข้ต่ำ (Low fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 37.5 – 38.4 องศาเซลเซียส
2. ไข้ปานกลาง (Moderate fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 38.5 – 39.4 องศาเซลเซียส
3. ไข้สูง (High fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 39.5 – 40.5 องศาเซลเซียส
4. ไข้สูงมาก (Hyperpyrexia) มีอุณหภูมิตั้งแต่ 40.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
อาการแสดงของการมีไข้
- ผิวหนังร้อนจัด ปากแห้งและแดง
- กระหายน้ำ กระสับกระส่าย อาจเพ้อไม่รู้สึกตัว
- ในเด็กทารก ถ้ามีไข้สูงอาจมีอาการชักกระตุก ถ้าปล่อยไว้นานๆอาจถึงแก่ชีวิต หรือ พิการได้
- การเช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนที่จะนำผู้ป่วยส่งพบแพทย์ เพื่อลดอัตราความรุนแรงของโรคก่อนเช็ดตัวจะต้องทำการวัดปรอท ดูก่อนว่ามีไข้สูงมากน้อยเพียงใดสถานที่เช็ดตัวก็ควรอยู่ในที่มิดชิด ไม่มีลมโกรก
การพยาบาลผู้ป่วยที่มีไข้มีดังนี้
1. เช็ดตัวลดไข้ เพื่อเป็นการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย ถ้ามีอาการปวดศีรษะร่วมกับการใช้กระเป๋าน้ำแข็งประคบบริเวณศีรษะและหน้าผาก
2. ให้ยาลดไข้ตามความเหมาะสม เช่น ในเด็กให้ยาพาราเซตามอล น้ำเชื่อมขนาดตามอายุของเด็ก ผู้ใหญ่ให้ยาพาราเซตามอลชนิดเม็ด (500 มิลลิกรัม) 1-2 เม็ด
3. ให้ดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 2,500-3,000 มิลลิลิตร ต่อวัน ยกเว้นในรายที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ
4. ให้นอนพักมากๆ ในห้องที่มีอุณหภูมิไม่สูง อากาศถ่ายเทได้สะดวกและอากาศบริสุทธิ์ เพื่อให้ร่างกาย ได้พักผ่อน ลดกิจกรรมในการใช้พลังงานลง เป็นการลดการใช้ออกซิเจน การเผาผลาญอาหารของร่างกาย
5. ให้อาหารที่มีประโยชน์ย่อยง่าย มีประโยชน์ต่อร่างกายและให้พลังงานสูง เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เป็นต้น
6. สังเกตความผิดปกติ เช่น สีผิวหนัง อาการหนาวสั่น อาการเพ้อ ชัก เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือทัน
น้ำที่ใช้ในการเช็ดตัวลดไข้
การเช็ดตัวลดไข้ ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายโดยใช้หลักการนำความร้อน น้ำที่ใช้แบ่งเป็น 4 ชนิดคือ
1.น้ำธรรมดา อุณหภูมิ 30-37 องศาเซลเซียส ใช้ในการเช็ดตัวลดไข้ทั่วไปและไม่มีอาการหนาวสั่น
2. น้ำเย็น อุณหภูมิประมาณ 5 องศาเซลเซียส มักใช้เช็ดตัวลดไข้ในกรณีที่มีไข้สูงๆ
3.น้ำผสมแอลกอฮอล์ โดยใช้แอลกอฮอล์ 70% 1 ส่วน ผสมกับน้ำธรรมดาหรือน้ำแข็ง 3 ส่วน ใช้เช็ดตัวลดไข้ในกรณีที่มีไข้สูงมากๆ และอาจเกิดอาการชักได้ง่าย
4.น้ำอุ่น อุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส ใช้เช็ดตัวลดไข้ในกรณีที่เป็นเด็ก หรือผู้ที่มีไข้ร่วมกับอาการหนาวสั่น
วิธีการเช็ดตัวลดไข้
1. เตรียมน้ำสำหรับเช็ดตัว ควรเตรียมผ้าอย่างน้อย 2 ผืน พร้อมแจ้งผู้ป่วยทราบ
2. ห่มผ้าให้ผู้ป่วย ถอดเสื้อผ้าออก
3. ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดๆ ลูบที่ใบหน้าให้ทั่ว วางพักที่ซอกคอ เปลี่ยนผ้าถูตัวชุบน้ำบ่อยๆ ลูบซ้ำ ๆ 3-4 ครั้ง เพราะบริเวณคอเป็นที่รวมของหลอดเลือดและความร้อน ช่วยใหัความร้อนถ่ายเทได้ดี ถ้ามีอาการหนาวสั่นควรหยุดเช็ดตัว
4. ในเด็กโต จะวางกระเป๋าน้ำแข็งที่ศีรษะ เพื่อให้เกิดความสบายและลดความร้อน
5. ใช้ผ้าชุบน้ำลูบบริเวณอก พักไว้สักครู่ แล้วเปลี่ยนผ้าใหม่ เพื่อให้ความร้อนถ่ายเทได้ดี
6. ใช้ผ้าชุบน้ำลูบแขนทีละข้าง โดยลูบจากปลายแขนเข้าหาหัวใจ พักไว้ที่ข้อพับ รักแร้ สักครู่และให้ผู้ป่วยกำผ้าไว้ ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
7. ลูบบริเวณขาทีละข้าง โดยลูบจากปลายขาเข้าหาหัวใจ พักไว้ที่ข้อพับใต้เข่า ฝ่าเท้า ซอกขาหนีบ ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง
8. ลูบตัวบริเวณด้านหลัง โดยให้ผู้ป่วยตะแคงตัว เริ่มจากบริเวณต้นคอ เข้าหาหัวใจ แลัวเช็ดตัวให้แห้ง ทาแป้งเพื่อความสุขสบาย ใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนา หลังจากนั้น 20-30 นาที วัดอุณหภูมิของร่างกายว่าลดลงหรือไม่
การเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา
การเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา เป็นการเช็ดตัวเพื่อลดไข้ด้วยผ้าชุบน้ำให้เปียกหมาด ๆ โดยมี อุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิของร่างกายแต่สูงกว่า 15 องศาเซลเซียส หรือประมาณ 30 องศาเซลเซียส เพราะอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังหดตัว ในขณะเช็ดตัวด้วยผ้าเปียกจะทำให้หลอดเลือดบริเวณผิวหนังขยายตัว ทำให้ความร้อนภายในร่างกายออกมาสู่ผิวหนังมากขึ้น โดยการพาของเลือด มายังผิวหนังเพิ่มขึ้น และความร้อนจะระบายออกจากร่างกายโดยการถ่ายเทความร้อนจากผิวหนังมาสู่ผ้าเปียกโดยการนำ ความร้อนและจากการที่ผิวหนังเปียกน้ำ ทำให้ความร้อนเสียไป โดยการระเหยของน้ำตามบริเวณผิวหนัง นอกจากนี้ขณะเช็ดตัวจะมีการเปิดเผยผิวหนัง ดังนั้นความร้อนจะระบายโดยพาและการแผ่รังสีเพิ่มขึ้น วิธีการเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา จะใช้ผ้าเปียกเช็ดตัวหรือถูตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมีการประคบผิวหนังร่วมด้วย และมีการประคบผิวหนังร่วมด้วย โดยการใช้กระเป๋าน้ำแข็งหรือผ้าเปียกประคบบริเวณศีรษะ ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ มือและข้อพับต่าง ๆ เนื่องจากบริเวณเหล่านี้มีหลอดเลือดใหญ่ไหลผ่าน ทำให้การระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ดีขึ้น การเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดามักจะทำในรายที่มีอุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
การเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจัด (Cold sponge)
การเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น จะทำให้อุณหภูมิที่ผิวหนังต่ำ ทำให้เกิดความแตกต่างของอุณหภูมิ ในร่างกายและอุณหภูมิที่ผิวหนัง ความร้อนภายในร่างกายจะถ่ายเทที่ผิวหนังเพิ่มขึ้น และผิวหนังก็จะระบายความร้อนออกจากร่างกายโดยอาศัยน้ำเป็นตัวกลาง การเช็ดตัวโดยวิธีนี้จะมีผลช่วยลดอุณหภูมิได้มากที่สุดในทันทีที่เช็ดตัวเสร็จ โดยมากใช้เช็ดตัวผู้ป่วยที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงมาก ๆ และต้องการให้ไข้ลดลงเร็ว เช่น อุณหภูมิของร่างสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส โดยใช้น้ำแข็งผสมน้ำให้เย็นในอัตราส่วน 1:1 ซึ่งจะมีอุณหภูมิของน้ำประมาณ 15 องศาเซลเซียส หลักในการเช็ดตัวทำเช่นเดียวกันกับการเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา การเช็ดตัวด้วยวิธีนี้อาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดอย่างรวดเร็ว และต่ำมาก โดยเฉพาะในเด็กจะทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายเพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน ทำให้หลอดเลือดตีบและอาจตายได้ (Alan K.D. : 1972) ใน ผู้ป่วยที่มีไข้สูงบางรายมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย ถ้าเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจัด จะทำให้กล้ามเนื้อหดรัดตัว ทำให้เกิดความร้อนเพื่อที่จะปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิของน้ำที่ใช้เช็ดตัว เพิ่มอาการสั่นมากขึ้น และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สุขสบาย
การเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น (Warm sponge)
การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ด้วยน้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิประมาณ 40 องศาเซลเซียส โดยเชื่อว่าน้ำอุ่นซึ่งมีอุณหภูมิ ที่สูงกว่าจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว และระเหยได้เร็วกว่าน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า จึงพาความร้อนได้เร็ว และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายในขณะเช็ดตัว ไม่มีปัญหาการปรับตัวมากเพื่อให้เข้ากับอุณหภูมิของน้ำ เหมือนกับการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นจัด แต่จากการศึกษาของอุไร เสรีประเสริฐ (2520) พบว่า การเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นมีผลต่อการลดอุณหภูมิได้น้อยมากในทันทีที่เช็ดตัวเสร็จ หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นสูงกว่าก่อนให้การเช็ดตัว หลักในการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น มีวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา
การเช็ดตัวด้วยแอลกอฮอล์
ในผู้ป่วยบางรายที่มีไข้สูงมาก อาจเกิดอาการชักได้เนื่องจากไข้สูง เพื่อให้ไข้ลดลงอย่าง รวดเร็วจึงใช้แอลกอฮอล์ 25% เช็ดตัว เนื่องจากแอลกอฮอล์ระเหยได้ง่ายสามารถพาความร้อนออกได้เร็ว แต่อาจทำให้ผิวหนังแห้งแตกได้ เพราะแอลกอฮอล์มีคุณสมบัติละลายไขมัน ดังนั้น การเช็ดตัวด้วยแอลกอฮอล์ จึงไม่ควรเช็ดบริเวณใบหน้าของผู้ป่วย เพราะผิวหนังบริเวณหน้าละเอียด และน้ำยาอาจเข้าตาได้ ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเหม็นยาแอลกอฮอล์ จึงไม่นิยมใช้โดยเฉพาะในเด็กไม่ควรเช็ดตัวลดไข้ด้วยแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจได้รับอันตรายจากการหายใจเอาแอลกอฮอล์ที่ระเหยเข้าไปเป็นผลทำให้เด็กเกิดอาการเป็นพิษ หมดความรู้สึกและถึงแก่กรรมได้
อ้างอิง
แนะนำให้อ่านค่ะ http://www.joannabriggs.edu.au/pdf/BPISThai5_5.pdf
http://www.nurse.nu.ac.th/cai/firstaid026.html
http://www.vibhavadi.com/web/mediainfo.php?id=258
http://student.mahidol.ac.th/~u4809224/index.htm
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
พัชรี ตันศิริและคณะ.2543.คู่มือการพยาบาลเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 8.กรุงเทพฯ : ภาควิชาการพยาบาล รากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
เรณู สอนเครือ .2541.แนวคิดพื้นฐานและหลักการพยาบาล เล่ม 1. นนทบุรี :ยุทธรินทร์การพิมพ์จำกัด.
วรมนต์ ตรีพรหม.2537.สัญญาณชีพ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
วิจิตรา กุสุมภ์.2541. การพยาบาลผู้ป่วยที่มีบาดแผล. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.
สุปราณี เสนาดิศัย.(บรรณาธิการ). 2543. การพยาบาลพื้นฐาน แนวคิดและการปฏิบัติ.พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : บริษัทจุดทองจำกัด.
อภิญญา เพียรพิจารณ์ .(บรรณาธิการ).2540. แนวคิดพื้นฐานและหลักการพยาบาล เล่ม 1. กรุงเทพฯ :
ยุทธรินทร์การพิมพ์.
Aggleton, Peter and Chalmers, Helen.2000.Nursing Models and Nursing Practice .2nd ed. New York: Palgave.
Rish, Robinson.2001. Core Concepts in Advanced Practice Nursing. St Louis: Mosby.
Kockrow, Christensen. 1999. Foundation of Nursing. St Louis: Mosby.
student.mahidol.ac.th/~u4809224/index6.htm
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร. VCD ประกอบการสอนวิชาหลักการและเทคนิคการพยาบาล.
ความคิดเห็น