จิตปัญญาบำบัด (Wisdom Psychotherapy) - จิตบำบัดแนวพุทธธรรม

จิตปัญญาบำบัด (Wisdom Psychotherapy) -  จิตบำบัดแนวพุทธธรรม

โดย นายแพทย์ประทักษ์ ลิขิตเลอสรวง


นายแพทย์ประทักษ์ ลิขิตเลอสรวง

จิตปัญญาบำบัด เป็นคำที่ผู้เขียน (ประทักษ์ ลิขิตเลอสรวง ) บัญญัติขึ้นเอง หลังจากได้ศึกษาพุทธธรรมทั้งทฤษฎี (ปริยัติ) และ ปฏิบัติ ซึ่งการปฏิบัตินั้นได้กระทำอย่างจริงจังอยู่ หลายปีทั้งกับตัวเอง และได้ประยุกต์ใช้ในการทำ จิตบำบัดกับผู้ป่วยทางจิตเวช จนมีระดับความเชื่อมั่น ถึงคุณค่ามหาศาลขององค์ความรู้ในวิทยาศาสตร์ทาง จิตใจของพุทธธรรมที่ปฏิบัติได้จริง และเข้าถึงแก่น แท้ของจิตใจมนุษย์และสรรพสิ่ง แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และทรง สั่งสอนประกาศศาสนาพุทธเมื่อกว่า 2,500 ปีก่อน แต่ สัจธรรมแห่งพุทธธรรมก็ยังผ่านการพิสูจน์ถึงความ เป็นจริงจนถึงปัจจุบัน และเป็นองค์ความรู้ที่ปฏิบัติได้จริง เพื่อการบำบัดจิตให้พ้นทุกข์อย่างถึงที่สุด





ข้อแตกต่างของจิตบำบัดแนวพุทธธรรม หรือ จิตปัญญาบำบัดกับจิตบำบัดแนวตะวันตก ได้แก่ 1. จิตวิทยาและจิตบำบัดแนวตะวันตก มุ่งเน้น ให้มนุษย์มีความสุข และปรับตัวปรับใจ กับผู้คนหรือสถานการณ์การ เปลี่ยนแปลง ต่างๆได้ดี (happiness and well adjustment) ในขณะที่จิตปัญญา บำบัดมีจุดหมาย 2 ระดับ นอกจากความ สุขสงบทางกายและจิตใจแล้ว ยังมีระดับ การพัฒนาขั้นสูงในเชิงปัญญา เพื่อรู้ เท่าทันเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง เป็น การป้องกัน อยู่แบบไม่ประมาท และไม่ กลับเข้าสู่วงจรของความทุกข์อีก

2. แม้จิตบำบัดแนวตะวันตก จะกล่าวถึงจิตบำบัด เป็น 2 ระดับไว้เช่นกัน คือ จิต บำบัดแบบ ประคับประคองและแบบหยั่งลึกก็ตาม (Supportive and Insight Psychotherapy) แต่เนื่องจากกรอบความคิดยังยึดติดกับ ทฤษฎีอัตตา จึงเน้นรูปแบบทางกายภาพ หรือชีวภาพเป็นรูปธรรม ในขณะที่จิต ปัญญาบำบัดแนวพุทธธรรมเชื่อในหลัก ไตรลักษณ์ว่า มนุษย์และสรรพสิ่งล้วนไม่ เที่ยงเป็นทุกข์และไม่เป็นตัวตน จึงพัฒนา ได้สุดๆในเชิงจิตปัญญาเป็นนามธรรม และเข้าถึงเหตุปัจจัยที่มีการเกิดดับเองอยู่ทุก ขณะตามปกติธรรมดาในธรรมชาติ ไม่เป็น ไปตามความอยากหรือไม่อยากของมนุษย์ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือมีสิ่งเหนือธรรมชาติดล บันดาล หากมนุษย์มีปัญญารู้เท่าทันกฎ ธรรมชาติ ไม่

หลงยึดติดกฎมนุษย์ที่สมมติ บัญญัติขึ้นเอง ก็จะดำเนินชีวิตได้อย่าง สอดคล้อง เอื้อประโยชน์สูงสุดทั้งต่อ ตนเอง และผู้อื่น

3. จิตวิทยาและจิตบำบัดแนวตะวันตกก่อ กำเนิดเริ่มต้นจากการสังเกตและบำบัด รักษาผู้ป่วยทางจิตประสาท แค่ 100 กว่า ปีมานี้เอง โดย “ซิกมันด์ ฟรอยด์“ ต่อมาเมื่อ ประเทศตะวันตกเปลี่ยนแปลงจากยุค เกษตรกรรมสู่ยุคอุตสาหกรรม วัตถุนิยมทุนนิยม และยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคโลกา ภิวัฒน์และยุคข้อมูลข่าวสาร วิทยาศาสตร์ ทางกายภาพและจิตใจจึงถูกนำมาใช้ เพื่อเอาชนะควบคุมธรรมชาติและมนุษย์ ด้วยกัน เพื่อผลผลิตและสิ่งอำนวยความ สะดวกสบาย สร้างความสุขทางวัตถุให้ มากที่สุด แต่มนุษย์ส่วนใหญ่กลับรู้สึก เป็นทุกข์ มีปัญหาทางสุขภาพจิตมากขึ้น ในขณะที่จิตปัญญาบำบัดแนวพุทธธรรม มองว่ามนุษย์และสรรพสิ่งมีการเปลี่ยน แปลง เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่คงตัวถาวร คล้ายหยดน้ำที่ตกลงมาทีละหยดเวลาเปิด ก๊อกน้ำ แล้วรวมตัวไหลรินจนเราเข้าใจผิด คิดว่าเป็นกระแสน้ำไหล หรือกระแสไฟฟ้า ที่เกิดจากประจุลบที่วิ่งชนสารเรืองแสง ตัวแล้วตัวเล่าเกิดดับต่อเนื่องจนเราเห็นเป็น แสงสว่างตลอดเวลา สภาวะที่คงสภาพ เดิมอยู่ไม่ได้ มีความขัดแย้งกดดันก็คือ ทุกข์ตามธรรมชาติ และถ้ามนุษย์สัมพันธ์ กับโลกธรรมชาติโดยขาดความรู้ความ เข้าใจ (อวิชชา) หลงผิดคิดอยากหรือไม่ อยากตามใจต้องการ (ตัณหา-โลภโกรธ หลง) และจิตใจคิดปรุงแต่งเกิดความยึด มั่นถือมั่น (อุปาทาน) ทุกข์ที่อยู่ตาม ธรรมดาในธรรมชาติ ก็จะกลายเป็นทุกข์ ที่ปรุงแต่งขึ้นในใจของมนุษย์ ดังนั้น มนุษย์ทุกคนย่อมอยู่ท่ามกลางความทุกข์ และมีความทุกข์มากบ้างน้อยบ้าง สุดแล้ว แต่ใครจะมีปัญญารู้เท่าทันกฎธรรมชาติ และมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเพราะมี ศักยภาพที่จะฝึกฝนพัฒนาด้วยตนเองให้ สูงสุดอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงทำสำเร็จ เป็นตัวอย่าง ดังนั้นจิตปัญญาบำบัดจึงใช้ได้ กับทุกคน ทุกระดับภูมิธรรมรวมถึงผู้ป่วย ทางจิตเวช

******************************

หลักการของจิตปัญญาบำบัด อาศัยแนวทาง ไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) ในมรรค 8 ของหลักอริยสัจ 4 สามารถแบ่งเป็น 3 ระดับ จากรูปธรรมหรือ ปัจจัยภายนอกสู่นามธรรมหรือปัจจัยภายใน ได้แก่

ก. จิตพฤติกรรมบำบัด(Psycho-behavior therapy) มุ่งฝึกอบรมพัฒนาพฤติกรรมทางกายวาจา ซึ่งมาจากจิตใจที่เป็นกุศลใฝ่ดีทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม เกิดความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างวิถีการ ดำเนินชีวิตทั้งกายใจกับผู้คนและสิ่งแวดล้อม เท่ากับไม่ สร้างปัญหาหรือก่อความเดือดร้อนให้กับตัวเองและโลก ภายนอก ความเครียดความทุกข์ที่จะกดดันทับถมน้อย ลง มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ลดสิ่งเร้าลงเป็นอิสระ ขึ้น ลดการพึ่งพาวัตถุภายนอกทำให้ความอยากความ ต้องการและความจำเป็นต้องดิ้นรนแสวงหาลดลง จิตใจที่ต้องแบกรับภาระที่ปรุงแต่งยึดมั่นถือมั่นอันหนัก อึ้งได้ปล่อยวางในมรรค 8 จะตรงกับ “หมวดศีล” 3 ข้อ คือ

1. มรรคข้อ 1 สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ก็คือ ศีลข้อ 1, 2, 3 และ 5 ได้แก่

ศีลข้อ1. ไม่ทำร้ายหรือฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตลอดจน อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมโดย ไม่เบียดเบียนหรือก่อความ เดือดเนื้อร้อนใจกับตัวเองและผู้อื่น โดยปฏิบัติตามองค์ ธรรมใน”หลักพรหมวิหาร4” คือ เมตตา หรือรักและ ปรารถนาดีแบบให้ (ไม่ใช่แบบรับอย่างเห็นแก่ตัว) กับ บุคคลทั่วไปที่เท่ากัน กรุณาหรือสงสารให้ความ ช่วยเหลือ กับคนที่ด้อยกว่า มุทิตา หรือพลอยยินดีกับคนที่เหนือ กว่าตน และอุเบกขา หรือวางเฉยเมื่อคนนั้นยังไม่พร้อม ในองค์ธรรม 3 ข้อแรก แต่ไม่เฉยเมยให้เฉยมองให้ โอกาสเมื่อเขาพร้อม

ศีลข้อ 2. ไม่ลักทรัพย์ ตลอดจนเคารพในสิทธิและ ทรัพย์สินของผู้อื่น ปฏิบัติตามกฎหมาย กฏระเบียบ ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงาม ของสังคม โดยปฏิบัติตามองค์ธรรมเรื่อง การให้ทาน ให้อภัย เสียสละ แบ่งปัน เป็นการฝึกจิตเพื่อลดละ ความโลภ ความโกรธลงได้ระดับหนึ่ง

ศีลข้อ 3. ไม่ประพฤติผิดในกาม ยินดีเฉพาะคู่ครอง ของตน ไม่แย่งของรักของหวงใคร ไม่ละโมบโลภมากอยาก ได้อยากมีอยากเป็น โดยปฏิบัติตามองค์ธรรม เรื่อง สังวร สำรวม และสันโดษ กินง่ายอยู่ง่าย ประหยัด อยู่อย่าง เศรษฐกิจพอเพียง

ศีลข้อ 5. ไม่เสพสุราสารเสพติด สามารถครอง สติบังคับใจตนเองได้ดี ไม่ก่อปัญหา 3 ข้อแรก โดยปฏิบัติ ตามองค์ธรรมเรื่อง การมีสติสัมปชัญญะ และความไม่ ประมาท

2. มรรคข้อ 2 สัมมาวาจา เจรจาชอบ ก็คือศีลข้อ 4 ได้แก่ ไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียดให้ทะเลาะเบาะแว้งแตก ความสามัคคีกัน พูดคำหยาบและพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ โดยปฏิบัติตามองค์ธรรมเรื่อง ปิยวาจาและสัจจะ สร้างความน่าเชื่อถือ ลดความขัดแย้งใจ รู้สึกผิด

3. มรรคข้อ 3 สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ มีความสุจริต ขยัน กระตือรือร้น ขวนขวาย หลีกเลี่ยงอาชีพ ที่ไม่สมควร รู้จักแสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรม รู้จักบริหารการเงิน แบ่ง ส่วนใช้จ่ายให้เกิดความสุขแก่ตนเอง คนในครอบครัว บริวาร แบ่งปันเพื่อทำบุญทำทาน และเก็บออมไว้ใช้จ่าย ในยามจำเป็น ไม่เป็นหนี้ การดำเนินชีวิตจึงจะมั่นคง เพียงพอในปัจจัย4 ไม่ทุกข์กายทุกข์ใจและรู้สึกขัดสน ทางวัตถุจนเกินไป



ข. สติสมาธิบำบัด (Mind Therapy) มุ่งฝึกอบรม พัฒนาอารมณ์จิตใจภายใน ให้มีความเพียรมุ่งมั่น มีสติกำกับรู้ตัวตลอดเวลา มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ ต่อเนื่อง เพื่อเอื้อให้เกิดปัญญา มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัว รู้เท่าทันการทำงานของจิตตัวเองที่เกี่ยวข้องกับ อายตนะหรือประตูสู่ภายนอกทั้ง 6 ได้แก่ ตาเห็นภาพ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัส และ ธรรมารมณ์รู้ด้วยใจ โดยฝึกจิตรับรู้ รู้สึกนึกคิดและ จดจำตามเหตุปัจจัยที่แท้จริงขณะปัจจุบัน ไม่ปรุง แต่งตามใจตัวเอง และคอยคัดออกซึ่ง”อาสวะ”หรือ สิ่งเคยชินหมักหมมในอดีต ทำให้รู้สึกเป็นสุขสงบสบาย และเสรี ในมรรค 8 จะตรงกับ”หมวดสมาธิ” 3 ข้อ คือ




1. มรรคข้อ 4 สัมมาวายามะ พยายามชอบ มีความเพียรไม่ย่อท้อ ไม่กลัวความยากลำบาก มีความ มุ่งมั่นตั้งใจ มีแรงจูงใจสูง โดยปฏิบัติตามองค์ธรรม ในหลัก “อิทธิบาท4” คือ ฉันทะ ใจรัก วิริยะ ใจสู้ จิตตะ ใจฝักใฝ่จดจ่อ และวิมังสาใจพินิจพิจารณา

2. มรรคข้อ 5 สัมมาสติ ระลึกชอบ มีสติคอย ฉุกคิด กำกับทบทวนตื่นตัวอยู่ทุกขณะจิต ในอาการคอย รับรู้ต่อสิ่งที่เกี่ยวข้อง และตระหนักว่าควรปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆอย่างไร สติจะคอยยับยั้งจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน คิดปรุงแต่งเบี่ยงเบน ในขณะเดียวกันสติ

ิจะคอย ควบคุมตรวจตรากระแสการรับรู้ ความรู้สึกนึกคิด ความทรงจำและการแสดงออกทางพฤติกรรมให้อยู่ กับปัจจุบัน ไม่เลื่อนไหลล่องลอยไปในอดีตที่ผ่านมาแล้ว แก้ไขไม่ได้และไม่คิดเพ้อเจ้อปรุงแต่งไปในอนาคต ที่ยังมาไม่ถึง และให้สตินั้นเป็นตัวสร้างโอกาสทาง ปัญญา โดยจับสิ่งที่ได้รับรู้ทางอายตนะในขณะนั้นให้ ปัญญารู้เข้าใจอย่างตรงไปตรงมา พระพุทธองค์ทรง สั่งสอนเทคนิคการเจริญสติด้วย”หลักสติปัฏฐาน4” หรือ ที่ตั้งแห่งสติโดยใช้สติตามดู และมีปัญญารู้เท่าทัน สภาพทางร่างกาย (พิจารณากาย) ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ (พิจารณาเวทนา) สภาพจิตใจ เช่น โลภ โกรธ หลง ฯลฯ (พิจารณาจิต) และเรื่องราวทั้งหลายในองค์ ธรรมต่างๆที่รู้ที่คิดที่เกิดขึ้นในใจ (พิจารณาธรรม)

3. มรรคข้อ 6 สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ “สมาธิ” คือ ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด การทำสติสมาธิ บำบัดต้องการสมาธิเพียงระดับต้นๆ เพื่อสร้างปัญญา รู้แจ้ง หรือวิปัสสนาสมาธิ มีรูปแบบเทคนิค 4 แบบ ได้แก่

1. สมาธิตามวิธีธรรมชาติ เพื่อทำความดีมี ศีลธรรม จะทำให้จิตเป็นสุขเกิดสมาธิ

2. สมาธิที่เกิดจากการพินิจ พิจารณาจากความ ทรงจำในองค์ธรรมสำคัญๆ เช่น อิทธิบาท 4 อริยสัจ 4 หรือไตรลักษณ์ ฯลฯ

3. สมาธิตามอย่างสามัญ ใช้สติเป็นตัวนำหรือ สติปัฏฐาน และ

4. สมาธิอย่างเป็นแบบแผนหรือสมถะวิปัสสนา ใช้สิ่งกำหนด หรือตัวเพ่งหนึ่งหรือหลายอย่างใน กรรมฐาน40 ที่เหมาะกับจริตของตน และเทคนิคแต่ละ สำนักปฏิบัติธรรม

ค. ปัญญาบำบัด (Wisdom Therapy) มุ่งฝึก อบรมพัฒนาการทำงานของจิตขั้นสูงระดับปัญญา ให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริงของเหตุปัจจัยตามธรรมดา ของกฏธรรมชาติ ไม่ก่อทุกข์เองจากความโลภ โกรธ หลง ทิฏฐิมานะ ฯลฯ ไม่บิดเบือนปรุงแต่งตามความอยาก ไม่อยากของตัวเอง เป็นการปฏิบัติธรรมทุกขณะจิตตลอดชีวิต ด้วยจิตที่สงบ สว่าง เสรี ในมรรค8 ตรง กับ “หมวดปัญญา” 2 ข้อ คือ

1. มรรคข้อ7 สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ หรือเข้าใจถูกต้อง ถ่องแท้ตลอดกระบวนการในหลักอริยสัจ4 เรื่อง ทุกข์ สาเหตุของทุกข์ ทางดับทุกข์ และวิธีการดับทุกข์ และ หลักไตรลักษณ์ของความไม่เที่ยง เป็นทุกข์และไม่มี ตัวตน สัมมาทิฏฐิเป็นหลักการใหญ่หรือนโยบายคล้าย หัวขบวนรถไฟที่ลากอีก 7 ตู้ไปด้วยกัน โดยมีสัมมา- สังกัปปะเป็นวิธีการขับเคลื่อน สัมมาวาจา สัมมา- กัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เป็นปัจจัยเกื้อหนุน เช่น เชื้อเพลิง เครื่องยนต์ที่ดี ฯลฯ สัมมาวายามะเป็นกำลังม้าฉุดลาก สัมมาสติเป็นรางเข็มทิศแสงสว่างส่องทางหรือแผนที่ เดินทาง และสัมมาสมาธิเป็นความเร็วที่วิ่งไม่ตก มุ่งไป ข้างหน้าของเครื่องจักร การที่จะเกิดสัมมาทิฏฐิได้ เริ่มแรกอาจต้องพึ่งพา”กัลยาณมิตร” ช่วยชี้แนะบอก แนวทางหรือทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นบทบาทของ ผู้บำบัดนั่นเอง ต่อมาผู้ถูกบำบัดจะเกิดความสมัครใจ เต็มใจ เห็นประโยชน์มีแรงจูงใจหรือฉันทะที่จะพัฒนา ตัวเองเต็มศักยภาพ

2. มรรคข้อ 8 สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ มีความ นึกคิด ตั้งเป้าหมายถูกทาง กำหนดแนวทางปฏิบัติ ชัดเจน ในการลดละเลิกสาเหตุแห่งทุกข์โดยเฉพาะ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ฯลฯ



สรุปผลที่คาดหมาย 3 ประการคือ 1. ลดความอยากไม่อยาก ความต้องการให้น้อยลง ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ลดสิ่งเร้าและการพึ่งพา ปัจจัยภายนอกทางวัตถุ ทำให้สิ่งกระตุ้นทาง อารมณ์โดยเฉพาะในเชิงลบลดลง เช่น ความเครียด กังวล โกรธเกลียด ผิดหวัง ซึมเศร้า หวาดระแวง ก้าวร้าว ฯลฯ จิตใจจะไม่ทุกข์ร้อนกลับเป็นสุข ไม่คิด เบียดเบียนใครรวมทั้งตัวเอง อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี และทำตัวเป็นประโยชน์กับชุมชนสังคม

2. ฝึกสติกำกับจิต รู้ตัวในการกระทำทางกายวาจา ตลอดเวลา องค์ประกอบของจิตที่ได้รับการฝึกฝน จนมีประสิทธิภาพสูง คล้ายบริหารร่างกายให้ แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่เจ็บป่วยง่ายหรือทุเลาได้เร็ว และการมีสมาธิที่ควรแก่งาน ทำให้เกิดปัญญา เข้าใจสัจจธรรมได้ง่ายและเร็ว

3. เกิดปัญญารู้ถึงเหตุปัจจัยตามธรรมดาของ ธรรมชาติว่า กายจิตและสรรพสิ่งมีความไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนกดดันเป็นทุกข์ ตั้งอยู่ไม่ได้นาน และ ไม่มีตัวตนถาวร มีแต่สมมติบัญญัติ การมีปัญญา เพื่อรู้เท่าทันและดำเนินชีวิตให้สอดคล้อง มิใช่ฝืน ด้วยความอยากไม่อยาก ชอบไม่ชอบของตัวเอง หรือของใคร แม้แต่สิ่งเหนือธรรมชาติ สภาพจิต จึงจะ “สะอาด สุข สงบ สว่าง เสรี” อย่างแท้จริง


*****************************
ที่มา
http://www.vichaiyut.co.th/html/jul/33-2549/p77-80_33.asp




จิตปัญญาบำบัด (2)   แนวทางปฏิบัติเบื้องต้น

โดย นายแพทย์ประทักษ์ ลิขิตเลอสรวง



จิตปัญญาบำบัด (Wisdom Psychotherapy) เป็นจิตบำบัดรูปแบบหนึ่งที่ผู้เขียนพยายามพัฒนาขึ้น จากหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ของ พุทธธรรม ทำให้แบ่งจิตปัญญาเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1. จิตพฤติกรรมบำบัด (Psycho-behavior Therapy) ได้แก่ สัมมากาตะ (กระทำ ชอบ) สัมมาวาจา (พูดจาชอบ) และ สัมมาอาชีวะ (ดำเนินชีวิตชอบ)


2. สติสมาธิบำบัด (Mind Therapy) ได้แก่ สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) สัมมาสติ (ระลึกชอบ) และสัมมาสมาธิ (ตั้งใจ มั่นชอบ)

3. ปัญญาบำบัด (Wisdom Therapy) ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) และสัมมา สังกัปปะ (ดำริชอบ)

จิตปัญญาบำบัดตอนแรก ได้นำเสนอสาเหตุ ของทุกข์หรืออาการทางสุขภาพจิตว่า เกิดจากสมอง หรือจิตใจ ของมนุษย์ตกอยู่ใต้อิทธิพลปรุงแต่งของกิเลส หรือสิ่งที่ปรุงแต่งจิตให้เศร้าหมองเป็นสัญชาตญาณ มี 3 ระดับ ได้แก่ ความ โลภ โกรธ หลง

1. ขั้นหยาบ ระดับศีลธรรม เป็นความชั่ว บาป อกุศล ผู้กระทำรู้ตัวมีจิตสำนึก แสดงออก ภายนอกชัดเจนทางกายและวาจา

2. ขั้นปานกลาง ระดับสมาธิ รู้ตัวด้วยใจ ตั้งแต่จิตก่อนรู้สำนึกจนถึงรู้จิต รู้สำนึก เป็นสิ่งที่คอยรบกวนจิตใจไม่ให้เกิดสติ สมาธิ หรือนิวรณ์

3. ขั้นละเอียด ระดับปัญญา เป็นอาสวะ อนุสัย หรือกิเลสอย่างละเอียดที่จมนิ่งลึก อยู่ในกมลสันดาน ทั้งจากเผ่าพันธุ์และ อวิชชาที่สั่งสมมาตั้งแต่เกิดจนโต เมื่อมี เหตุกระทบจิตจะฟุ้งกระจายขึ้นมาสู่ขั้น ปานกลาง และถ้าผู้นั้นไม่เคยฝึกฝน ควบคุมจิต ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ ก็จะทะลุขึ้น มาถึงชั้นหยาบตื้น
ปรากฎเป็นพฤติกรรม ของความโลภ โกรธ หลง


จิตปัญญาบำบัดตอนที่ 2 นี้ มีจุดมุ่งหมาย เพื่อนำเสนอ “แนวทางปฏิบัติหรือเทคนิคเบื้องต้น” ในการลดละเลิกหรือจัดการกับสัญชาตญาณหรือกิเลส ในระดับตื้นอย่างหยาบ ที่แสดงออกทางพฤติกรรม กายวาจา และอาจคาบเกี่ยวถึงความรู้สึกนึกคิดภาย ในจิตใจ ที่เจ้าตัวรับรู้ได้ในระดับจิตสำนึกอันได้แก่ 1. ความโลภ เป็นสภาวะทางกายใจที่มีการรับรู้ รู้สึกนึกคิด จดจำปรุงแต่ง ก่อให้เกิดพฤติกรรม ของ”ความอยากได้อยากมีอยากเป็น” ตั้งแต่ ระดับกายหยาบหรือความพึงพอใจทางเพศ ทางวัตถุรูปธรรม จนถึงความละเอียดหรือ ความพึงพอใจทางนามธรรม ซึ่งทั้งหมด ทั้งปวงก็คือ โลกธรรม 8 นั่นเอง ได้แก่ ลาภ-เสื่อมลาภ, ยศ-เสื่อมยศ, สรรเสริญ-นินทา และสุข-ทุกข์ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ซึ่งความ โลภนั้นย่อมก่อทุกข์ได้เมื่อไม่สมหวังสมอยาก และถึงแม้ได้สมปรารถนาแล้วก็ตาม โดย สัญชาตญาณของคนเราจะไม่หยุดความ พอไว้เท่านี้ ย่อมอยากเพิ่มขึ้นอีกไม่มีที่สิ้นสุด ไม่รู้สึกพอใจเสียที ในขณะเดียวกันแม้จะ ได้และพอใจกับสิ่งที่อยาก แต่สิ่งนั้นก็ไม่ สามารถอยู่กับตัวตลอดไป ในที่สุดต้องสูญ เสียไปเข้าทำนอง “ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น และพลัดพรากจากสิ่งที่รัก”

แนวทางปฏิบัติหรือเทคนิคเบื้องต้น ที่จะจัดการกับความโลภให้มีน้อยที่สุดคือ การฝึกให้มีการสำรวมระวังในทางพฤติกรรม สำรวมควบคุมจิตใจ ดำเนินชีวิตอย่างเรียบ ง่าย ชอบความสงบ รู้จักพอเพียง ฝึกความ เพียรอดทนมุ่งมั่น เจริญสติสมาธิและมี ปัญญารู้เท่าทัน

2. ความโกรธ เป็นสภาวะทางกายใจที่มีการรับรู้ รู้สึกนึกคิดจดจำปรุงแต่ง ก่อให้เกิดพฤติกรรม ของ “ความไม่อยากได้ไม่อยากมีไม่อยากเป็น” จากน้อยไปมากเป็น 3 ระดับ ตั้งแต่หงุดหงิด รำคาญใจ โกรธโมโห จนถึงขั้นพยาบาท เคียดแค้น อันที่จริงความโกรธนั้นก็เกิดจาก ความโลภที่ไม่อยากนั่นเอง และความโกรธเมื่อหันเข้าหาโทษตัวเอง ก็จะเป็นความ เศร้าโศก คร่ำครวญรำพัน ซึ่งความโกรธนั้น ย่อมก่อทุกข์ได้ เมื่อไม่สมอยากหรือได้รับสิ่ง ที่ไม่ต้องการ เข้าทำนอง “ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นและประจวบกับสิ่งที่ไม่รัก”

แนวทางปฏิบัติหรือเทคนิคเบื้องต้นที่จะ จัดการกับความโกรธให้มีน้อยที่สุด คือ ก่อน อื่นต้องมีสติระลึกได้ทันท่วงที มีความอดทน อดกลั้น ข่มใจให้ได้ หยุดคิดหยุดพุดหยุดทำ หายใจเข้าลึกๆหายใจออกยาวๆ ออกจาก สภาวะที่กดดันนั้นหาทางระบายความโกรธ ทางอื่น พยายามเจริญสมาธิ เมตตา ภาวนา และเจริญปัญญา หาเหตุผลที่ดีประกอบ เช่น โกรธเป็นไฟก่อทุกข์กับตัวเองเท่านั้น แสดง ออกขณะที่โกรธไม่เป็นผลดีกับใคร คนเรา ต่างจิตต่างใจ ทุกคนทำผิดกันได้ รู้จักเมตตา ให้อภัยเห็นอกเห็นใจ ไม่เพ่งโทษผู้อื่นให้เพ่ง ดูใจตัวเอง หัดทำใจเป็นกลางไม่ยินดียินร้าย รู้จักปล่อยวาง ฯลฯ

3. ความหลง เป็นสภาวะทางกายใจที่มีการรับรู้ รู้สึกนึกคิด จดจำปรุงแต่ง ก่อให้เกิดพฤติกรรม ของการไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตามความเป็นจริง เป็นธรรมดาตามธรรมชาติ คนเราเมื่อทำตามใจตนเอง ย่อมทำให้เกิด ความยึดมั่นถือมั่นในความใคร่ในกาม ทิฏฐิ- มานะ ความงมงาย และความรู้สึกว่าตัวเรา ของเรา ล้วนเป็น “มิจฉาทิฏฐิ” ซึ่งมี 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับต่ำสุดคือไม่เชื่อในบาปบุญคุณ โทษ ความกตัญญูกตเวทีและหิริโอตัปปะ, ระดับกลางคือ ไม่เชื่อมั่นในกฎแห่งกรรมว่าทำ ดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ไม่ถือว่าสุขทุกข์มีเหตุมีปัจจัย และระดับสูงหรือละเอียดคือไม่เชื่อในหลักของ เหตุปัจจัยตามธรรมดาของกฎธรรมชาติ หรือ ธรรมนิยามโดยเฉพาะหลักไตรลักษณ์

แนวทางปฏิบัติหรือเทคนิคเบื้องต้นที่จะ จัดการกับความหลงให้มีน้อยที่สุด คือ ลด อวิชชา เจริญปัญญาเกิดสัมมาทิฏฐิ





แนวทางการปฏิบัติหรือเทคนิคเบื้องต้นของการทำ จิตปัญญาบำบัด อาจสรุปได้เป็น 9 ประการได้แก่ 1. พฤติกรรมสังวร รู้จักสำรวมระมัดระวังใน ความประพฤติทางกายและวาจา โดย ไม่เบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น มีศรัทธา ในการกระทำความดี ละเว้นการทำชั่ว บาปอกุศล ประพฤติปฏิบัติอย่างต่ำ ในระดับศีล 5 เคารพกฎหมายบ้านเมือง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอัน ดีของสังคม เชื่อในบาปบุญคุณโทษ แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ครูบาอาจารย์และผู้มีพระคุณ มีความ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ บริจาคให้ทาน บำเพ็ญ ประโยชน์ต่อสังคม หมั่นฝึกฝนจิตให้มี สติฉุกคิด รู้จักยับยั้งชั่งใจในความอยาก ไม่อยากที่ใจ และมีความละอายและ เกรงกลัวต่อการกระทำผิดทั้งต่อหน้า และลับหลัง

2. อาชีวะสังวร คือ รู้จักสำรวมระมัดรู้วังในการ ดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ สร้าง ค่านิยมและมีความภาคภูมิใจกับการ ดำเนินชีวิตที่สะอาดหมดจด ซื่อสัตย์ สุจริตและรู้จักพอเพียง ไม่ตกเป็นทาส ของวัตถุเงินทองมากเกินไป ไม่สร้าง หนี้สินหรือเกี่ยวข้องกับอบายมุข

3. อินทรีย์สังวร คือ การมีสติคอยควบคุมระมัด ระวังสิ่งเร้าจากภายนอก ที่มากระทบทาง ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ในรูปของภาพเสียง กลิ่นรส สัมผัสและการรับรู้ทางใจ เพียร พยายามข่มจิตมิให้เกิดความอยากหรือ ไม่อยาก ชอบหรือไม่ชอบจนสุดโต่ง เกิด ความยึดมั่นถือมั่นไม่ปล่อยวาง

4. ชอบสงบสงัด ฝึกที่จะอยู่คนเดียว พูดจา ส่งจิตออกภายนอกให้น้อยลง พยายาม ตัดสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้นจากภายนอก กินอยู่ ง่ายและพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด

5. รักสันโดษ คือ รู้สึกพอใจในสิ่งที่ “พึงมี” ตามฐานะ “พึงเป็น” ตามความสามารถและ “พึงได้” ตามครรลองคลองธรรม โดย ยินดีตามมีตามได้ตามควร หรือพอใจกับ สิ่งที่ตนมีอยู่ พอใจในปัจจุบัน ไม่เปรียบ เทียบกับคนอื่น สุขได้เสมอตามอัตภาพ ของตน ลด “กินกามเกียรติ” ประหยัดรู้จัก ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีความสุข จากภายใน ไม่จำเป็นต้องอาศัยวัตถุภาย นอกมาตอบสนอง

6. อดทนมุ่งมั่น หมั่นฝึกความอดทนต่อความ ยากลำบาก อดกลั้นกับสิ่งยั่วยุ มีสติรู้ตัว ระลึกได้รู้ตัวทันท่วงที มีความเพียร พยายาม ตั้งสัจจะอธิฐานเพื่อบรรลุเป้า หมายแม้จะยากยิ่ง

7. มีเมตตาธรรม ได้แก่ พรหมวิหาร 4 โดยถ้า มีกับผู้อื่นยิ่งมากยิ่งดี แต่ให้มีกับตัวเอง อย่างพอเหมาะพอดีถ้ามากเกินไปจะเป็น โทษ ประกอบด้วย “เมตตา” มีความรัก ปรารถนาให้เป็นสุข เป็นการป้องกันความ โกรธทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แต่ถ้ารักแบบ เห็นแก่ตัวจะเป็นความใคร่หรือเสน่หา, “กรุณา” มีความสงสารปรารถนาให้พ้น ทุกข์ ทำให้ไม่คิดเบียดเบียนทั้งต่อตัวเอง และผู้อื่น แต่ถ้าสงสารตัวเองมากไปจะ เป็นความเศร้าเสียใจ, “มุทิตา” มีความ ยินดีปรารถนาให้เป็นสุขยิ่งๆขึ้น เป็นการ ป้องกันความริษยาหรือโกรธแค้นพยาบาท คิดทำลายล้างผู้อื่นหรือแม้แต่การทำร้าย ตัวเอง แต่ถ้ามีความปรารถนาอยาก ให้กับตัวเองมากไป จะทำให้เป็นคน ขี้อิจฉา ตาร้อน, “อุเบกขา” มีความรู้สึก สงบไม่สุขไม่ทุกข์ ไม่ยินดียินร้ายจนเกินไป จิตใจจะคิดปลงตกได้ตามกฎแห่งกรรม ทำเต็มความสามารถและยอมรับผล ที่ตามมาด้วยใจสงบไม่หวั่นไหวแต่ไม่ใช่ ไร้ปัญญา เป็นความหลงแบบเพิกเฉยไม่ ขวนขวายหรือแล้งน้ำใจไม่ช่วยเหลือใคร

8. การเจริญสติสมาธิ ตามแนวปฏิบัติในสติ-ปัฏฐานสูตรของพระพุทธเจ้า โดยฝึกพัฒนาจิตกำหนดสติสมาธิไว้ที่กาย, เวทนา, จิตและธรรม เพื่อให้เกิดความ สงบจากกิเลส (สมถะกรรมฐาน) และเกิด ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง (วิปัสสนากรรมฐาน) ด้วยหลักปฏิบัติ 4 ข้อคือ มีความเพียร ตั้งใจจริง, มีสติสัมปชัญญะหรือตื่นตัว รู้ตัวทั่วพร้อม ระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาทุก ขณะจิต, ไม่ยินดียินร้ายในอารมณ์ที่เกิด ขึ้น และปฏิบัติให้ถึงระดับที่สมาธิต้องการ คือ อุปจารสมาธิหรือสมาธิเฉียดๆและ อัปปนาสมาธิหรือสมาธิที่แน่วแน่ โดย อุปกรณ์ปฏิบัติคือ “วิตก” หรือการยกจิต ขึ้นสู่อารมณ์ของสมาธิ, “วิจาร” หรือการ ตั้งประคองจิตไว้อย่างแน่วแน่แนบแน่นให้ คลุกเคล้ากับอารมณ์ของสมาธิ, จิตจะ เชื่องเข้าและอยู่ตัวมากจนได้ผลของ สมาธิเป็น “ปิติ” หรืออิ่มใจรู้สึกซาบซ่าน ไปทั่วตัว, เป็น “สุข” หรือสบายกายสบาย ใจมากขึ้น และจิตจะมีอารมณ์รวมเป็น หนึ่งเดียวเป็น “เอกกัคคตา”


9. การเจริญปัญญา คือ การมีความรู้ความเข้าใจ อย่างถูกต้องตามเป็นจริงที่ว่า มนุษย์มิใช่ ศูนย์กลางของสรรพสิ่งแต่เป็นส่วนหนึ่ง ของธรรมชาติ และมนุษย์มิได้หยุดนิ่ง แต่ มีการดำเนินชีวิต ซึ่งเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของ องค์ประกอบต่างๆทั้งภายในและภายนอก ตัวมนุษย์ที่มาประชุมกันด้วยดุลยภาพ เป็นไป ตามเหตุปัจจัยที่ดำเนินไปตามปกติธรรมดาด้วย “กฎธรรมชาติ” โดยมนุษย์พยายามแทรกแซง ด้วย “กฎมนุษย์”


******************************



สติปัฏฐาน 4 ประกอบด้วย 1. กำหนดที่กาย ขั้นแรกได้แก่ “อานาปานสติ” คือให้สติกำหนดที่ลมหายใจเข้าออก ที่ริมฝีปากบนหรือปลายกระพุ้งจมูก อันเป็นที่ลมกระทบเข้าออกเพียงจุดเดียว หายใจเข้า-ออก-สั้น-ยาวก็ให้รู้ แล้ว กำหนดระงับลมหายใจเข้าออกทำให้ ละเอียดเข้า เมื่อลมหรือกายสงบ จิตก็จะ สงบ อนึ่ง บางสำนักปฏิบัติธรรมภายหลัง อาจสอนให้หาเครื่องผูกจิตช่วย เช่น ให้นับเลขหรือบริกรรมคาถา เช่น พุทโธ หรือแม้แต่ใช้ อารมณ์กรรมฐานอื่นใน 40 วิธีที่ไม่ใช่ ลมหายใจหรืออานาปานสติ เช่น พองยุบ -สัมมาอารหัง, เพ่งดวงแก้ว ฯลฯ ขั้นต่อไปได้แก่ “กายคตาสติ” คือ ให้ ย้ายการกำหนดที่ลมหายใจไปพิจารณา อาการของร่างกายภายนอก ทั้งอิริยาบท ใหญ่ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน และอิริยาบท ย่อย ตลอดจนอวัยวะต่างๆของร่างกาย ตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถึงอวัยวะ ภายในที่มองไม่เห็น (อาการ32) โดยให้ พิจารณากาย ด้วยตาในไม่ใช่ตาเนื้ออย่าง ละเอียด ถึงความเป็นปฏิกูลที่ต้องเสื่อม สลายขณะยังมีชีวิต และเน่าเปื่อยเมื่อ เป็นศพ (ป่าช้า9) เพื่อทำใจให้สงบจาก ความรักใคร่พอใจในร่างกายทั้งของตน และผู้อื่น ขั้นสุดท้ายได้แก่ “ธาตุกรรม- ฐาน” คือ กำหนดพิจารณาร่างกาย ประกอบด้วยธาตุหรือส่วนซึ่งเป็นที่รวม โดยลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ได้แก่ “ธาตุดิน” หรือส่วนที่เข้มแข็ง “ธาตุน้ำ” หรือส่วนที่เป็นของเหลวเอิบอาบ, “ธาตุลม” หรือส่วนที่พัดไหว “ธาตุไฟ” หรือส่วนที่อบอุ่น และ “ธาตุอากาศ” หรือ ช่องว่างในร่างกาย โดยการพิจารณาธาตุ กรรมฐานนั้น ให้แยกร่างกายออกเป็น ธาตุทีละอย่างๆ ในที่สุดจะเหลือแต่ความ ว่างเปล่าเป็นอากาศธาตุ หรืออาจมองว่า กายที่มีชีวิต เป็นที่ประชุมของรูปนาม อันประกอบด้วยธาตุต่างๆมารวมกัน ทั้งนี้เป็นอุบายที่จะระงับความยึดถือว่า เป็นตัวเราเป็นของเราไม่ใช่อัตตาแต่ เป็นอนัตตา

2. กำหนดที่เวทนา คือ ความรู้สึก สุข ทุกข์ และกลางๆ ขณะปฏิบัติช่วงแรกจะ มีความทุกข์กาย เช่น ปวดเมื่อย ต่อมา จิตจะกระสับกระส่ายแว๊บออกไปคิดถึง เรื่องข้างนอก ทำให้รู้สึกสุขบ้างทุกข์บ้าง ต่อเมื่อได้ทำจิตให้ตั้งมั่นให้แน่วแน่ ยิ่งขึ้น จิตจะเป็นสุขจากภายในและ สงบลง เป็นความรู้สึกกลางๆไม่สุข ไม่ทุกข์

3. กำหนดที่จิต ตามดูจิตต่อไปหลังเกิด ความรู้สึกหรือเวทนา เมื่อจิตเป็นทุกข์จะ ไม่ชอบเกิด “โทสะ” ความโกรธ จิตเป็น สุขจะชอบเกิด “โลภะ หรือ ราคะ” ความโลภ หรือแม้แต่จิตที่เป็นกลางๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ ก็เกิดจากความเคยชิน ได้สิ่งที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจเกิดความ รู้สึกสุขทุกข์ขึ้นก่อน ครั้นแล้วก็รู้สึกเฉยๆ แต่ก็ยังยึดติดหวงแหน ไม่ปล่อยวางเป็น ความหลงเกิด “โมหะ” ให้กำหนดจิต พิจารณาดูความโลภ โกรธ หลง

4. กำหนดที่ธรรม เป็นก้าวของสติสมาธิสู่ ปัญญา โดยกำหนดจิตพิจารณาองค์ ธรรมที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่

4.1 พิจารณานิวรณ์ 5 คือ เครื่องกั้นจิต ไว้ไม่ให้เป็นสมาธิ ได้แก่ “กามฉันท์” ความชอบใจพอใจ นำจิตให้ออกไป ข้างนอก,“พยาบาท” ความไม่ชอบ ไม่พอใจ ทำให้จิตขุ่น, “ถีนมินธะ” ความง่วงงุนงงท้อแท้ซึมเซา, “อุท-ธัจจกุกกุจจะ” ความกังวล ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญใจ และ “วิจิกิจฉา” ความลังเลสงสัย ให้กำหนดดูจิตของ ตนไม่ให้ชอบ หรือไม่ชอบในอารมณ์ ข้างนอก และอารมณ์ของสมาธิ เมื่อจิตรู้สึกกลางๆ ถ้าไม่ฟุ้งก็ง่วง ไม่ง่วงก็ฟุ้ง ต้องมีสติรู้ตัวตลอดเวลา และตั้งใจแน่วแน่ ระงับความเคลือบ แคลงสงสัย

4.2 พิจารณาขันธ์ 5 หรือรูปนาม “รูป” คือ รูปกายทั้งหมดเป็นรูปที่มีชีวิต ตามองเห็น หูฟังได้ยิน จมูกรับกลิ่น ลิ้นรับรส กายรู้สัมผัส และใจก็รู้เรื่อง ส่วน “จิต” จะอาศัยรูปนี้น้อมออกรับรู้ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและเรื่องราว อาการที่จิตน้อมออกรับรู้นี้เป็น “นาม” ขันธ์ 5 กอง ได้แก่ “กองรูป” คือ รูปกายที่ประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และระบบประสาท เพศ ลักษณะต่างๆ อาการทางกาย วาจา ลมหายใจ ฯลฯ, “กอง- วิญญาณ” คือ ความรับรู้ที่ตาเห็นภาพ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้น รับรส กายสัมผัส และรู้ทางใจ, “กองเวทนา” เมื่อมีการกระทบรับรู้ จะทำให้เกิดความรู้สึกชอบพอใจ เป็นสุข หรือไม่ชอบ ไม่พอใจเป็นทุกข์ หรือเฉยๆ เป็นกลาง, “กองสัญญา” คือ ความจำได้หมายรู้ และ “กอง สังขาร” คือ ความนึกคิดปรุงแต่ง

4.3 พิจารณาอายตนะ 6 เมื่อ “อายตนะ ภายนอก 6” ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ สัมผัสกับ “อายตนะภายใน 6” ได้แก่ ตาหูจมูก ลิ้นกายใจ ถ้าขาดสติหรือความระลึก ระมัดระวัง และขาดญานหรือความ หยั่งรู้อย่างเพียงพอ สิ่งเร้าหรือสิ่ง กระตุ้นเหล่านั้นก็จะเข้ามาผูกจิต และ ดึงจิตให้พัวพันพุ่งพล่านไปต่างๆนาๆ ดังนั้นให้ใช้สติดูภายนอกที่เป็นตัวรูป หรืออารมณ์ที่เข้ามาทางตา ฯลฯ และใช้ญาณภายในที่เป็นตัวนาม หรือดูจิตที่น้อมออกไปรับอารมณ์ นั้นๆ อารมณ์ที่เข้ามาผูกพันกับจิต เรียกว่า “สัญโญชน์” หรือเครื่องผูก จิต ทำให้เกิดนิวรณ์ขึ้นในจิต ให้ทำ จิตไม่ไปผูกอยู่กับอารมณ์ปล่อย อารมณ์ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่ติด ไม่ข้องเหมือนน้ำที่หยดลงบนใบบัว ให้กำหนดดูสัญโญชน์ที่จิตให้รู้ เท่าทันตามความเป็นจริง

4.4 พิจารณาโพชฌงค์ 7 หรือองค์ของ ความรู้ เมื่อมีสติกำหนดดูอยู่และ ทำความรู้อยู่ สติก็จะตั้งมั่นแน่วแน่ ยิ่งขึ้นจนดูทัน พอรูปนามมากระทบ ก็รู้ว่าเห็นรูปนาม รูปนามนี้จะมายั่ว ให้เกิดความชอบหรือชัง ก็รู้ทันว่า นั่นเป็นเครื่องยั่วเท่านั้น เนื้อแท้ของ รูปนามนั้น ก็ “สักแต่ว่า” รูปนาม ตัวเรามีเชื้อความชอบหรือ

ชังอยู่ในใจออกไปรับรูปนาม เหมือนไม้ขีดกับ ข้างไม้ขีดรับกันก็เกิดไฟขึ้น เป็นไฟ แห่งโลภโกรธหลง การมีสติที่ตั้งมั่น มีองค์ของความรู้ที่รู้เท่าทันเรียกว่า “สติโพชฌงค์” นำมาซึ่งองค์ของ ความรู้ที่จะเลือกเฟ้นธรรมะที่ดีที่เลว ที่หยาบที่ประณีตได้อย่างถูกต้อง เรียกว่า “ธรรมวิจยโพชฌงค์” โดยมี องค์ความรู้แห่งความเพียรเป็นที่ตั้ง เรียกว่า “วิริยโพชฌงค์” เมื่อปฏิบัติได้ ถูกต้อง จะเกิดความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ จากภายในไม่มีอามิสจากภายนอก เป็นเครื่องล่อเรียกว่า “ปีติโพชฌงค์” กายก็สงบ จิตก็สงบ เรียกว่า “ปัส-สัทธิโพชฌงค์” เมื่อมีความสงบสุข จากภายใน จิตก็จะตั้งมั่นเรียกว่า “สมาธิโพชฌงค์” และก็เพ่งดูสมาธิ จิตนั้นให้แน่วแน่เป็นกลาง ไม่หวั่นไหว เอนเอียงไปข้างหนึ่งข้างใด เรียกว่า “อุเบกขา โพชฌงค์”

4.5 พิจารณา อริยสัจ 4 ได้แก่ “รู้ในทุกข์” คือ รู้ในตัวมโนภาพในจิต เป็นสักแต่ ว่า มโนภาพที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปให้ เห็นทุกข์แต่มิใช่รู้สึกถึงความเดือดร้อน ทางกายใจ แต่เห็นว่าสิ่งทั้งหลายสัก แต่ว่าเป็นมโนภาพ แม้รูปข้างนอก ก็สักแต่ว่าประกอบขึ้นด้วยธาตุ เป็นสิ่งที่เกิดดับว่างเปล่าจากความ เป็นตัวตน ถ้าจิตเป็นตัวรู้ไม่ไประคน อยู่กับสิ่งที่รู้นั้น จิตที่รู้นั้นก็จะสงบ เป็นปกติจะไม่เป็นทุกข์, “รู้ในเหตุให้ เกิดทุกข์” คือ กำหนดดูตัวตัณหาและ อุปาทาน ไม่หลงชอบหรือไม่ชอบหลง ติดอยู่ในมโนภาพ, “รู้ในความดับ ทุกข์” คือ ดูจิตที่สงบเป็นปกติ ทุกข์ก็เกิดดับไปเองเป็นคราวๆไป และ “รู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับ ทุกข์” คือ มรรค 8 นั้นเอง





“กฎธรรมชาติ หรือ ธรรมนิยาม” คือ กฎแห่งเหตุ ปัจจัยที่ดำเนินไปเองตามปกติธรรมดา เป็นสัจจธรรม ไม่ขึ้นกับกาลเวลาสถานที่บุคคล มนุษย์อาจเรียนรู้ เพื่อทำความเข้าใจรู้เท่าทันเพื่อการปรับตัวปรับใจตั้งรับ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ แต่ไม่อาจ แทรกแซงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างถาวรตามความ ต้องการของตัวเองได้ กฎธรรมชาติมี 5 กฎ ได้แก่ “อุตุนิยาม” คือ กฎทางวิทยาศาสตร์กายภาพสาขา ฟิสิกส์และเคมี, “พืชนิยาม” คือ กฎทางวิทยาศาสตร์ กายภาพสาขาชีววิทยาและพันธุกรรม, “จิตตนิยาม” คือ กฎตามเหตุปัจจัยแห่งการทำงานของจิตใจ โดย เมื่อมีสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้นภายนอกด้วยตาเห็นภาพ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายรู้สัมผัส และสิ่ง กระทบภายในจิตใจเอง รู้ด้วยใจหรือธรรมมารมณ์ จิตจะเกิดการรับรู้ (วิญญาณ) แล้วแปลผลข้อมูลจาก ความทรงจำที่จำได้หมายรู้ (สัญญา) เกิดความรู้สึก ที่ชอบไม่ชอบ พอใจไม่พอใจ (เวทนา) ก่อให้เกิดความ คิดปรุงแต่งเลือกข้างลำเอียง (สังขาร) แล้วแสดง พฤติกรรมทางกายวาจาออกไป ในปัจจุบันเริ่มมีความ เข้าใจบ้างบางส่วนถึงวิทยาศาสตร์ทางจิตใจเกี่ยว กับจิตวิทยา จิตเวชศาสตร์ของการทำงานส่วนสมอง ส่วนต่างๆ ตลอดจนสารสื่อนำประสาทที่เกี่ยวข้อง เพื่ออธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างการรับรู้ ความ รู้สึกนึกคิด และความทรงจำ จนปรากฎออกมาเป็น พฤติกรรม, “กรรมนิยาม” หรือ กฎแห่งกรรม คือ กฎตามเหตุปัจจัยเกี่ยวกับการกระทำโดยเจตนา ของมนุษย์ ที่เมื่อก่อเหตุใดย่อมเกิดผลตามนั้นเป็นกรรม-วิบาก แม้ในบางกรณีอาจถูกแทรกแซงด้วย เหตุปัจจัยอื่น จนเห็นความเชื่อมโยงของเหตุและผลได้ ยากไม่ชัดเจนหรือส่งผลในเวลาที่เนิ่นนานหรือผลถูก เบี่ยงเบนไป และกฎแห่งกรรมมักถูกกฎมนุษย์แทรก แซงให้เบี่ยงเบนในผล ตามที่มนุษย์และสังคมพึง ประสงค์เป็นกระแสหลัก และ “ธรรมนิยาม” คือ กฎ ธรรมชาติกฎหลักที่สำคัญที่สุดนั้นคือ “กฎไตรลักษณ์” หรือลักษณะสามัญธรรมดา ของทุกสิ่ง 3 ประการ ได้แก่ “อนิจจัง” หรือความไม่เที่ยง เริ่มตั้งแต่ภายใน ตัวมนุษย์ทั้งร่างกายและจิตใจ ที่เรียกว่า ขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จนถึงภายนอก ตัวมนุษย์และทุกสรรพสิ่ง ย่อมมีการแปรเปลี่ยนสภาพ ไปเรื่อยๆไม่คงตัวถาวร เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะตั้งอยู่ชั่ว ขณะแล้วสูญสลายไปในที่สุด ใครไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า สิ่งเหนือธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือแม้แต่มนุษย์เอง ก็บันดาลแทรกแซงเป็นอย่างอื่นไม่ได้, “ทุกขัง” หรือ ทุกข์ คือ สภาวะที่ขัดแย้งกดดันฝืน คงทนอยู่อย่างเที่ยงแท้ ถาวรไม่แปรปรวนนั้นไม่ได้ ทุกข์จึงมีอยู่เป็นธรรมดา ในธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง ถ้าชีวิตมนุษย์สัมผัสกับ โลกธรรมชาติโดยขาดความรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้องหรือหลงผิดคิดอยาก หรือไม่อยากตามใจตัวเอง คิดปรุงแต่งจนเกิดความยึดมั่นถือมั่น ทุกข์ที่อยู่ตาม ปกติธรรมดาในธรรมชาติก็จะกลายเป็น “ความรู้สึก ทุกข์” ภายในจิตใจของมนุษย์เอง และ “อนัตตา” หรือ ความไม่มีตัวตน จิตใจมนุษย์มีแนวโน้มที่จะเชื่อยึดถือ เกาะเกี่ยวกับสิ่งที่รับรู้ รู้สึกนึกคิดจดจำสัมผัสจับต้อง ได้เป็นรูปธรรม และหวังว่าสิ่งนั้นจะต้องคงทนถาวร ตลอดไปแต่หารู้ไม่ว่าสรรพสิ่งเมื่อเกิดขึ้น แล้วตั้ง อยู่ย่อมจะดับไปในที่สุดไม่คงทนถาวรตลอดไป อย่าง มากก็คงทนอยู่ได้ในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะ ฉะนั้นความหลงใหลในตัวตนหรืออัตตาจึงเป็นต้น เหตุสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดความรู้สึกทุกข์ในมนุษย์

ส่วน “กฎมนุษย์” คือ กฎเกณฑ์ กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับทางสังคม ตลอดจนขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมที่สมมุติบัญญัติโดยมนุษย์กันเอง จากความเชื่อศรัทธาระดับสติปัญญา ระดับศีลธรรม และคุณภาพทางจิตใจ หากกฎมนุษย์ขัดแย้งไม่ สอดคล้องต้องกันกับกฎธรรมชาติ มนุษย์ก็จะประสบ กับความทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส

******************************


ความรู้สึกเป็นความทุกข์ ส่วนมากเกิดมาจากการทำเล่นๆ อย่างสะเพร่าๆ ให้กับภาวะที่ไม่เป็นทุกข์ ด้วยความขาดสติของท่านเอง; ดังนี้เลิกการกระทำอย่างนั้นกันเสียเถิด ฯ

จาก...ความลับสุดยอด   ของ...พุทธทาส อินฺทปัญโญ


ที่มา
http://www.vichaiyut.co.th/html/jul/37-2550/p77-83_37.asp

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1

เฉลยเก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาล(สุขภาพจิตและจิตเวช)