พยาบาลที่โลกลืมรพ.วิกฤติปิดวอร์ด




เจ็บป่วยไม่สบาย สิ่งแรกที่เรานึกถึงและร้องเรียกหาหมอ...แทบจะไม่มีใครคิดถึง...พยาบาล...กันเลย



ทั้งที่พยาบาลมีความสำคัญต่อผู้ป่วยไม่น้อยไปกว่าแพทย์...ที่สำคัญเป็นบุคลากรดูแลคนป่วยใกล้ชิดยิ่งกว่าแพทย์


เพราะไม่มีใครให้ความสำคัญกับพยาบาล เลยทำให้แทบไม่มีใครรู้เลยว่า วันนี้ประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนพยาบาลที่จะมาทำหน้าที่ช่วยเหลือแพทย์ดูแลผู้ป่วย


ขาดแคลนถึงขั้นโรงพยาบาลของรัฐหลายแห่งไม่สามารถให้ บริการรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่


"การสำรวจเมื่อปี 2551 เราพบว่า กว่าร้อยละ 70 ของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีจำนวนเตียง 100 เตียงขึ้นไป ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีประมาณ 200 แห่งทั่วประเทศ ประสบปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ถึงระดับที่ต้องปิด Ward หรือหอพยาบาลผู้ป่วยในบางแผนก เพราะไม่สามารถให้บริการได้ตามเป้าหมาย





ยกตัวอย่าง รพ.ราชวิถี หมอโรคหัวใจจะผ่าตัดให้ผู้ป่วย หมอมีพร้อมแต่ผ่าตัดให้ไม่ได้ เนื่องจากขาดพยาบาลที่จะมาดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด"



ดร.กฤษดา แสวงดี นักวิชาการพยาบาลชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการวิจัย "สุขภาพและชีวิตการทำงานของพยาบาลวิชาชีพในประเทศไทย" โครงการวิจัยระยะยาว 20 ปี (2552-2557) ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้ให้เห็นปัญหาขาดแคลนพยาบาลของประเทศไทย

บ้านเราขาดแคลนพยาบาลขนาดไหน...สัดส่วนของประชากรต่อพยาบาล ในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ พยาบาล 1 คน ต่อ ประชากร 200 คน

ประเทศใกล้บ้านเรา สิงคโปร์ พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 250 คน

มาเลเซีย พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 300 คน

***บ้านเรา พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 700 คน...เท่ากับอินโดนีเซีย***




"เมื่อก่อนบ้านเรามาตรฐานแย่กว่านี้ ในช่วงปี 2520 อัตราสัดส่วนพยาบาลต่อประชากรอยู่ที่ พยาบาล 1 คน ต่อประชากร 2,000 คน แต่หลังจากรัฐบาลมีนโยบายผลิตพยาบาลเพิ่มมากขึ้น เป็นปีละ 6,000 คน ทำให้จำนวนพยาบาลเพิ่มมากขึ้นมาเรื่อยๆ


แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 รัฐบาลมีนโยบายคุมกำเนิดข้าราชการ ลดการบรรจุข้าราชการ การผลิตพยาบาลเลยถูกลดจำนวนลงเหลือ 4,500 คน ตอนนั้นปัญหาก็ยังไม่รุนแรงเท่าไร"


ดร.กฤษดา ให้ข้อมูลว่า ปัญหาการขาดแคลน เริ่มมาปะทุรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงรัฐบาลเริ่มใช้นโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค...จำนวนผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐเพิ่มมากขึ้น


จากเดิมในปี 2546 มีผู้ป่วยนอกเข้ามาใช้บริการ 111.95 ล้านครั้ง...ปี 2551 เพิ่มเป็น 128.73 ล้านครั้ง
ผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจาก 4.3 ล้านรายในปี 2546...เพิ่มเป็น 4.95 ล้านรายในปี 2551

ไม่เพียงแต่โรงพยาบาลรัฐเท่านั้นที่จำนวนผู้มาใช้บริการเพิ่มขึ้น โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่แพ้กัน...จากปี 2545 มีผู้ป่วยแค่ 15 ล้านราย เพิ่มเป็น 49.7 ล้านรายในปี 2549

เมื่อปริมาณการใช้บริการสุขภาพเพิ่มขึ้นมากอย่างนี้ ได้ก่อให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างภาระงานที่เพิ่มอย่างมากและรวดเร็ว ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ความต้องการพยาบาลก็มีมากขึ้น พยาบาลเริ่มขาดแคลน


โรงพยาบาลเอกชนเริ่มแย่งชิงตัวพยาบาลไปจากภาครัฐมากขึ้น...แต่ปัญหาแค่นี้ยังน้อยไป หลังจากยุค 30 บาท รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการส่งออกบริการสุขภาพ ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคเอเชีย ทำให้จำนวนผู้ป่วยจากต่างประเทศแห่แหนเข้ามารักษาตัวตามโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยมากขึ้น



"จากเดิมปี 2543 มีต่างชาติมารักษาตัวในบ้านเรา 102,000 ราย เพิ่มเป็น 133,570 รายในปี 2549 และยังมีต่างชาติที่มาใช้บริการแบบผู้ป่วยภายนอกเพิ่มขึ้นจาก 1.8 ล้านครั้ง เป็น 2.6 ล้านครั้งด้วยเช่นกัน"



การให้บริการกับต่างชาติที่คิดค่าบริการราคาแพง ต้องใช้พยาบาลดูแลมากขึ้น เพื่อจะได้ใกล้ชิดคนไข้มากขึ้น...ยิ่งกระตุ้นให้ปัญหาความ ขาดแคลนมากขึ้นเข้าไปอีก



อีกปัจจัยหนึ่งที่น่ากังวลในภาวะที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลนพยาบาล...สังคมอนาคตอันใกล้ ประเทศไทย สังคมไทยต้องการพยาบาลมากกว่าวันนี้

"อย่างที่รู้กัน ขณะนี้สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว จากเดิมเมื่อปี 2533 เรามีประชากรสูงอายุประมาณ 5 ล้านคน ปี 2550 เพิ่มมาเป็น 7.3 ล้านคน ปี 2573 คาดว่าจะเพิ่มจำนวนขึ้นถึง 17.7 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด



แม้วันนี้การพัฒนาสาธารณสุขของประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าอย่างมาก ผู้สูงอายุทุกวันนี้มีสุขภาพดีกว่าคนสมัยก่อนมาก แต่เมื่อประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ เป็นที่ทราบกันดีผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีปัญหาเรื่องการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง โรคประจำตัวกันมาก ยิ่งมีความต้องการพยาบาลเข้ามาช่วยดูแลมากขึ้น มากกว่าคนวัยอื่นๆ"



วันนี้ วันหน้า สังคมไทย ประเทศไทย ต้องการพยาบาลมากขึ้น... แต่ความต้องการเป็นพยาบาลกลับสวนทาง มีคนอยากเป็นพยาบาลน้อยลงไปทุกวัน



คล้ายหลายอาชีพที่คนไทยยุคนี้ไม่อยากทำกัน...หาคนทำไม่ได้ ในที่สุดต้องพึ่งคนชาติอื่นมาทำแทน



"สังคมไทยเปลี่ยนไปมาก ความต้องการเป็นพยาบาลของเด็กรุ่นใหม่มีน้อยลงมาก ผิดกับในยุคปี 2510 ที่บูมมาก คนที่มาสมัครสอบเข้าเรียนพยาบาลส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีระดับเก่งกันทั้งนั้น แต่พอยุคสมัยนี้ มีอาชีพใหม่ๆ รายได้ดีกว่าให้ผู้หญิงได้เลือกทำมากขึ้น ความต้องการเป็นพยาบาลก็เลยเปลี่ยนไป



เด็กที่มาสมัครเรียนพยาบาลจะมีคุณสมบัติเรียนไม่เก่งเท่าในอดีต นี่เป็นอีกปัญหาของการผลิตพยาบาลยุคนี้ วิชาพยาบาลนั้นต้องการคนที่เรียนดีพอสมควร แม้ไม่จำเป็นต้องเก่งเท่าคนเรียนหมอก็ตาม แต่วิชาที่พยาบาลต้องเรียนและนำไปใช้ในการทำงาน เป็นวิชาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ต้องใช้คนเก่งเช่นกัน"



ไม่เพียงแต่เด็กรุ่นใหม่เท่านั้นไม่อยากเป็นพยาบาล ตัวพยาบาลที่ทำงานเป็นพยาบาลในทุกวันนี้ ก็ประสบปัญหาไม่อยากเป็นพยาบาลเช่นกัน



จากการสำรวจบุคลากรทางการพยาบาลพบว่า มีเป็นจำนวนมากที่ต้องลาออกหลังจากแต่งงานและมีภาระครอบครัว...เนื่องจากมีปัญหาสุขภาพ และทนสภาพการทำงานหนักไม่ไหว

"คนไม่รู้ว่าแต่ละเดือนพยาบาลต้องทำงานหนักแค่ไหน ราชการทั่วไปทำงานเข้าเวรกันเดือนละ 22 วันหรือ 22 เวร แต่พยาบาลทำกันเดือนละ 32 เวร


หลายคนอาจคิดว่าเข้าเวรเยอะได้เงินมาก นั่นก็จริง แต่การเข้าเวรโดยเฉพาะการเข้าเวรดึก นอนผิดเวลา นานติดต่อกันนาน 15 ปี มีโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้น"

นอกจากนั้น อาชีพพยาบาลยังต้องเสี่ยงกับโรคที่เกิดขึ้นระหว่างปฏิบัติหน้าที่อีกต่างหาก จากการสำรวจพบว่า ในปี 2551 ในจำนวนพยาบาลที่เจ็บป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่ ร้อยละ 34.7 ถูกเข็มฉีดยาหรือของมีคมบาด ร้อยละ 32.6 เจ็บป่วยติดเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วย ร้อยละ 14.9 ถูกผู้ป่วยทำร้าย ร้อยละ 10 สิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยกระเด็นถูกร่างกาย ล้วนแต่เป็นความเสี่ยงของพยาบาลที่จะติดเชื้อจากผู้ป่วยทั้งสิ้น


ด้วยเหตุนี้โครงการวิจัยปัญหาสุขภาพและชีวิตการทำงานพยาบาลระยะยาวจึงเกิดขึ้น ที่พยาบาลทั้งหลายสามารถตอบแบบสอบถามได้ที่ tuangtipt@hotmail.com หรือ ksawaengdee@gmail.com เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับปรุงอาชีพพยาบาลให้ดีขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนอยากเป็นพยาบาลมากขึ้น


เพื่อคนไทยจะได้ดูแลคนไทยกันไปอีกนานแสนนาน...เพราะเราไม่อยากได้แรงงานพม่า หรือกัมพูชามาทำแทน.


ที่มาของข้อมูล http://www.thairath.co.th/today/view/54613

ความคิดเห็น

Phana Acheeva Anamai Co.,LTD กล่าวว่า
อย่าเป็นกันเลยค่ะพยาบาล หากเลือกได้อยากกลับไปเลือกคณะใหม่
่jack กล่าวว่า
พยาบาลงานหนักมาก
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
อาชีพนี้ ครายบ้างที่เหนใจ..ทุกคนต่างมองว่าเราเปนผู้รับให้ โดยไม่เคยมองย้อนเลยว่า เราจะให้ได้อีกนานมั้ย หากท่านไม่เคยคิดจะให้อะไรแก่ พยบ.เราบ้าง
ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า
ภาระงานเยอะ ไหนจะต้องสู้รบปรบมือกับวิชาชีพอื่นๆอีก ถ้าเลือกได้ จะไปขยันเรียนมาเป็นแพทย์ จะได้มาซับพอร์ต พยาบาล
Thanika กล่าวว่า
สู้ๆนะคะ

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1

เฉลยเก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาล(สุขภาพจิตและจิตเวช)