โควิด-19 ในเด็ก

โควิด-19 ในเด็ก

คงหนีไม่พ้นโคโรนา จากในบทความก่อนเรื่องโควิด-19 ในผู้หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งพบว่าไม่ได้มีความเสี่ยงติดเชื้อในปอดรุนแรงกว่าคนทั่วไป แต่อาจจะทำให้คลอดออกมาก่อนกำหนด วันนี้มาที่เด็กน้อยกันบ้าง

จากข่าวที่ออกมาช่วงแรกว่ามีเด็กแรกเกิดติดจากแม่บ้าง จากพี่เลี้ยงบ้าง แล้วสรุปเด็กติดง่ายกว่าผู้ใหญ่ไหม แล้วถ้าติดจะป่วยหนักหรือจะตายเยอะกว่าผู้ใหญ่ไหม ก็จึงมาถึงการวิจัยเชิงระบาดวิทยา และเป็นการดูข้อมูลย้อนหลัง (retrospective) ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Pediatric หรือนิตยสารเด็ก

เรื่อง Epidemiological Characteristics of 2143 Pediatric Patients With 2019 Coronavirus Disease in China ซึ่งก็คือการศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก 2,143 คนที่ติดหรือสงสัยโควิด-19 ในประเทศจีน และก็เป็นการวิจัยแรกที่ดูการติดเชื้อโควิด-19 เฉพาะในเด็กอีกด้วย

ในการศึกษานี้ได้รวมเคสมาจากทั่วประเทศจีนที่ได้รับรายงานมาสู่กรมควบคุมโรคระหว่าง 16 มกราคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2563 ใน 2,143 เคสไม่ใช่ทุกเคสที่ได้รับการตรวจโดยป้ายหลังคอ หรือหลังจมูกเพื่อส่งไปตรวจด้วยวิธีทางพันธุกรรม บางเคสประวัติใกล้ชิดคนเป็นโควิด-19 มีอาการเหมือน เช่น ไข้ ไอ อ่อนเพลีย และ/หรือถ่ายเหลว ตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาว (lymphocyte) ปกติหรือต่ำ และ/หรือเอกซเรย์ปอดผิดปกติ

 
ก็จะลงไว้ว่าเป็นเคสสงสัยโควิด-19 ใน 2,143 เคส ทีมวิจัยพบว่าเป็นเคสคอนเฟิร์มโดยวิธีทางพันธุกรรม 731 คน (34.1%) และเคสสงสัยมาก 1,412 เคส (65.9%) มีอายุตั้งแต่ 1 วันถึง 18 ปี และอายุเฉลี่ย 7 ปี ทางด้านเพศเค้าพบว่ามีเด็กผู้ชายมากกว่าคือ 56.6% และผู้หญิง 43.3%

...มีความแตกต่าง แต่ไม่ได้มีความแตกต่างทางนัยสำคัญทางสถิติ

นิยามความรุนแรงของการติดเชื้อแบ่งเป็น 1.ไม่มีอาการแต่ผลตรวจทางพันธุกรรมพบไวรัสโควิด-19 พบ 94 คน และคิดเป็น 4.4% 2.มีอาการเล็กน้อย เช่น ไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูก อาจจะมีไข้หรือไม่มีก็ได้ หรืออาจจะมีแค่ปวดท้อง ถ่ายเหลวก็ได้ พบ 1,091 คน และคิดเป็น 50.9% 3.ขั้นรุนแรงปานกลาง มีหลักฐานการติดเชื้อในเอกซเรย์หรือซีทีสแกนปอด มีไข้ ไอแห้ง จากนั้นอาจมีเสมหะ และมีหอบหืดเล็กน้อย พบ 831 คน และคิดเป็น 38.8%

4.ขั้นรุนแรงมาก มีหลักฐานการติดเชื้อในเอกซเรย์หรือซีทีสแกนปอด มีไข้ ไอ อาจจะมีถ่ายเหลว จากนั้นตามด้วยหายใจลำบากและมีค่าความเข้มข้นจากการตรวจปลายนิ้วต่ำกว่า 92% พบ 112 คน และคิดเป็น 5.2% 5.ขั้นวิกฤติ คือติดเชื้อปอดและปอดล้มเหลวอย่างรวดเร็ว อาจจะมีอาการช็อก และนำไปสู่อวัยวะอื่นๆล้มเหลวตามไปด้วย พบ 13 คน และคิดเป็น 0.6% มีเด็กอายุ 14 ปีเสียชีวิต 1 คน

 
จะให้ความสนใจในกลุ่มที่ติดเชื้อขั้นรุนแรงถึงขั้นวิกฤติมาก ซึ่งเป็น 5.9% จากเด็กทั้งหมด เด็กที่ติดเชื้อรุนแรงมีอยู่อายุเท่าไหร่กันบ้าง จึงพบว่าเด็กแรกเกิดจนถึงเด็กเล็กมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงมากกว่าเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี พอแจงตัวเลขออกมาพบว่า เด็กอายุต่ำกว่าหนึ่งปีติดเชื้อขั้นรุนแรงถึงขั้นวิกฤติมาก 10.6% เด็กอายุ 1-5 ปี 7.3% เด็กอายุ 6-10 ปี 4.2% เด็กอายุ 11-15 ปี 4.1% และเด็กอายุมากกว่า 16 ปีเพียง 3.0% เท่านั้น

ตัวเลขนี้สำคัญเพราะแสดงให้เห็นว่าเด็กติดได้ และยิ่งเด็กก็จะยิ่งเกิดปอดอักเสบรุนแรงได้ แต่ถึงยังไงตัวเลขก็ยังต่ำกว่าผู้ใหญ่มาก (5.9 vs 18.5) ในผู้ใหญ่ และก็หมายความว่าเมื่อเด็กติด เด็กจะเกิดปอดอักเสบรุนแรงได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ แบบนั้นก็ดีสิ เด็กติดก็ไม่เป็นอะไรมาก ยังเดินเหินและไปไหนมาไหนได้ คุณยาย คุณย่าเหงาก็ไปอยู่เป็นเพื่อนได้ ก็เลยเป็นเรื่องเลย เพราะการที่อาการน้อย ก็ทำให้เด็กสามารถวิ่งเล่นได้ตามปกติ และก็ไปติดผู้ใหญ่และคนอายุมากที่มีความเสี่ยงเกิดปอดอักเสบรุนแรงน่ะสิ

ฉะนั้น จึงจะต้องให้ความสนใจและมีมาตรการในการกักกันเด็กด้วยไม่ให้ไปแพร่สู้คนอื่นที่อยู่ในบ้านด้วยกัน เช่น ห่างกันมากกว่า 2 เมตร มีการล้างมือสม่ำเสมอ กินข้าวแยกกัน และงดใช้สิ่งของร่วมกัน

ทำไมหนอเด็กจึงอาการไม่รุนแรงเท่าผู้ใหญ่ นอกจากร่างกายที่สมบูรณ์ ปอดที่ไม่ได้ผ่านการใช้งานในฝุ่นควัน และอวัยวะอื่นๆที่ยังใหม่เอี่ยม ที่ทำให้ทนทานต่อการโจมตีกว่าผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวหลายต่อหลายโรคแล้ว นักวิจัยคาดว่า ตัวรับสัญญาณ (ACE2) ที่ไวรัสโควิด-19 เป็นจุดยึดและเข้าติดเชื้อในมนุษย์ของเด็กนั้นยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่และมีจำนวนน้อยกว่า ไวรัสจึงไม่สามารถเข้าไปขยายตัวได้เร็ว และทำให้ร่างกายมีเวลามากพอในการสร้างภูมิคุ้มกันในการกำจัดไวรัส

 
เรื่องที่ขัดกับทฤษฎีนี้คือการพบว่าในเด็กที่ติดเชื้อ เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีกลับมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงกว่าเด็กโต แต่คาดว่าอาจเป็นเพราะในเด็กเล็กภูมิคุ้มกันก็ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่จึงไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้รวดเร็วเท่าเด็กโตที่เคยติดเชื้อไวรัสอื่นๆมาหลายต่อหลายครั้งแล้วก็เป็นได้

สรุปว่าเด็กไม่ได้ติดง่ายกว่าผู้ใหญ่ ป่วยไม่หนักเท่า ตายก็น่าจะน้อยกว่า แต่ปัญหาจะอยู่ที่การดูแลเด็กที่บ้านขณะกักกัน จะดูแลยังไงไม่ให้คนอื่นในครอบครัวติดไปด้วย อันนี้คงขอให้หมอเด็กช่วยคิดนะครับ ด้วยความเป็นห่วงครับ.

หมอดื้อ

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1818091

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ความหมาย และความสำคัญของมนุษย์สัมพันธ์

เก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาลพร้อมเฉลยฉบับที่1

เฉลยเก็งแนวข้อสอบสภาการพยาบาล(สุขภาพจิตและจิตเวช)